ปี 2568 เศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วยปัจจัยกดดันหลายด้าน แม้ว่าตัวเลข GDP อาจจะเติบโตใกล้เคียงกับปี 2567 แต่ก็จะชะลอลงอีกเล็กน้อย สิ่งที่น่าเป็นห่วงและคนไทยต้องรู้คือ ความเสี่ยงที่คนไทยจะตกงานมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตของไทยที่แข่งขันไม่ได้ความเสี่ยงของการปิดกิจการกำลังจะรุนแรงขึ้นในปี 2568
คำถามที่ว่า คนไทยต้องสู้กับอะไร? ในเศรษฐกิจปี 2568 คงมีคำตอบไว้ให้สำหรับทุกคนเพื่อเตรียมตัวรับมือ SPOTLIGHT สัมภาษณ์พิเศษ 2 นักเศรษฐศาสตร์ในรายการ SPOTLIGHT Live Talk ได้แก่ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
เราได้คำตอบจากทั้งสองท่านตรงกันว่า ปี 2568 เศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วยปัจจัยกดดันหลายด้าน แม้ว่าตัวเลข GDP อาจจะเติบโตใกล้เคียงกับปี 2567 แต่ก็จะชะลอลงอีกเล็กน้อย สิ่งที่น่าเป็นห่วงและคนไทยต้องรู้คือ ความเสี่ยงที่คนไทยจะตกงานมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตของไทยที่แข่งขันไม่ได้ความเสี่ยงของการปิดกิจการกำลังจะรุนแรงขึ้นในปี 2568 นี้
ภาคการผลิตของไทยที่กำลังวิกฤต ในปี 2568 อาจจะรุนแรงขึ้นอีก มุมมองของ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ บอกกับ SPOTLIGHT เพราะสถานการณ์ต่อเนื่องจากปี 2567 จากที่สินค้าจีนราคาถูกเข้ามาทำตลาดในไทยกระทบธุรกิจไทย ต้นทุนสูงกว่าแข่งขันไม่ได้ทำให้ต้องปิดกิจการไป แต่ในปี 2568 หนักกว่านั้นเพราะสินค้าจีนราคาถูกยังคงบุกตลาดในประเทศไทยต่อ แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามามากกว่านั้นคือ ความเสี่ยงของสินค้าที่กำลังจะมีต้นทุนทางภาษีสูงขึ้นอีกหากว่านโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ 2.0 เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะจีนเจอภาษีสูงถึง 60% กลุ่ม BRICKS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้) ถูกเก็บภาษี 100% ส่วนไทยที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯต่อเนื่องก็อาจะเป็นหนึ่งประเทศเรดาร์ที่สหรัฐฯจ่อขึ้นภาษีนำเข้าด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การค้าโลกเผชิญ 2 เด้งที่สะเทือนไทย คือ สินค้าจีนที่ขายไปตลาดสหรัฐฯได้ยากจากกำแพงภาษีที่สูงลิ่ว กำลังไหลเข้ามาในอาเซียนอีกระลอกและไทยคือหนึ่งในนั้น ส่วนเด้งที่สองคือ ไทยเองก็อาจโดนการขึ้นภาษีจากสหรัฐฯที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยเช่นกัน
ดร.อัทธ์ ประเมินว่า ปี 2568 สินค้าจีนจะเข้าไทยเพิ่มขึ้นจากเดิม 2-3 เท่าตัว เพราะพิษของทรัมป์ 2.0 ทำให้สินค้าจีนหาที่ไปเพราะมีหลายมาตรการกดดันอยู่ และเป็นไปได้ที่สินค้าจีนจะยิ่งเข้ามาในไทยมากขึ้น ดังนั้นประเทศไทย จะขาดดุลการค้ากับจีนสูงขึ้นอีกราว 3.7 แสนล้านบาท เรียกว่าปี 2568 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยง 3 เรื่องหลักดังนี้
1.สินค้าไทยจะแข่งอย่างไร
เป็นคำถามที่ท้าทายผู้ประกอบการธุรกิจอย่างมาก ว่าจะแข่งขันอย่างไรในวันที่สินค้าจีนต้นทุนต่ำกว่า ขายถูกกว่า และผลิตได้มากกว่าขนาดนี้ ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับแรงกดดันแล้ว คำถามนี้ ภาครัฐฯควรมีคำตอบและการเตรียมความพร้อมรับมือ ดูแลผู้ประกอบการไทยให้แข็งแร็งขึ้นได้มากกว่าที่เป็นอยู่ได้หรือไม่?
2.แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนขัดกับนโยบายทรัมป์
นอกจากปี 2568 เป็นปีที่การค้าโลกมีกำแพงภาษีแล้ว ที่ผ่านมายังมีกำแพงจากมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เช่น CBAM ในฝั่งยุโรป ที่จะเริ่มใช้ในปี 2569 จะทำให้สินค้าต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมด้วย คำถามคือ สินค้าจากประเทศไทยตอบโจทย์ตลาดโลกได้แล้วหรือยัง? ขณะเดียวกันความผันผวนจากนโยบายของทรัมป์ ที่ดูเหมือนไม่สนับสนุนแนวทางความยั่งยืนเหมือนอดีตที่ผ่านมา จะเปลี่ยนกฏเกณฑ์หรือมาตรฐานใดๆอีกหรือไม่ ความผันผวนเหล่านี้คือสิ่งที่ธุรกิจไทยต้องเตรียมความพร้อม
3.ทุนจีน แรงงานจีนจะเข้าไทยมากขึ้น
นอกจากนี้สินค้าจากจีนจะเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นแล้ว ทุนจีนจะเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดร.อัทธ์ มองว่า หลายปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรวมถึงทุนจีนไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพียงแต่ในวันที่เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ ผลกระทบจากความท้าทายที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลรุนแรงขึ้นกว่าในวันที่เศรษฐกิจแข็งแรง
ดังนั้นศักยภาพของประเทศไทย รัฐบาลต้องช่วยทำให้พัฒนามากขึ้นในหลายด้านเพราะหากเทียบกับประเทศอื่นๆศักยภาพไทยยังถดถอย ทั้งทักษะบุคคลากรที่ต้องเพิ่มขึ้น การใช้เทคโนโลยี ภาษา ล่วนต้องพัฒนา เช่นเดียวกับสินค้าไทย เช่นสินค้า SME ไทยมีมูลค่าเพิ่มมากแค่ไหน? ปัจจุบันเวียดนามแซงไทยไปมากแล้ว
ดร.อัทธ์ ทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยควรมองภาพในอนาคตและหาคำตอบให้ได้ว่า อนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นอะไร ? หากยังหาคำตอบไม่ได้ก็ยากที่เราจะเจอโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย และคงจะได้เห็นการเติบโตที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกยาวนาน
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2568 อาจจะแย่ลงกว่าในปี 2567 เล็กน้อย แม้ว่าลักษณะของเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่โควิด และในปี2568 ภาคการคลังน่าจะเป็นตัวหนุนเศรษฐกิจไทยได้มากกว่าปี 2567 ที่ผ่านมา
แต่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังเต็มไปด้วยความเปราะบาง จึงทำให้ภาพรวมการเติบโตในปี 2568 นี้อาจแย่ลงกว่าปีก่อนเล็กน้อย โดย 3 ปัจจัยที่น่าเป็นห่วงที่สุดและเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ การท่องเที่ยวไม่สามารถเป็นพระเอกคนเดียวในการหนุนเศรษฐกิจไทยได้อีกต่อไป , ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และ ภาคการเงินสภาพคล่องในระบบลดลง ดูจากสินเชื่อธนาคารหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี
1.การท่องเที่ยวไม่อาจเป็นพระเอกช่วยเศรษฐกิจไทยได้คนเดียว
ดร.พิพัฒน์ อธิบายให้เราฟังว่า ภาคการท่องเที่ยวเคยเป็นพระเอกช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด แม้ปัจจุบันตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทยจะฟื้นตัวขึ้นมาเรื่อยๆใกล้เคียงกับปี 2562 แล้ว แต่แรงส่งจากการท่องเที่ยวกำลังจะแผ่วลงโดยดูจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาตที่เข้าไทยเริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง
สถิติการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย
ก่อนโควิด ปี 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 40 ล้านคน
ปี 2566 โควิดคลี่คลาย จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 28 ล้านคน
ปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 35 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 7 ล้านคน
ปี 2568 คาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 38 ล้านคน เพิ่มขึ้นอีกแค่ 3 ล้านคนเท่านั้น
สาเหตุนักท่องเที่ยวที่เริ่มชะลอลงมาจากทั้งสภาพเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในโลก รวมถึงรูปแบบพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปหลังโควิด ดังนั้น ในปี 2568 นี้การท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวอาจะไม่ใช่พระเอกขี่ม้าขาวมาแบกเศรษฐกิจไทยเหมือนในอดีตได้อีกต่อไป
2.ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม ยังไม่ฟื้นตัว
ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยหดตัวต่อเนื่อง มีตัวเลขไตรมาส 3 ของปี 2567 ที่มีการฟื้นตัว แต่สถานการณ์ในปี 2568 นี้สถานการณ์การผลิตในภาคอุตสาหกรรมกำลังตกอยู่ภาวะน่าเป็นห่วงที่สุดเพราะเจอปัญหาความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ โดย 3 อุตสาหรกรรมใหญ่ที่สุดของไทยกำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ ,อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ หดตัวรุนแรงและน่าเป็นห่วงมากที่สุดเห็นได้จากโรงงานปิดต่อตัวเนื่อง โดยอุตสาหกรรมรถยนต์มีแรงงานมากกว่า 7-8 แสนคน หากมีปัญหาการเลย์ออฟแรงงาน อาจนำไปสู่การเกิดปัญหาเศรษฐกิจด้านอื่นๆตามมา
3.ภาคการเงิน สินเชื่อภาคธนาคารหดตัวครั้งแรกในรอบ 15 ปี
ปัญหาภาคการเงินของไทยเหมือนตกอยู่ในวงจรเดิมๆ ขณะนี้กำลังมีสัญญาณว่าสินเชื่อใหม่จากภาคสถาบันการเงินไหลเข้าเศรษฐกิจช้าลง ทำให้เกิดภาวะตึงตัวทางการเงิน สิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือ เมื่อสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่ออย่างมาก คนถูกปฏิเสธสินเชื่อมากขึ้นส่งผลให้เห็นยอดขายบ้าน ขายรถ ในปี 2568 ชะลอลงทั้งหมด เมื่อสินเชื่อน้อย ยอดขายตก ไปกระทบภาคการผลิต วนกันเป็นวงจร ดังนั้น ดร.พิพัฒน์ ชี้วา เราต้องแก้ปัญหาวงจรนี้ให้ได้ เพราะถ้าไม่แก้จะเกิดแรงกดดันทางเศรษฐกิจไทยในปี 2568
เพราะในอดีตหากรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจะกระตุ้นให้คนก่อหนี้ใหม่ เช่น ในอดีตมีการเปิดโครงการรถคันแรก บ้านหลังแรก แต่หากสินเชื่อในระบบน้อยลงเช่นนี้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเองที่จะออกมาในปี 2568 ก็อาจไม่เกิดผลหนุน GDP ได้มากนัก
ฉะนั้นแล้วนี่คือ สัญญาณเตือนและกระตุ้นให้คนไทยรวมถึงรัฐบาลไทยตื่นตัวเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2568 นี้