Berkshire ปัดข้อเรียกร้องผู้ถือหุ้น ถอด “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ออกจากตำแหน่งประธานบริษัท เผยลดเงินค่าตอบแทนลงกว่า 3 ล้าน เหลือ 12 ล้านบาท
เมื่อนึกถึงบริษัทลงทุนยักษ์ใหญ่ระดับโลก “Berkshire Hathaway” เราก็จะนึกถึงผู้ก่อตั้งบริษัท “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ไปโดยปริยาย คงเป็นเรื่องยากหากจะจินตนาการว่ามีผู้บริหารคนอื่น ก้าวขึ้นมาเป็นหัวเรือของ Berkshire แทนปู่บัฟเฟตต์
แต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา บริษัท Berkshire ได้ปัดข้อเสนอจากผู้ถือหุ้น จำนวน 4 ข้อเสนอ ซึ่งมีเนื้อหาเสนอแนะให้หาคนอื่น มาทำหน้าที่แทนปู่บัฟเฟตต์ในตำแหน่งประธานบริษัท ซึ่งดำรงตำแหน่งมานานกว่า 57 ปี ตั้งแต่บริษัทก่อตั้งในปีค.ศ. 1965
โดย Berskshire เปิดเผยตัวเลขค่าตอบแทนรายปีของบัฟเฟตต์ ในปี 2021 ที่ผ่านมาว่า ได้รับค่าตอบแทนลดลงจาก 380,328 ดอลลาร์ (12.7 ล้านบาท) ในปี 2020 เหลือ 373,204 ดอลลาร์ (12.4 ล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ ยังคงเป็นเงินเดือน(ต่อปี) 1 แสนดอลลาร์เหมือนเดิมมาตลอดกว่า 40 ปี ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องการดูแลความปลอดภัยให้ปู่
เงินเดือนเท่านี้อาจเรียกว่าน้อยมาก สำหรับตำแหน่งประธานและซีอีโอบริษัทลงทุนชื่อดังที่มีมูลค่ากว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ แต่เขาก็มีหุ้นในบริษัทสูงถึง 16.2% คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.18 แสนล้านดอลลาร์ 3.72 ล้านล้านบาท นั่นทำให้เขาถูกจัดอันดับเป็นมหาเศรษฐีลำดับที่ 5 ของโลก ตามการจัดลำดับของนิตยสาร Forbes
ข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยในหนังสือแจ้งระเบียบวาระการประชุมประจำปี ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปลายเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ โดยก่อนหน้านี้ Berkshire เคยเปิดเผยรายชื่อว่าที่ผู้สืบทอดตำแหน่งซีอีโอของบริษัท ว่าจะหากปู่บัฟฟเฟต์ไม่สามารถทำหน้าที่ต่อได้ “Greg Abel” รองประธานบริษัทจะ ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งซีอีโอแทน ส่วน “โฮเวิร์ด บัฟเฟตต์” ลูกชายของปู่ จะขึ้นมาเป็นกรรมการของบริษัทที่ไม่นั่งเป็นผู้บริหาร
หนึ่งในข้อเสนอจากผู้ถือหุ้น ระบุว่า การที่บัฟเฟตต์ควบทั้งตำแหน่งซีอีโอ และประธานบริษัท ทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการบริษัท “ลดต่ำลงอย่างมาก” และเสนอให้บริษัทนำผู้อำนวยการคนนอก มานั่งในตำแหน่งประธานบริษัทแทน ซึ่งผู้อำนวยการของ Berkshire ก็เห็นด้วย แต่เฉพาะในกรณีที่บัฟเฟต์ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งซีอีโอแล้วเท่านั้น
ปู่บัฟเฟตต์ถืออำนาจการลงคะแนนเสียงในการประชุมแต่ละครั้งถึง 32.1% ข้อเสนอที่ค้านกับเขาจึงมักจะถูกปัดตกอยู่เสมอ