ธุรกิจการตลาด

เปิดตำนาน นันยาง 70 ปี ตำนานรองเท้าคู่ใจคนไทย สู่แบรนด์ที่ทำรายได้หมื่นล้าน 

4 ก.ค. 67
เปิดตำนาน นันยาง 70 ปี ตำนานรองเท้าคู่ใจคนไทย สู่แบรนด์ที่ทำรายได้หมื่นล้าน 

นันยาง แบรนด์รองเท้าคู่ใจคนไทย ที่อยู่คู่กับคนไทยมานานกว่า 7 ทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นวัยเรียน วัยทำงาน หรือวัยพักผ่อน ก็มีรองเท้านันยางเป็นเพื่อนคู่ใจเสมอ จากรองเท้าผ้าใบสุดฮิตในยุค 80-90s สู่รองเท้าแตะคู่โปรดของทุกคน รองเท้านันยางไม่เพียงแต่เป็นรองเท้าที่ทนทานและใช้งานได้หลากหลาย แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความทรงจำและวัฒนธรรมของคนไทยอีกด้วย

ในบทความนี้ SPOTLIGHT เราจะพาคุณไปสำรวจเส้นทางกว่า 70 ปีของรองเท้านันยาง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ในปี พ.ศ. 2491 จนถึงการเป็นแบรนด์รองเท้าชั้นนำของประเทศไทยในปัจจุบัน เราจะเจาะลึกถึงเรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จของนันยาง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค การปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และวิสัยทัศน์ในการก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง 

เปิดตำนาน นันยาง 70 ปี ตำนานรองเท้าคู่ใจคนไทย สู่แบรนด์ที่ทำรายได้หมื่นล้าน 

เปิดตำนาน นันยาง 70 ปี ตำนานรองเท้าคู่ใจคนไทย สู่แบรนด์หมื่นล้าน 

"นันยาง" ไม่ใช่แค่แบรนด์รองเท้า แต่คือส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยมาหลายยุคสมัย เรียกได้ว่าเป็นรองเท้าคู่ใจคนไทย กว่า 70 ปี จากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะรองเท้าผ้าใบคู่ใจวัยเรียน หรือรองเท้าแตะคู่โปรดวันสบาย ๆ นันยางก็อยู่เคียงข้างเรามาเสมอ และหาก ย้อนกลับไปยุค 80-90s รองเท้าผ้าใบนันยางคือไอเท็มสุดฮิตประจำโรงเรียน ใคร ๆ ก็ต้องมี ด้วยความอึด ทน ใส่ลุยได้ทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะสวมส้น ทับส้น หรือใส่เล่นกีฬา นันยางเอาอยู่หมด แถมยังกลายเป็นเทรนด์แฟชั่นสุดเก๋ ยิ่งเก่ายิ่งเท่ ใครไม่เคยใส่ถือว่าเอาท์! ไม่เพียงเท่านั้น รองเท้าแตะนันยาง หรือที่รู้จักกันในชื่อ "รองเท้าแตะช้างดาว" ก็ฮอตไม่แพ้กัน ด้วยเอกลักษณ์สีขาวตัดน้ำเงิน ใส่ง่าย เข้าได้กับทุกชุด แถมยังทนทานเกินราคา คุ้มค่าสุดๆ เรียกว่าเป็นรองเท้าแตะคู่ใจคนไทยและชาวต่างชาติ ที่บอกต่อกันปากต่อปาก จนเคยขาดตลาดมาแล้ว! ดังนั้นในวันนี้เรามาร่วมเดินทางเพื่อไปพบกับเรื่องราวความเป็นมาของรองเท้านันยาง แบรนด์ที่ไม่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์ แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยอย่างแท้จริง

จุดเริ่มต้นของ รองเท้า นันยาง

เปิดตำนาน นันยาง 70 ปี ตำนานรองเท้าคู่ใจคนไทย สู่แบรนด์หมื่นล้าน 

จุดเริ่มต้นของ รองเท้า "นันยาง" ให้ย้อนหกลับไป ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ราวปีพุทธศักราช 2460 มีเด็กชาววัย 15 ปี จากมณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน นาม ซู ถิง ฟาง หรือ วิชัย ซอโสตถิกุล เดินทางสู่สยามพร้อมบิดา โดยมีสัมภาระเพียงเสื่อและหมอนติดตัวมา เมื่อเดินทางถึงสยาม ท่านได้เริ่มต้นการทำงานด้วยการขายเหล็กในโรงงานของคุณอา ก่อนที่จะสั่งสมประสบการณ์จนได้เป็น หลงจู๊ ในโรงไม้จินเส็ง ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ใกล้กับวัดตะเคียน (ปัจจุบันคือวัดมหาพฤฒาราม) ณ ที่แห่งนี้ ท่านได้พบรักและสมรสกับคุณบุญสม บุญยนิตย์ หญิงสาวไทยเชื้อสายจีนจากอยุธยา ทั้งสองมีบุตรธิดารวม 9 คน ซึ่งเป็นทายาทสืบสกุล ซอโสตถิกุล รุ่นที่ 2

ต่อมาในปี 2478 คุณวิชัยตัดสินใจครั้งสำคัญในการสร้างฐานะของตนเอง โดยเช่าอาคาร 2 ชั้น บริเวณหัวโค้งเชิงสะพานพุทธฯ (ถนนตรีเพชร เขตพระนคร) และก่อตั้งบริษัท ฮั่วเซ่งจั่น จำกัด ประกอบธุรกิจค้าขายทั่วไป นับเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจตระกูล "ซอโสตถิกุล" อย่างไรก็ตาม ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและภัยสงคราม

เปิดตำนาน นันยาง 70 ปี ตำนานรองเท้าคู่ใจคนไทย สู่แบรนด์หมื่นล้าน 

เมื่อสงครามสงบลง ธุรกิจของคุณวิชัย ซอโสตถิกุล เริ่มฟื้นตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัท วัฒนสินพาณิชย์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2491 โดยย้ายสำนักงานไปยังย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ (ตรงข้ามซอยสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ในปัจจุบัน) ธุรกิจขยายไปสู่การค้าระหว่างประเทศ นำเข้าและส่งออกสินค้าหลากหลายประเภท รวมถึงการติดต่อกับคู่ค้าชาวสิงคโปร์เพื่อนำเข้ารองเท้าผ้าใบยี่ห้อหนำเอี๊ย รุ่น 500 ผ้าสีน้ำตาล พื้นยางสีน้ำตาล บรรจุในถุงกระดาษสีน้ำตาล เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ในราคาคู่ละ 12 บาท (หนำเอี๊ย แปลว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

ในช่วง 2 ปีแรก ธุรกิจรองเท้าหนำเอี๊ยยังไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่เมื่อตลาดเริ่มตอบรับ ทั้งในตลาดสำเพ็งและตลาดต่างจังหวัด ผู้บริโภคต่างพึงพอใจในคุณภาพ จนมีคำกล่าวถึงความทนทานของรองเท้าว่า "ใส่เดินทำงานข้ามภูเขา ไป-กลับ ได้สบาย ส่วนรองเท้ายี่ห้ออื่น ขาไปใส่หนึ่งคู่ พังพอดี ต้องเตรียมไปอีกคู่เพื่อใส่กลับ" เมื่อ รองเท้าหนำเอี๊ย ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย บริษัทจึงมุ่งเน้นการขายรองเท้าเพียงอย่างเดียว และได้เปลี่ยนการออกเสียงยี่ห้อให้เป็นสากลมากขึ้น จาก หนำเอี๊ย ภาษาจีนแต้จิ๋ว เป็น หนันหยาง (Nan-Yang) ภาษาจีนกลาง และเพื่อให้คนไทยจดจำได้ง่าย จึงเรียกว่า "นันยาง" ตั้งแต่นั้นมา โดยได้จดทะเบียนการค้า "นันยาง ตราช้างดาว" กับกระทรวงพาณิชย์ในปีพุทธศักราช 2492 ก่อนที่ คุณวิชัยและคุณบุญสม ซอโสตถิกุล จะร่วมสร้างตำนาน "นันยาง" ในประเทศไทย ในปีพุทธศักราช 2496

กำเนิด เอกลักษณ์เสียงเอี๊ยดอ๊าด

เปิดตำนาน นันยาง 70 ปี ตำนานรองเท้าคู่ใจคนไทย สู่แบรนด์หมื่นล้าน 

หลังจาก จดทะเบียนการค้าในชื่อ "นันยาง ตราช้างดาว" กับกระทรวงพาณิชย์  แล้ว คุณวิชัยได้เดินหน้าตั้งโรงงานบนพื้นที่กว่า 4 ไร่ บนถนนเพชรเกษม ย่านภาษีเจริญ นำเข้าบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจากสิงคโปร์มา และราว 6 ปีให้หลัง ก็เริ่มผลิตรองเท้าคู่แรก “นันยางตราช้างดาว” ในไทย ประทับตรา Made in Thailand จากนั้นในช่วง 4-5 ปีถัดมา คุณวิชัยและภรรยาได้พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่เป็น "รองเท้าแตะตราช้างดาว" รุ่น 200 ซึ่งมีให้เลือก 2 สี คือ สีน้ำตาลและสีน้ำเงิน จำหน่ายในราคาคู่ละ 15 บาท และแน่นอนว่าได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากผู้บริโภค

หลังจากเปิดตัวรองเท้าแตะได้เพียง 1 ปี "เพียรศักดิ์ ซอโสตถิกุล" ทายาทรุ่นที่ 2 ที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษ ได้เข้ามาสานต่อกิจการ และริเริ่มพัฒนารองเท้าพื้นสีเขียวขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการของนักกีฬาแบดมินตันโดยเฉพาะ รุ่นแรกของรองเท้าผ้าใบพื้นเขียวนี้คือ 205-S ซึ่งด้วยความเข้าใจในกีฬาแบดมินตันอย่างลึกซึ้งของคุณเพียรศักดิ์ ทำให้รองเท้ารุ่นนี้มีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักกีฬาได้อย่างตรงจุด แม้จะมีสีสันที่แปลกใหม่ก็ตาม และในเวลาต่อมาก็ถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของรองเท้าผ้าใบพื้นยางสีเขียว ที่มีเอกลักษณ์เสียงเอี๊ยดอ๊าดเมื่อสัมผัสกับพื้นผิวต่างๆ  โดยหลังจากนั้น ความนิยมของรองเท้าผ้าใบพื้นเขียวก็ขยายวงกว้างออกไปสู่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ นักกีฬาประเภทอื่นๆ เกษตรกร พนักงานโรงงาน รวมถึงบุคลากรในภาคการขนส่ง เรียกได้ว่าแทบทุกสาขาอาชีพต่างเคยสัมผัสและคุ้นเคยกับรองเท้าคู่ใจนี้ 

ในปี พ.ศ. 2515 นันยางเล็งเห็นโอกาสทางการตลาดในกลุ่มใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากถึง 1 ใน 4 ของประชากรไทย และมีจำนวนคงที่ในทุกๆ ปี นั่นคือกลุ่มนักเรียน นันยางจึงขยายตลาดไปสู่กลุ่มนี้ และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รองเท้านันยางยังเป็นที่นิยมในหมู่นักกีฬาตะกร้อ ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อความต้องการเพิ่มสูงขึ้น บริษัทจึงขยายกำลังการผลิตด้วยการตั้งศูนย์การผลิตแห่งใหม่ย่านบางแค และก่อตั้งบริษัท นันยางอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ตามลำดับ พร้อมย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังถนนสี่พระยา ย่านบางรัก แม้ธุรกิจจะดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่เมื่อเข้าสู่ยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยกระแสและเทรนด์ต่างๆ นันยางก็ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้เช่นกัน

ก้าวสู่ยุคปัจจุบัน

เปิดตำนาน นันยาง 70 ปี ตำนานรองเท้าคู่ใจคนไทย สู่แบรนด์หมื่นล้าน 

นันยาง แบรนด์รองเท้าคู่ใจคนไทย ก้าวสู่ทศวรรษที่ 7 ภายใต้การบริหารของจักรพล จันทวิมล ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้ไม่หยุดพัฒนาแบรนด์ให้ทันสมัยและเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยกลยุทธ์หลากหลาย ทั้งการร่วมมือกับแบรนด์อื่นๆ ศิลปิน และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง เพื่อสร้างสรรค์รองเท้ารุ่นใหม่ๆ ที่มีดีไซน์ทันสมัย เข้ากับไลฟ์สไตล์และแฟชั่นที่หลากหลายนอกจากนี้ นันยางยังนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับการขาย ด้วยเครื่องขายรองเท้าแตะช้างดาวอัตโนมัติ "Automatic Changdao Machine" ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตเร่งรีบ พร้อมทั้งสร้างสีสันบนโลกโซเชียลด้วยการนำเสนอคอนเทนต์ที่ทันกระแส สร้างความฮือฮาและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ นันยางรักษาความเป็นผู้นำในตลาดรองเท้าด้วยการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการตอกย้ำคุณภาพด้วยการใช้วัสดุยางพาราไทย 100%, ขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มนักเรียนหญิงและพระสงฆ์ด้วยผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่ม, ตอบรับกระแสนิยมของแฟนฟุตบอลด้วยรุ่น Nanyan Red, แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยรองเท้ารักษ์โลก KHYA จากวัสดุรีไซเคิลและกระเป๋าจากป้ายไวนิล, ตอบสนองความต้องการของนักศึกษาด้วยรองเท้าแตะรุ่น COVID Edition, รองรับวิถีชีวิตใหม่ด้วยรองเท้าผ้าใบไม่ต้องผูกเชือก Nanyang Have Fun และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ร่วมกับแบรนด์ห่านคู่ในรุ่น Legendary Edition รวมไปถึงการร่วมมือกับแบรนด์อื่นๆ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

ตำนาน "นันยาง" รองเท้าคู่ใจคนไทย สู่ศตวรรษใหม่ที่ไร้พรมแดน

เปิดตำนาน นันยาง 70 ปี ตำนานรองเท้าคู่ใจคนไทย สู่แบรนด์หมื่นล้าน 

จากจุดเริ่มต้นอันเรียบง่ายของเด็กชายชาวฮกเกี้ยน สู่การเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งด้วยพนักงานกว่าหมื่นชีวิต นันยางได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จที่เกิดจากความมุ่งมั่นและคุณภาพตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี การเดินทางครั้งใหม่ของตำนานนี้คือการก้าวสู่ตลาดโลกด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อสร้าง "ศตวรรษนันยาง" ที่มั่นคงและเป็น "ตำนาน" ที่คงอยู่ตลอดไป ด้วยวิสัยทัศน์อันเฉียบแหลมและความมานะพยายามของนายห้างวิชัยและคุณนายบุญสม ซอโสตถิกุล ธุรกิจโรงงานรองเท้าเล็กๆ ได้เติบโตและแตกแขนงออกไปเป็น "กลุ่มซีคอน" (Seacon Group) ที่แข็งแกร่งในปัจจุบัน ภายใต้การบริหารงานของทายาทรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 กลุ่มซีคอนได้ขยายกิจการอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย สร้างชื่อเสียงและความสำเร็จที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง 

ผลประกอบการย้อนหลังบริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด

  • ปี 2562: รายได้ 1,243 ล้านบาท กำไรสุทธิ 32.7 ล้านบาท
  • ปี 2563: รายได้ 1,297 ล้านบาท กำไรสุทธิ  30  ล้านบาท
  • ปี 2564: รายได้ 1,316 ล้านบาท กำไรสุทธิ  40 ล้านบาท
  • ปี 2565: รายได้ 1,304 ล้านบาท กำไรสุทธิ  37.1 ล้านบาท
  • ปี 2566: รายได้ 1,486 ล้านบาท กำไรสุทธิ  42 ล้านบาท

"นันยาง" ไม่ได้เป็นเพียงแค่แบรนด์รองเท้าที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 7 ทศวรรษ แต่ยังเป็นตำนานที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่น คุณภาพ และการปรับตัวที่ไม่หยุดนิ่ง จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่การเป็นแบรนด์รองเท้าชั้นนำของประเทศไทย นันยางได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า "ตำนาน" ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ ความเข้าใจผู้บริโภค และการไม่หยุดพัฒนา เรื่องราวของนันยางเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการและคนรุ่นใหม่ ที่แสดงให้เห็นว่าความสำเร็จที่ยั่งยืนนั้นมาจากการไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ปรับตัว และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวความสำเร็จของนันยาง แบรนด์รองเท้าคู่ใจคนไทย ที่ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง มาร่วมติดตามและเป็นกำลังใจให้กับแบรนด์ไทยที่น่าภาคภูมิใจนี้กันเถอะ!

ที่มา nanyang และ datawarehouse

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT