สงกรานต์ เทศกาลสาดน้ำที่ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติต่างรอคอยจะได้เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน แต่การเล่นน้ำสงกรานต์ก็หมายถึงการใช้น้ำมากขึ้น และเป็นการใช้น้ำเพิ่มขึ้นในช่วงหน้าแล้งเสียด้วย
ความแห้งแล้งในประเทศไทยจะลากยาวตั้งแต่ฤดูหนาวถึงฤดูร้อน หรือราวเดือนตุลาคม–พฤษภาคมของทุกปี ครอบคลุมเทศกาลปีใหม่ไทยในช่วงกลางเดือนเมษายนเอาไว้ด้วย ทุกปีราวปลายเดือนมีนาคม–ต้นเดือนเมษายน เรามักจะได้เห็นประกาศขอความร่วมมือจากกรมชลประทานให้เรา “ใช้น้ำอย่างประหยัด” เพื่อให้สามารถผ่านวิกฤตขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูน้ำน้อยไปได้
สาเหตุที่ช่วงฤดูร้อนมีน้ำน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาที่เพิ่งผ่านฤดูหนาว ซึ่งมักจะมีปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุดในรอบปี โดยเฉพาะเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ทำให้อ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ และแม่น้ำต่าง ๆ มีน้ำเก็บไว้ในปริมาณน้อย กระทบต่อน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา
ในปีนี้ (2568) จังหวัดชัยนาทกำลังเผชิญกับภัยแล้งหนักจากสภาวะฝนทิ้งช่วง ไม่มีฝนมาหลายเดือน ทำให้พื้นที่นาข้าวกว่าพันไร่ถูกทิ้งร้าง หรืออย่างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เขื่อนลำตะคองก็ออกมาชี้แจงเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าจะมีน้ำเพียงพอใช้ในช่วงหน้าแล้ง พร้อมย้ำว่า “ทุกฝ่ายต้องประหยัดน้ำ”
แต่จะยังประหยัดน้ำอยู่ไหม หากเรายังอยากเติมน้ำใส่กระบอกปืนฉีดน้ำและขัน?
แม้จะเป็นฤดูแล้ง แต่ประเพณีก็ยังดำเนินต่อไป การบริหารจัดการน้ำเพื่อให้พอใช้พอเล่น จึงเป็นสิ่งที่มักมีการวางแผนล่วงหน้า
ในปี 2562 (ข้อมูลล่าสุดจากการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต) กรมชลประทานได้มีคำสั่งให้การชลประทานทั่วประเทศระบายน้ำจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่าง ๆ ตลอดเดือนเมษายนแล้วแต่พื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้ฉลองกัน โดยปริมาณการปล่อยน้ำต่อวันมีตั้งแต่ราว 10,000 ลูกบาศก์เมตร จนถึง 800,000 ลูกบาศก์เมตร ขึ้นอยู่กับพื้นที่
ตัวอย่างการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น
การส่งน้ำจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในปี 2562 นอกจากจะสนับสนุนการเล่นน้ำสงกรานต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนการส่งน้ำตามรอบเวรเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเป็นปกติอยู่แล้ว ยังช่วยการทำเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง และรักษาระบบนิเวศอีกด้วย และแม้ว่าจะมีการบริหารจัดการล่วงหน้า กรมชลประทานก็มักจะขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดในช่วงเทศกาลหยุดยาวนี้อยู่ดี
แม้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะมีการเตรียมน้ำไว้สำหรับเล่นสงกรานต์ แต่การขอความร่วมมือจากภาคประชาชนให้เล่นน้ำอย่างประหยัดก็เป็นสิ่งที่เราเห็นได้ทุกปี
แต่ว่า "ประหยัด" อย่างไรล่ะ? มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้แบ่งปันวิธีการเล่นน้ำอย่างรักษ์โลกไว้เมื่อปี 2566 ดังนี้
การเล่นน้ำช่วงสงกรานต์เป็นกิจกรรมที่เราต้องคิดก่อนทำ เพราะนอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำในช่วงหน้าแล้งแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดขยะ แม้หน่วยงานต่าง ๆ จะมีแผนการรับมือเรื่องน้ำและขยะช่วงเทศกาล แต่สำนึกรักษ์โลกจากภาคประชาชน ก็เป็นอีกหนึ่งความรับผิดชอบที่ผู้เข้าร่วมงานควรมี