Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
Spot On : ชะตาเวเนซุเอลาพลิกผัน จากเศรษฐีบ่อน้ำมันสู่ยาจกหนี้สาธารณะ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

Spot On : ชะตาเวเนซุเอลาพลิกผัน จากเศรษฐีบ่อน้ำมันสู่ยาจกหนี้สาธารณะ

11 เม.ย. 68
16:58 น.
แชร์

4,300,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 4.3 ล้านล้าน คือจำนวนหนี้สาธารณะทั้งหมดที่รัฐบาลเวเนซุเอลาหยิบยืมมากู้วิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ หนี้ก้อนใหญ่เกิดจากการค่อย ๆ สะสมมาหลายสิบปี แทนที่จะมาช่วยฟื้นเศรษฐกิจดินแดนละตินอเมริกาแห่งนี้ กลับกลายเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกินความรุ่งเรืองของประชาชนอย่างไม่รู้ตัว 

Spot On ชวนไขความลับ หาคำตอบ จากประเทศที่มีน้ำมันสำรองขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วย ‘เศรษฐีบ่อน้ำมัน’ ร่ำรวยอู้ฟู่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ แต่ในปี 2025 เวเนซุเอลากลับขึ้นชื่อว่ามี ‘ผู้อพยพ’ หนีความยากจนข้นแค้น ยอมออกนอกประเทศเป็นยาจกผิดกฎหมายในต่างแดนมากที่สุดแห่งหนึ่ง เกิดอะไรขึ้นกับเวเนซุเอลา? จุดพลิกผันอะไรที่ทำให้ประเทศแห่งนี้กลายเป็นมหาเศรษฐีตกยาก?

เวเนซุเอลา กับราคากาแฟเกินเอื้อม

ภาพที่ผู้คนหอบเงินเป็นฟ่อน ๆ เพื่อซื้อกาแฟสักแก้ว หรือซื้อไก่ตอนสักตัวแลก กลายเป็นภาพจำของเวเนซุเอลา ประเทศที่เคยเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงสุดในโลก ในช่วงปี 2018 ราคากาแฟในเมืองหลวงกรุงการากัส พุ่งขึ้นจาก 2,300 โบลิวาร์ กลายเป็น 1 ล้านโบลิวาร์ เท่ากับว่าราคาพุ่งขึ้นกว่า 43,000% ส่วนใครที่อยากจะซื้อไก่ทั้งตัว น้ำหนักประมาณ 2.4 กิโลกรัม ราคาจะอยู่ที่ 14.6 ล้านโบลิวาร์ นับว่าเวลาซุเอลาเกิดวิฤตเงินเฟ้อเล่นงานจนน่วม นักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า อัตราเงินเฟ้อในเวเนซุเอลาอาจพุ่งแตะระดับ 1,000,000% ในปี 2008

ในปีเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลเวเนซุเอลาพยายามสกัดปัญหาเงินเฟ้อ ด้วยการสร้างสกุลเงินใหม่ ที่มีชื่อว่า Sovereign Bolívar โดยตัดเลขศูนย์ของเงินโบลิวาร์ให้น้อยลง 5 หลัก หรือ 100,000 โบลิวาร์เดิม มีค่าเท่ากับ 1 Sovereign Bolívar แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นการแก้ปัญหาได้เพียงการทำธุรกรรมของประชาชนที่สะดวกยิ่งขึ้น แต่ในทางเศรษฐกิจแล้ว นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย แถมยังทำให้วิกฤตบานปลายขึ้น เพราะสกุลเงินใหม่นี้ผูกติดมูลค่ากับเงินดิจิทัลเปโตร ซึ่งอิงกับราคาน้ำมันของประเทศ

นอกจากภาวะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลกแล้ว ยังตามมาด้วย “หนี้ต่างประเทศ” ซึ่งพุ่งแตะ 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรคและของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ จนชาวเวเนซุเอลาจำนวนหลายล้านคนเลือกที่จะอพยพหนีความยากจนไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเอลซัลวาดอร์ กระจายไปทั่วอเมริกาใต้ บราซิล เม็กซิโก และสหรัฐฯ แม้จะมีสถานะการอพยพผิดกฎหมายก็ตาม

เวเนซุเอลายุคใหม่ ยังไหวไหม?

จากจุดที่เวเนซุเอลาเผชิญวิกฤตเงินเฟ้อในปี 2018 ผ่านมาจนจะเข้าปีที่ 7 ทุกวันนี้ อัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน ปี 2025 ลดลงมาเหลืออยู่ที่ 23.58% ส่วนราคาอาหารจำเป็นของเวเนซุเอลาไม่ได้แพงหูฉี่ขนาดนั้นแล้ว Spotlight ชวนส่องราคาอาหารและสิ้นค้าอื่น ๆ ของเวเนซุเอลา จากเว็บไซต์ NUMBO ที่รายงานค่าครองชีพอัปเดตทั่วโลก ดังนี้

สินค้า ราคา (หน่วยดอลลาร์สหรัฐฯ)

  • ค่าใช้จ่ายรายเดือนสำหรับครอบครัว 4 คน $2,711.4
  • ค่าใช้จ่ายรายเดือนสำหรับบุคคลเดียว $726.1  
  • มื้ออาหาร ร้านอาหารราคาประหยัด $6.00-$20.00
  • ชุดอาหารในแมคโดนัลด์มีลที่ร้านแมคโดนัลด์ $10.00
  • กาแฟคาปูชิโน่ (ธรรมดา) 1 แก้ว $2.73

สาธารณูปโภค

  • ไฟฟ้า, เครื่องทำความร้อน, เครื่องปรับอากาศ, น้ำ, ขยะ) 

สำหรับอะพาร์ตเมนต์ 85 ตรม. $18.23 - $500.00

  • แพ็กเกจรายเดือนโทรศัพท์มือถือ10GB+ $10.00 - $30.00
  • อินเตอร์เน็ต (60 Mbps ขึ้นไป) $38.75

ค่าเช่าที่พักอาศัย

  • อะพาร์ตเมนต์ (1 ห้องนอน) ใจกลางเมือง $300.00 - $800.00
  • อะพาร์ทเมนต์ (1 ห้องนอน) นอกใจกลางเมือง $300.00 - $500.00
  • อะพาร์ทเมนต์ (3 ห้องนอน) ใจกลางเมือง $600.00 - $1,700.00
  • อะพาร์ทเมนต์ (3 ห้องนอน) นอกใจกลางเมือง $400.00 - $1,200.00

แม้ตัวเลขของค่าครองชีพอาจดูเหมือนยังพอรับได้ เมื่อแปลงเป็นสกุลเงินบาทของไทย หรือดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปัญหาอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจที่ฉุดค่าแรง-เงินเดือนของคนในชาติให้อยู่ในระดับต่ำเตี้ย ปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำของชาวเวเนซุเอลาอยู่ที่เพียง 130 โบลิวาร์ต่อหัวเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่รัฐบาล ‘ปรับขึ้นแล้ว ปรับขึ้นอีก’ แต่ก็ยังไม่เกิดความสมดุลอยู่ดี

AFP รายงานว่า ชาวเวเนซุเอลาออกมาเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าปากท้องของประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซ้ำร้ายยังโดนมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ เล่นงานสินค้าส่งออกหลักอย่างน้ำมันด้วย โดยโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศว่า ประเทศใดก็ตามที่ซื้อน้ำมันเวเนซุเอลาจะโดนภาษี 25 เปอร์เซ็นต์ อ้างว่าเวเนซุเอลาส่งอาชญากร รวมถึงผู้ก่อเหตุรุนแรงและสมาชิกแก๊งเตรน เต เดอ อรากัว ซึ่งเขาได้ส่งสมาชิกแก๊งนี้เข้าคุกเอลซาวาดอร์ไปเมื่อเดือนก่อน

เกิดมาก็เป็นหนี้ เมื่อหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงสุดเป็นประวัติการณ์

แม้อัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างมาก จากจุดวิกฤตเมื่อเกือบ 7 ปีก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่า ประเทศละตินอเมริกาแห่งนี้จะหลุดพันจากวิกฤติเศรษฐกิจและภาวะหนี้สินที่ก่อขึ้นจนเกินตัว โดยเฉพาะ “หนี้สาธารณะ”  (Public Debt) ที่รัฐบาลหลายยุคหยิบยืมมาจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ และประเทศพันธมิตรผู้ร่ำรวย เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ เข้าขั้นวิกฤตมาตลอดหลายทศวรรษ 

รัฐบาลเวเนซุเอลาหวังว่า การยืมเงินก้อนใหญ่ในแต่ละครั้ง จะมาช่วยชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือเพื่อนำไปใช้ในการลงทุนพัฒนาประเทศ หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ของรัฐ ซึ่งเมื่อเวเนซุเอลาลืมตาอ้าปากได้ และเศรษฐกิจกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งเมื่อไร รัฐบาลจะมีศักยภาพพอที่จะหาคืนเจ้าหนี้ได้ Spotlight ชวนดูตัวเลขในปัจจุบันว่า เวเนซุเอลาติดหนี้สาธารณะเท่าไรและมีเจ้าหนี้เป็นใครกันบ้าง

Trading Economics. เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลตลาดการเงินทั่วโลกระบุว่า ในปี 2020 อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของเวเนซุเอลาอยู่ที่ 329.10% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ต่อมาในปี 2023 อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของเวเนซุเอลา ลดลงมาอยู่ที่ 148.20% ซึ่งถือว่ายังสูงมากอยู่ดี ล่าสุด Trading Economics คาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของเวเนซุเอลาจะอยู่ที่ประมาณ 135.00% ภายในสิ้นปี 2025 และมีแนวโน้มลดลงแต่ต้องใช้เวลาในระยะยาว 

หนี้สินในรูปแบบ ‘พันธบัตรบริษัทน้ำมัน’

ตามข้อมูลที่ปรากฏอยู่ใน Bloomberg คณะกรรมการเจ้าหนี้ของเวเนซุเอลา ซึ่งถือพันธบัตรบริษัทน้ำมันของรัฐบาลเวเนซุเอลา และรัฐบาลผิดนัดชำระหนี้มูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อกลางปี 2024 คณะกรรมการได้ว่าจ้างบริษัทจัดการหนี้สินในซานฟรานซิสโกเพื่อเตรียมเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ครั้งใหญ่กับรัฐบาลเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใหญ่และซับซ้อนที่สุดสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในรอบหลายปีที่ผ่านมา 

คณะกรรมการฯ เปิดเผยว่า เวเนซุเอลานี้มีหนี้สาธารณะในรูปแบบพันธบัตรบริษัทน้ำมันอยู่ประมาณ 154,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้ คิดเป็นหนี้ที่ต้องจ่ายให้กับผู้ถือพันธบัตรมากกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แถมยังผิดนัดชำระหนี้มาตั้งแต่ปี 2017 ทำให้ต้นทบดอก-ดอกทบต้น เป็นกองหนี้มหาศาลในปัจจุบัน นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลของประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ซึ่งห้ามการเจรจาใดๆ กับนักลงทุนในสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ เวเนซุเอลาประสบปัญหาในการชำระหนี้ต่างประเทศมาเป็นเวลานาน และถูกมองว่าอยู่ในภาวะผิดนัดชำระหนี้บางส่วน การที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง ราคาน้ำมันตกต่ำ และการคว่ำบาตรจากนานาชาติ ทำให้รัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้

หนี้ต่างประเทศก้อนใหญ่ หยิบยืมจากหลายเจ้า

หนี้ต่างประเทศนับเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ ทีมนักเศรษฐศาสตร์ชาวเวเนซุเอลาซึ่งนำโดยริคาร์โด ฮอสมันน์ ศาสตราจารย์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่สถาบันเคนเนดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เผยแพร่ผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นภาพรวมของเศรษฐกิจเวเนซุเอลาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และกล่าวถึงหนี้ต่างประเทศของประเทศ คาดว่ามีมูลค่ารวม 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

การศึกษาดังกล่าวยังกล่าวประเมินว่า จีนเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของเวเนซุเอลา โดยได้ให้เงินกู้ยืมประมาณ 25,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งบันทึกไว้ในงบดุลของบันเดส ธนาคารเพื่อการพัฒนาที่ก่อตั้งโดยอดีตประธานาธิบดีอูโก ชาเวซที่ล่วงลับไปแล้ว ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นเฉพาะข้อตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลเท่านั้น ไม่รวมหนี้ส่วนบุคคลของบริษัทในท้องถิ่นหรือบริษัทที่เป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างจีนและเวเนซุเอลา ต้นทุนการชำระหนี้ดังกล่าวอยู่ที่ 5,500 ถึง 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ส่วนใหญ่รัฐบาลเวเนซุเอลาจะไม่ได้จ่ายเป็นเงินคืนให้เจ้าหนี้จากเอเชียเจ้านี้ แต่มักแลกเปลี่ยนกับน้ำมันดิบของเวเนซุเอลา 

นอกจากนี้ รัฐบาลเวเนซุเอลายังติดหนี้ก้อนใหญ่กับรัสเซีย และสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น ธนาคารโลก (World Bank), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งละตินอเมริกา (CAF) เป็นต้น แต่ข้อมูลล่าสุดอ้างว่า เวเนซุเอลาได้ชดใช้หนี้สินขององค์กรระหว่างประเทศไปจนเกือบหมดแล้ว

จุดพลิกซะตา ย้อนร้อยต้นต่อที่ทำให้เวเนฯ จมดิ่ง

  • นโยบายประชานิยมของคนมีน้ำมัน

ทศวรรษ 1970 - 1980 เวเนซุเอลากลายเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ทำให้มีรายได้มหาศาลเข้าประเทศ แทนที่เวเนซุเอลาจะได้กินบุญน้ำมันในระยะยาวไปอีกหลายสิบหลายร้อยปี แต่กลับกลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจล่มสลายในระยะเวลาไม่ถึง 50 ปี จนเรียกได้ว่า “น้ำมัน” ทำให้เกิดและทำให้ดับในคราวเดียวกัน จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลเล็งเห็นถึงทรัพยากรมหาศาล จึงใช้จ่ายเงินจำนวนมากในโครงการรัฐสวัสดิการต่าง ๆ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ดีขึ้นเพียงระยะสั้นเท่านั้น

สวัสดิการที่รัฐบาลเวเนซุเอลาสร้างขึ้นถูกเรียกว่า ‘นโยบายประชานิยม’ ในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นให้บ้านฟรีหรือที่อยู่อาศัยราคาต่ำมาก การรักษาพยาบาลและการศึกษาฟรี อาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก อัดฉีดเงินอุดหนุนและสวัสดิการสังคมแก่คนทุกกลุ่ม รวมถึงรัฐบาลให้การอุดหนุนราคาน้ำมันและก๊าซ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานในราคาถูก แต่ทั้งหมดก็เพื่อสร้างความนิยมและฐานเสียงทางการเมือง

เพียง 10 กว่าปีหลังจุดเจอน้ำมัน รัฐบาลเวเนซุเอลาต้องเผชิญกับวิกฤตราคาน้ำมันโลกตกต่ำ าคาน้ำมันที่เคยสูงถึงจุดสูงสุดเริ่มลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อรายได้หลักของประเทศ เวเนซุเอลายังต้องเผชิญกับวิกฤตหนี้สินเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และรัฐบาลจำต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนที่ใช้ชีวิตอู้ฟู่อยู่บนเงินอัดฉีดประชานิยมมาตลอดหลายปี

  • คอร์รัปชั่นหนัก ขึ้นชื่อรัฐบาลสูบเลือด

ในช่วงปี 1999-2013 เป็นยุคที่อูโก ชาเวซ (Hugo Chávez) ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของเวเนซุเอลา เขาเป็นผู้นำที่ยืนอยู่ตรงข้ามสหรัฐฯ อย่างสุดโต่งและเลือกที่จะใช้นโยบายประชานิยมอัดฉีดชาวเวเนซุเอลา แม้ว่าประเทศเริ่มเข้าใกล้วิกฤตเศรษฐกิจเข้าทุกที ในยุคของเขาหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะตำรวจและศาลถูกมองว่าเป็นองค์กรที่ขาดความโปร่งใสมากที่สุด โดยเห็นได้จากคดีรับสินบนเอื้อให้มีการก่อสร้างอาคาร การตั้งโปรเจกต์ต่าง ๆ รวมถึงการเข้าถึงพลังงานเวเนซุเอลาได้อย่างง่ายดาย

จวบจนปัจจุบัน การเมืองภายในเวเนซุเอลามีความพลิกผัน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดรัฐประหารโค่นล้มซาเวซ เนื่องจากฝ่ายตรงข้ามและประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วง ไม่พอใจที่อดีตผู้นำเวเนซุเอลาใช้แนวคิดช่วยเหลือคนยากจนโดยดึงทรัพยากรและกระจายความมั่งคั่งจากมือของผู้ร่ำรวย ก่อให้เกิดความแตกแยกทางสังคมและนำไปสู่การยึดอำนาจในที่สุด แต่การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น ซาเวซสามารถพลิกสถานการณ์ปลุกให้คนที่สนับสนุนเขาออกมาต่อต้านรัฐบาลใหม่ ก่อนที่เขาจะกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง

กลับมาครั้งนี้ซาเวซได้เข้าไปควบคุมและแทรกแซงการบริหารงานของทุกภาคส่วน ในลักษณะอุปถัมภ์คนที่เป็นพวกของเขา และลงโทษกลุ่มที่ต่อต้านเขา จนกระบวนการตรวจสอบทางการเมืองอ่อนกำลังลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนกระทั่งปี 2008-2009 เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงตกลงฮวบ แน่นอนว่ารัฐบาลชาเวซขาดเงินสนับสนุนนโยบายสวัสดิการแบบสังคมนิยมที่ทำมาตลอด และเวเนซุเอลายังคงพึ่งพาสินค้าส่งออกที่สำคัญแต่เพียงอย่างเดียว นั่นคือ ‘น้ำมัน’

  • การเมืองใหม่แบบมาดูโร จะแก้วิกฤตได้ไหม

หลังจากการเสียชีวิตของอูโก ชาเวซ ในเดือนมีนาคม 2013 มาดูโรดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญ มาดูโรลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนเมษายน 2013 และได้รับชัยชนะอย่างเฉียดฉิว ผลการเลือกตั้งเป็นที่ถกเถียงและนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ตลอดการดำรงตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน เขาต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการราคาน้ำมันตกต่ำ นโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด การทุจริต และการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ

ในปี 2018 ที่เกิดวิกฤตเงินเฟ้อแบบสุด ๆ ในเวเนซุเอลา ที่ธนบัตรแต่ละใบแทบไม่มีมูลค่า ในปีนั้นเอง นิโกลัส มาดูโร สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2018 และได้รับชัยชนะอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากนานาชาติและฝ่ายค้านในประเทศ โดยถูกกล่าวหาว่าไม่โปร่งใส ไม่ยุติธรรม และมีการทุจริตอย่างแพร่หลาย หลายประเทศและองค์กรระหว่างประเทศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งนี้

วิกฤตเศรษฐกิจในเวเนซุเอลายังคงทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (hyperinflation) ทำให้ค่าเงินโบลิวาร์ไร้ค่า สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลนอย่างหนัก และประชาชนจำนวนมากเผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีวิต ความไม่พอใจต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ทั่วประเทศ รัฐบาลมาดูโรตอบโต้การประท้วงเหล่านี้ด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกจับกุมจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ของเวเนซุเอลาประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งได้รับคะแนนเสียง 51% เมื่อเทียบกับตัวเลข 44% ของคู่แข่งหลักของเขา ให้เขายังมีอำนาจสูงสุดในประเทศหนี้ท่วมแห่งนี้ เช่นเคยที่การเลือกตั้งครั้งนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากฝ่ายค้านและนานาชาติ โดยมีการกล่าวหาถึงความไม่โปร่งใสและการทุจริต มีหลายประเทศและองค์กรที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งนี้ และยังคงมีความขัดแย้งทางการเมืองในเวเนซุเอลา

การ ‘อยู่ต่อ’ ของเวเนซุเอลาจะทำให้ภาวะหนี้สินอันล้นพ้นดีขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะความท้าทายจากรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ รวมถึงความขัดแย้งในประเทศ วิกฤตผู้อพยพหลั่งไหลออกนอกเวเนซุเอลา และการผลิตน้ำมันที่ลดลงซึ่งเป็นรายได้เดียวประเทศเศรษฐีเก่าแห่งนี้


แชร์
Spot On : ชะตาเวเนซุเอลาพลิกผัน จากเศรษฐีบ่อน้ำมันสู่ยาจกหนี้สาธารณะ