อุตสาหกรรมยานยนต์โลกกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้า การแข่งขันที่ดุเดือด และความผันผวนทางเศรษฐกิจทล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรายใหญ่ทั่วโลก
ล่าสุด นิสสัน มอเตอร์ หนึ่งในค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ได้ประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งสำคัญ ด้วยการลดจำนวนพนักงาน ลดกำลังการผลิตและปรับลดประมาณการผลกำไร เพื่อรับมือกับยอดขายที่ตกต่ำ การตัดสินใจครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของนิสสันในการรับมือกับความท้าทายและแสวงหาเส้นทางสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
นิสสัน ประกาศลดพนักงาน 9,000 ตำแหน่ง ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่
นิสสัน มอเตอร์ ได้ประกาศปรับลดประมาณการกำไรประจำปี พร้อมแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ด้วยการลดพนักงาน 9,000 ตำแหน่ง และลดกำลังการผลิตลง 20% เพื่อรับมือกับยอดขายที่ตกต่ำในตลาดหลักทั่วโลก
ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นรายนี้ ประกาศปรับลดประมาณการกำไรจากการดำเนินงานสำหรับปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2568 เหลือเพียง 1.5 แสนล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทย ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ 5 แสนล้านเยน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้กว่าครึ่ง
สถานการณ์ของนิสสันถือว่า หนักหน่วงกว่าแบรนด์ญี่ปุ่นอื่นๆ ที่กำลังเผชิญกับภาวะยอดขายรถยนต์ใหม่ซบเซา รวมถึง การแข่งขันที่ดุเดือดจาก เทสลา และแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอย่าง BYD การปรับลดประมาณการครั้งนี้จึงถือเป็นความพ่ายแพ้สำหรับ มาโคโตะ อุชิดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่ต้องการพลิกฟื้นผลกำไรแม้ยอดขายจะลดลง
โดยบริษัทจะลดกำลังการผลิตลง 20% ทั่วโลก พร้อมกับลดพนักงาน 9,000 ตำแหน่ง และขายหุ้นคืน 10% ใน มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นลดลงจาก 34% ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ กำไรของนิสสันในไตรมาสสิ้นสุดเดือนกันยายนที่ผ่านมา อยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านเยน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 6.5 หมื่นล้านเยน และลดลงอย่างมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 2.08 แสนล้านเยน
แม้ว่านิสสันจะประกาศแผนฟื้นฟูกิจการระยะ 3 ปีมาตั้งแต่ 8 เดือนก่อน แต่ดูเหมือนว่าแผนดังกล่าวจะไม่ราบรื่นนัก โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นิสสันได้ปรับลดประมาณการกำไรจากการดำเนินงานสำหรับปีงบประมาณปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2568 เหลือ 5 แสนล้านเยน จากเดิมที่ 6 แสนล้านเยน เนื่องจากยอดขายที่ตกต่ำในจีน ญี่ปุ่น และอเมริกาเหนือ
[ซีอีโออุชิดะเผชิญวิกฤต แผนฟื้นฟูของนิสสันสะดุด!]
แผนฟื้นฟูของนิสสัน มอเตอร์ จำกัด กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ ภายหลังจากบริษัทประกาศลดกำลังการผลิตทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อแผนการของนายมาโคโตะ อุชิดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่ต้องการฟื้นฟูกิจการ
โดย นายอุชิดะ ผู้ขึ้นรับตำแหน่งในปี 2562 ท่ามกลางวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่หลังการจากไปของอดีตประธาน คาร์ลอส กอส์น มีแผนที่จะขยายไลน์อัพรถยนต์ไฟฟ้า สร้างพันธมิตรใหม่ และเพิ่มยอดขายอีก 1 ล้านคันต่อปีภายในปี 2570
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ มองว่า ไลน์อัพรถยนต์รุ่นใหม่ของนิสสันยังขาดความน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ไฮบริด ซึ่งสวนทางกับความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังเบนเข็มไปหารถยนต์ไฟฟ้าล้วน เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกหลายราย นิสสันกำลังประสบปัญหาในตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างประเทศจีน ยอดขายที่ตกต่ำบีบให้บริษัทต้องยุติการผลิตที่โรงงานในเมืองฉางโจวลงในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ นิสสันได้ปรับลดเป้าหมายการผลิตสำหรับปีงบประมาณปัจจุบันลง 50,000 คัน เหลือ 3.65 ล้านคัน แต่ด้วยยอดขายทั่วโลกที่ลดลงเกือบ 4% เหลือ 1.6 ล้านคันในช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายน การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวอาจเป็นเรื่องยากลำบาก
[ความท้าทายครั้งใหม่ของนิสสัน]
สถานการณ์ปัจจุบันของนิสสัน สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกกำลังเผชิญ ทั้งในด้านพลวัตของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การแข่งขันที่ทวีความรุนแรง และภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน การปรับลดกำลังการผลิตและจำนวนพนักงาน แม้จะเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่ถือเป็นกลยุทธ์ที่นิสสันจำเป็นต้องดำเนินการ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และเสริมสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมากมาย นิสสันจำเป็นต้องเร่งปรับตัว พัฒนานวัตกรรมและสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ท่ามกลางกระแสการแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความสำเร็จของแผนฟื้นฟูในระยะยาวขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย เช่น การตอบรับของตลาดต่อผลิตภัณฑ์ใหม่ ประสิทธิภาพของกลยุทธ์การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจและความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
รวมถึง การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้บริโภค ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่จะช่วยให้นิสสันสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ และกลับมาเป็นแบรนด์ระดับแนวหน้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้อีกครั้ง
ที่มา bloomberg