‘แฟชั่น’ คือ หนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด ความต้องการของผู้บริโภคมีเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา เทรนด์ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่การเข้ามาในตลาดนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้เล่นเบอร์ใหญ่และเบอร์เล็ก ต่างกระโดดเข้ามาเล่นเพื่อชกชิงตลาดนี้ ทำให้แบรนด์ที่อยู่รอด คือ แบรนด์ที่เข้าใจผู้บริโภคและพร้อมพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
แม็คยีนส์ หนึ่งในแบรนด์เดนิมสัญชาติไทย ที่เรารู้จักกันมานานกว่า 50 ปี แต่ไม่เคยเก่าแก่ตามกาลเวลา เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้เข้าทันกับยุคสมัยอยู่ตลอด เช่นเดียวกับการรักษา DNA ของแบรนด์ ทำให้แบรนด์สามารถทำรายได้ทะลุ 3.8 พันล้านบาทเมื่อปี 66 ที่ผ่านมา
บทความนี้ SPOTLIGHT ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณเจมส์ ริชาร์ด อมตวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MC เจาะความสำเร็จ ‘แม็คยีนส์’ กลยุทธ์ “ของเต็ม ร้านสวย ขายเก่ง” ทำอย่างไรถึงขายยีนส์ ได้ 1 ล้านตัวต่อปี
เปิด 5 กลยุทธ์ เจาะความสำเร็จของแม็คยีนส์
1.วางกลยุทธ์ที่ชัดเจน รู้ว่าลูกค้าคือใคร?
คุณเจมส์ เปิดเผยว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของ แม็คยีนส์ คือ คนไทยในตลาด mass market “เราไม่เคยบอกว่าเราเป็นแบรนด์ premium เรา คือ แบรนด์ lifestyle ที่เจาะกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม ”
เมื่อแบรนด์เลือกกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน ก็เกิดการออกผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้า โดยสินค้าของแม็คยีนส์เป็นสินค้า street fashion เช่น เสื้อยืด กางเกงยีนส์ เสื้อเชิ้ต รองเท้า เครื่องประดับ แจ็คเก็ต แต่ทุกสินค้าจะล้อไปกับยีนส์ (Denim)
2. มีสาขา 573 แห่ง ครอบคลุมทุกจังหวัดในไทย
ปัจจุบัน แม็คยีนส์ มีสาขาทั้งหมด 573 สาขา แบ่งเป็น Shop 294 สาขา, Mc Outlet 142 สาขา, Consignment 131 สาขา และ Mobile Truck 6 สาขา สาขาที่มียอดขายที่ดีที่สุดคือ เทสโก้โลตัส และ Big C
โดยกลยุทธ์ของปีนี้มีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้น 3-4 สาขาเพิ่มเติม แต่จะเน้นการรีโนตเวตสาขา เน้นสาขาสแตนด์อะโลนประมาณ 20-30 สาขา และเพิ่มไลน์สินค้าไลฟ์สไตล์เข้ามาให้มีความคล้ายคลึงกับสาขาแฟลกชิปสโตร์
3. ขยันออกคอลเลคชั่นใหม่ด้วยกลยุทธ์ collaboration
ปัจจุบันแม็คยีนส์ มีสินค้ามากกว่า 20,000 SKU ขายได้เฉลี่ย 6-8 ล้านชิ้น / ปี แต่หากเจาะลึกมาที่ Denim ซึ่งเป็นหัวใจของแม็คยีนส์ พบว่า แค่กางเกงยีนส์ขายได้มากกว่า 1 ล้านตัว / ปี
คุณเจมส์ ยังกล่าวอีกว่า หนึ่งในกลุทธ์หลักของแม็คยีนส์ คือ การออกคอลเลคชั่นใหม่ๆ เพื่อสร้างความตื่นเต้น ไม่จำเจ ให้แก่ลูกค้า ซึ่งโดยเฉลี่ยนแล้วมีการออกคอลเลคชั่นถึง 10 ครั้ง / ปี และการ Collaboration จะช่วยเพิ่มและขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น เช่น
Mc x ขายหัวเราะ : เอาใจแฟนๆหนังสือการ์ตูนยุค 90 มัดรวมตัวละครสุดฮามาอยู่บนเสื้อผ้า
Mc x Ananda : ร่วมออกแบบโดย “อนันดา เอเวอริงแฮม” แม็คยีนส์ แบรนด์แอมบาสเดอร์ ถ่ายทอดแรงบันดาลใจจากลายยันต์ไทย ผสานแฟชั่นสตรีทสไตล์ โดยลวดลายลายยันต์ไทย จะถูกถ่ายทอดลงบนเสื้อผ้าของม็คยีนส์ และเป็นลิมิเต็ด อิดิชั่น วางจำหน่ายแค่ 6 เดือนเท่านั้น
4.สร้าง Brand Loyalty Customers ซื้อซ้ำ ซื้อบ่อย ซื้อเยอะขึ้น
คุณเจมส์ ได้เล่าว่า แม้ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่นจะมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆกระโดดเข้ามาเยอะขึ้น โดยเฉพาะ segment ของ denim เช่น Merge Pomelo ยืดเปล่า หรือ Gentlewomen แต่นี่ถือเป็นเรื่องดี และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม แม็คยีนส์ กลับไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง ปัจจุบันแม็คยีนส์ มีฐานสมาชิกอยู่ประมาณ 1.8 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ชายประมาณ 60% และผู้หญิง 40% แต่ลูกค้าที่เป็น membership มีการซื้อซ้ำ ซื้อบ่อย และซื้อเยอะขึ้น
โดยสินค้าที่ขายดี คือ Mc 3109 “The Original Straight” กางเกงยีนส์ทรงขากระบอกสุดคลาสสิก เนื่องจากปัจจุบันคนนิยมใส่กางเกงยีนส์ แบบหลวมๆไม่แนบตัวเท่าแต่ก่อน
5.พัฒนาร้านด้วยกลยุทธ์ “ของเต็ม ร้านสวย ขายเก่ง”
ของเต็ม : โปรดักท์ที่ไปขายในร้าน ต้องตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละโลเคชั่น อีกทั้งต้องมี จำนวน, ไซส์ ที่เพียงพอ และที่สำคัญที่สุดสินค้าต้องมีความหลากหลาย
ร้านสวย : มีการปรับโทนร้านให้สว่างขึ้น ดึงดูดให้ลูกค้าเข้าร้านมากขึ้น
ขายเก่ง : พนักงานขายหน้าร้าน ต้องมีความสามารถในการขาย และ communication skill โดยทาง แม็คยีนส์มีการเทรนนิ่งพนักงานผ่าน Mc Academy
โดยในปีนี้ แม็คยีนส์ ตั้งเป้าสร้างการเติบโตในระดับเลขสองหลัก ปิดปีบัญชี 2568 ยอดขายแตะ 4,500-4,800 ล้านบาท และในอีก 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่าจะทำยอดขายทะลุ 7,000-8,000 ล้านบาท และมีกำไรประมาณ 1,000 ล้านบาท
เปิดผลประกอบการ บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ปี 2562
รายได้ 3,810,271,873 บาท
กำไร 130,981,494 บาท
ปี 2563
รายได้ 3,673,111,620 บาท
กำไร 476,501,337 บาท
ปี 2564
รายได้ 3,216,570,888 บาท
กำไร 305,369,453 บาท
ปี 2565
รายได้ 2,927,240,509 บาท
กำไร 420,139,624 บาท
ปี 2566
รายได้ 3,801,456,506 บาท
กำไร 685,973,172 บาท