ข่าวดีสำหรับชาวสวนยาง! ราคายางพาราดีดตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพุ่งทะลุ 90 บาทต่อกิโลกรัม สูงสุดในรอบ 7 ปี 1 เดือน ถือเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา
ราคายางพาราพุ่งทะลุ 90 บาท พุงแรงสูงสุดในรอบ 7 ปี จนเกษตรกรต้องร้องเฮ!
นางสาวอัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ราคายางที่ซื้อขายผ่านสำนักงานตลาดกลางยางพารา ของ กยท. พุ่งทะลุ 90 บาทไปแล้ว โดยราคาซื้อขายยางแผ่นรมควัน อยู่ที่ 90.09 บาท/กก. นับเป็นราคาสูงที่สุด ในรอบ 85 เดือน (7 ปี 1 เดือน) ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำชับสั่งการให้นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย มุ่งดำเนินงานสนับสนุนสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา นอกเหนือจากการผลิตยางธรรมชาติ รัฐบาลยังมีนโยบายผลักดันให้เกษตรกรขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ยกระดับคุณภาพชีวิต และรับผิดชอบต่อสังคม
เป้าหมายของรัฐบาลคือบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 นโยบายนี้ จะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ผลงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ของเกษตรกรอย่างยั่งยืน
ยางพารา ไม้เศรษฐกิจที่ช่วยลดโลกร้อน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
ยางพารา ไม้ยืนต้นที่ไม่ใช่แค่พืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน สำหรับแนวทางใหม่ ที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรคือการ ขายคาร์บอนเครดิต จากสวนยาง โดยหากคำนวณจากพื้นที่สวนยางในประเทศที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยทั้งหมดกว่า 20 ล้านไร่ สวนยางเหล่านี้สามารถช่วยกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 80 ล้านตัน สูตรการคำนวณแอลโลแมตรี ตามที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กำหนด คิดเป็นรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต รวมเป็นมูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท (ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตเฉลี่ย 300 บาท/ตัน)
โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ราคายางที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 7 ปี ถือเป็นการขับเคลื่อนแนวทางตามนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งถือเป็นผลงานในรอบ 6 เดือน ให้เกิดเป็นรูปธรรม ภายใต้นโยบาย “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” นโยบายนี้ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและประชาชนร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อน อันจะนำประเทศมุ่งสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ” นี่คือตัวอย่าง ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เกษตรกรสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ยางพารา จึงไม่ใช่แค่พืชเศรษฐกิจ แต่เป็น “ฮีโร่” ที่ช่วยลดโลกร้อน