ธุรกิจการตลาด

ปตท. ศึกษาตั้งโรงงานกรีนเมทานอลแห่งแรกของไทย กำลังผลิต 100,000 ตัน/ปี

28 มี.ค. 67
ปตท. ศึกษาตั้งโรงงานกรีนเมทานอลแห่งแรกของไทย กำลังผลิต 100,000 ตัน/ปี

บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท. ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานผลิตเมทานอลแห่งแรกของประเทศไทยในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเปลี่ยนคาร์บอนจากโรงงานเป็นเมทานอลสะอาด เสริมศักยภาพการแข่งขันของบริษัทไทยในยุคที่มีการเก็บภาษีคาร์บอน รวมถึงสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของปตท. (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 

ขณะนี้ ปตท. ได้ศึกษาเพื่อประเมินความเป็นไปได้ทางเทคนิคแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้ โดยที่ผ่านมาปตท. ได้ร่วมมือกับ ธิสเซ่นครุปป์’ (thyssenkrupp) บริษัทผลิตเหล็กและผู้นำด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลกจากเยอรมนี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิคในการจัดตั้งโรงงานเมทานอลสะอาดในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของไทย
 
ทั้งนี้ ในขั้นตอนต่อไป ปตท. จะประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของการตั้งโรงงาน จากทั้งแนวโน้มความต้องการใช้เมทานอลในไทยในอนาคต รวมถึง แนวโน้มการเก็บภาษีคาร์บอนที่จะทำให้ต้นทุนในการใช้เมทานอลไม่สะอาดสูงขึ้น และการสนับสนุนเป็น incentive จากรัฐบาล เทียบกับวิธีลดการปล่อยคาร์บอนอื่นๆ เช่น การซื้อคาร์บอนเครดิต หรือการฝังคาร์บอนไว้ใต้ดินหรือ CCS (Carbon Capture and Storage)
 
ถ้าหากศึกษาแล้วพบว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โรงงานผลิตเมทานอลสะอาดนี้จะต้องตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือใกล้โรงงาน เพื่อให้โรงงานสามารถนำคาร์บอนจากนิคมอุตสาหกรรมมาใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขนส่งไกล และเป็นไปได้ที่จะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

 

โรงงานผลิตเมทานอลแห่งแรกของไทย ลดการปล่อยมลพิษเป็น 0

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เผยว่า ถ้าหากปตท. สามารถจัดตั้งโรงงานเมทานอลนี้ได้สำเร็จ โรงงานนี้จะเป็นโรงงานเมทานอลแห่งแรกของไทย เพราะในปัจจุบัน ไทยยังต้องนำเข้าเมทานอลจากประเทศตะวันออกกลางที่มีการผลิตเมทานอลที่ได้จากขั้นตอนการกลั่นน้ำมัน

เมทานอลที่จะได้จากโรงงานนี้จะเป็นผลิตภัณฑ์สะอาด และช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของปตท. และบริษัทที่ใช้เมทานอลดังกล่าว เพราะแทนที่จะใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิต เมทานอลจากโรงงานนี้จะเกิดขึ้นจากการนำคาร์บอนจากโรงงานอุตสาหกรรมไปทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนที่แยกออกมาจากนำโดยกระบวนการอิเล็กโทรไลซิส ซึ่งเมื่อนำไปใช้ประโยชน์แล้วเกิดเป็นคาร์บอนก็จับกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

ดังนั้น การผลิตเมทานอลด้วยวิธีนี้จะได้ประโยชน์ถึง 4 ทาง คือ

  • ได้เมทานอลสะอาดที่เกิดจากการนำคาร์บอนและไฮโดรเจนฟรีจากอากาศมารีไซเคิล ซึ่งจะทำให้บริษัทที่ใช้เมทานอลนี้มีต้นทุนถูกกว่า หากมีการเก็บภาษีคาร์บอน
  • ลดการพึ่งพาการนำเข้าเมทานอลจากต่างประเทศ 
  • ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของโรงงานอุตสาหกรรมโดยรอบ เสริมศักยภาพให้บริษัทไทยในการแข่งขันกับบริษัทต่างประเทศในยุคเปลี่ยนผ่านพลังงาน
  • นำกิจกรรมนี้ไปสร้างคาร์บอนเครดิต ขายให้กับบริษัทที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตไปหักลบกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ตัวเองก่อ

ทั้งนี้ การผลิตเมทานอลด้วยวิธีนี้ยังมี ข้อเสียที่สำคัญ คือ มีต้นทุนการผลิตที่สูง เมื่อหักลบกับประโยชน์ที่จะได้แล้ว อาจจะไม่คุ้มทุน แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป เพราะการตั้งโรงงานเมทานอลสะอาด ถือเป็นวิธีการลดคาร์บอนวิธีหนึ่งที่มีศักยภาพสูง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคตของบริษัทไทยได้จริง

ส่วนด้านการสนับสนุนจากรัฐบาล ดร.บุรณิน เผยว่า ปัจจุบันยังไม่แน่ชัดว่าปตท. จะได้การสนับสนุนจากรัฐบาลหรือไม่ แต่ก็มีโอกาสเพราะไทยกำลังผลักดันให้อุตสาหกรรมในภาพรวมเข้าสู่ภาวะความเป็นกลางทางคาร์บอน และโครงการนี้ก็สามารถทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายนี้ได้ภายในปี 2024 

ปัจจุบัน ไทยมีการนำเข้าเมทานอลเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เป็นสารทำละลาย ทำสารเคลือบ ใช้ในการก่อสร้าง การผลิตพลาสติก เป็นสารผสมทำเชื้อเพลิงไบโอดีเซล และ LPG และในอนาคต สามารถนำไปใช้ผลิตเชื้อเพลิงสะอาดสำหรับอากาศยาน หรือ Sustainable Aviation Fuel ได้

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT