ธุรกิจการตลาด

คลื่น 5G ป่วนสหรัฐ เตือนการบินจ่อ "อัมพาต" กระทบผู้

18 ม.ค. 65
คลื่น 5G ป่วนสหรัฐ เตือนการบินจ่อ "อัมพาต" กระทบผู้
ไฮไลท์ Highlight
"ประชาชนส่วนใหญ่ที่เดินทางและขนส่งสินค้าจะไม่สามารถออกบินได้ เว้นแต่ฮับหลัก ๆ ของเราจะได้รับอนุญาต" พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐเร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน "ก่อนที่การค้าของชาติอาจถึงขั้นต้องหยุดชะงัก"  

กลุ่ม CEO สายการบินใหญ่ในสหรัฐเตือน คลื่น 5G ทำเครื่องบินขึ้นบินไม่ได้ จ่อกระทบใหญ่เข้าขั้นหายนะ จี้ 2 บริษัทบรอดแบนด์รายใหญ่ AT&T-Verizon เลื่อนการให้บริการ 5G แบบใหม่ในวันพุธนี้ออกไปก่อน

กลุ่มประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบรรดาสายการบินรายใหญ่ในสหรัฐ พร้อมใจกันยื่นจดหมายเตือนไปถึงภาครัฐว่า อุตสาหกรรมการบินในสหรัฐอาจจะเผชิญหายนะในเวลาอีกไม่ถึง 36 ชั่วโมง หากมีการเริ่มเปิดใช้สัญญาณอินเตอร์ 5G ผ่านย่านความถี่ระบบ C-Band แบบใหม่ที่จะเริ่มในวันพรุ่งนี้ (19 ม.ค. ตามเวลาท้องถิ่น) เนื่องจากสัญญาณ 5G ดังกล่าวอาจจะทำให้เครื่องบินชนิดลำตัวกว้างส่วนใหญ่ ไม่สามารถขึ้นบินได้ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารชาวอเมริกันนับแสนๆ คน ต้องตกค้าง และสร้างความโกลาหลครั้งใหญ่ต่อการบินของสหรัฐ

000_9vj4nd

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างจดหมายจากบรรดา CEO ของสายการบินพาณิชย์และโลจิสติกส์รายใหญ่ ได้แก่ อเมริกัน แอร์ไลน์ส, เดลตา แอร์ไลน์ส, ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส, เซาธ์เวสต์ แอร์ไลน์ส, ยูพีเอส แอร์ไลน์ส, อลาสกา แอร์, แอตลาส แอร์, เจ็ทบลู แอร์เวย์ส และเฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส ซึ่งยื่นเรื่องต่อ สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ (NEC) ประจำทำเนียบขาว, สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) และคณะกรรมการด้านการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FCC) ระบุว่า

"ประชาชนส่วนใหญ่ที่เดินทางและขนส่งสินค้าจะไม่สามารถออกบินได้ เว้นแต่ฮับหลัก ๆ ของเราจะได้รับอนุญาต" พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐเร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน "ก่อนที่การค้าของชาติอาจถึงขั้นต้องหยุดชะงัก"

 

ทางด้านสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) ก็เตือนเช่นเดียวกันว่า สัญญาณรบกวนจาก 5G ระบบ C-Band อาจจะส่งผลต่ออุปกรณ์ของเครื่องบินที่มีความละเอียดอ่อน เช่น มาตรวัดระดับความสูง และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขับเครื่องบินในภาวะทัศนวิสัยต่ำ

 

ทั้งนี้ สายการบินหลายแห่งกำลังพิจารณาด้วยว่า จะยกเลิกเที่ยวบินในต่างประเทศที่มีกำหนดเดินทางมาถึงสหรัฐในวันพุธ (ตามเวลาท้องถิ่น) หรือไม่ และอาจมีการเสนอให้ยกเว้นการให้บริการ 5G ในพื้นที่รันเวย์ของสนามบินบางแห่งอีกด้วย

 

ทำไมการบินสหรัฐถึงเกิดปัญหา 5G ?

ก่อนอื่นต้องย้อนเรื่องราวก่อนว่า AT&T และ Verizon คือ 2 บริษัทบรอดแบนด์รายใหญ่ในสหรัฐ ที่เป็นผู้ชนะการประมูลย่านความถี่ C-Band ของคลื่น 5G เกือบทั้งหมด ด้วยวงเงินประมูลมหาศาลถึง 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.6 ล้านล้านบาท) เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา

 

แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายกังวลก็คือ สัญญาณ 5G ในย่านความถี่ C-Band ที่ว่านี้ อาจไปรบกวนกับอุปกรณ์บางอย่างของเครื่องบิน เช่น “เครื่องวัดความสูง” (Radar altimeters) ซึ่งเป็นอุปกรณ์เรดาร์สำหรับวัดความสูงของตัวเครื่องจากพื้นดินด้วยคลื่นวิทยุ ต่างจากเครื่องวัดความสูงชนิดอื่นๆ ที่ใช้แรงกดอากาศ ซึ่ง 5G ใหม่อาจจะไปรบกวนให้เครื่องนี้อ่านค่าความสูงผิดเพี้ยนไป และกระทบต่อการลงจอดของเครื่องได้ เพราะคลื่นความถี่ C-Band นั้น อยู่เกือบติดกับย่านความถี่วิทยุที่เรดาร์วัดความสูงใช้งาน

 

ปัญหานี้เองทำให้ AT&T และ Verizon เสนอทางออกว่า จะจำกัดความเข้มของสัญญาณที่ปล่อยออกจากเสา 5G และใช้มาตรการป้องกันอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการบิน รวมถึงยอมตกลงเมื่อวันที่ 3 ม.ค. ให้มีการกันแนวเขต “บัฟเฟอร์โซน” รอบๆ สนามบินประมาณ 50 แห่ง เพื่อลดความเสี่ยง และจะมีมาตรการอื่นๆ เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวนการบินอีกเป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยก่อนหน้านี้ บริษัททั้ง 2 แห่งได้ยอมเลื่อนการเปิดให้บริการ 5G มาแล้วจากช่วงต้นปี

000_9pg74v

 


ประเทศอื่นๆ เกิดปัญหาหรือไม่?

CNN ได้อ้างข้อมูลจากนายฮาร์โรลด์ เฟลด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมในสหรัฐว่า ปัจจุบัน มีอย่างน้อย 40 ประเทศทั่วโลกที่อนุมัติการใช้งานสัญญาณ 5G บนย่านความถี่ C-Band โดยเฉพาะ "ญี่ปุ่น" ซึ่งเครือข่าย 5G อยู่ห่างจากย่านความถี่ของเรดาร์วัดความสูงไม่ถึง 220 เมกะเฮิร์ตซ์ที่ FCC กำหนดไว้ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีรายงานผลกระทบต่อการบิน หรือการรบกวนอุปกรณ์ที่น่าเชื่อถือได้ออกมาเลย

 

ขณะที่ข้อมูลจากฝั่งอุตสาหกรรมการบิน ระบุว่า หลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ให้บริการคลื่น 5G ด้วยความแรงน้อยกว่าของระดับสหรัฐ ขณะที่แคนาดามีมาตรการชั่วคราวกำหนดให้กดองศาเสาส่งสัญญาณต่ำลง ส่วนในยุโรปนั้นมีการ์ดแบน (Guard band) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรบกวนจากคลื่นของช่องสัญญาณข้างเคียง กว้างกว่าของสหรัฐถึง 100 เมกะเฮิร์ตซ์

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT