โดยข้อมูลจาก Phillip Capital Thailand อธิบายว่า หลายคนอาจจะพอคุ้นเคยกับคำว่าธุรกิจสตาร์ทอัพมาบ้าง ไม่ว่าจะได้ยินได้อ่านมาจากข่าวภาคธุรกิจ บทความ เคยทำงานหรือร่วมงานกับธุรกิจในหมวดนี้ รวมถึงชื่อซีรีส์เกาหลีเรื่องดังอย่าง “สตาร์ทอัพ” ก็ตาม รู้หรือไม่ว่าธุรกิจขนาดเล็กที่เรียกว่าสตาร์ทอัพ มีคำนิยามแยกสถานะตามมูลค่าธุรกิจอีกด้วย ในบทความนี้จะกล่าวถึง Unicorn หรือสตาร์ทอัพ ที่มีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาท ในภูมิภาคอาเซียนอย่างประเทศอินโดนีเซีย
ซึ่งอินโดนีเซียเป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นแหล่งกำเนิดของบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นจำนวนมาก และถือว่ามากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาทำความรู้จักยูนิคอร์น 4 ตัวท็อปแห่งอินโดนีเซียได้เลย
1. Gojek*: แอปพลิเคชันบริการรับส่งทั้งเพื่อการเดินทาง และขนส่งอาหาร
มีมูลค่ากิจการมากกว่า 3 แสนล้านบาทเป็นสตาร์ทอัพรายแรกที่ได้สถานะยูนิคอร์น Gojek ก่อตั้งเมื่อปี 2010 และเริ่มให้บริการจองมอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท็กซี่โดยมีคนขับประจำเพียง 20 คนเท่านั้น ต่อมาในปี 2015 ก็พัฒนาแอปพลิเคชันของตัวเองขึ้น และเพิ่มบริการเสริม GoRide อย่าง GoFood, GoSend และ GoMart จนได้รับสถานะ Unicorn ในปี 2017 พอมาปี 2019 ก็ได้เลื่อนสถานะอีกขั้น เป็น Decacorn มูลค่าบริษัท 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของ Gojek ส่วนหนึ่งก็มาจากเงินลงทุน, การพัฒนานวัตกรรมที่ไม่ใช้ต้นทุนสูงแต่พลิกโฉมภาคบริการขนส่งให้ดำเนินงานได้รวดเร็วขึ้น การเติบโตของ Gojek ช่วยส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กให้เติบใหญ่ และเศรษฐกิจภาพรวมของอินโดนีเซียก็เติบโตตามไปด้วย
2. Tokopedia*: แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์แบบ C2C (ซื้อขายระหว่างบุคคลทั่วไป)
มีมูลค่ากิจการมากกว่า 2 แสนล้านบาท
Tokopedia ให้บริการแพลตฟอร์ม E-Commerce ทั้งสำหรับบุคคลทั่วไป ร้านขนาดเล็ก ไปจนถึงแบรนด์ใหญ่ระดับโลก เป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นลำดับที่สองของอินโดนีเซีย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2009 โดยสร้างเว็บไซต์ทางการ Tokopedia.com เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2009 ซึ่งตรงกับวันประกาศอิสรภาพหรือวันชาติอินโดนีเซียพอดี
หลังก่อตั้งมาได้ 8 ปี ก็มีทุนใหญ่จากกลุ่ม Alibaba มาเสริม จนทำให้ Tokopedia ได้ก้าวเข้าสู่สถานะ Unicorn เมื่อปี 2017 ด้วยมูลค่าธุรกิจรวม 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จุดเด่นของ Tokopedia คือการพัฒนาระบบ Super Ecosystem ที่ทุกคนสามารถร่วมให้ความเห็นและพัฒนาไปพร้อมๆ กันได้
*ปัจจุบัน Gojek ควบรวมกับ Tokopedia ภายใต้ชื่อใหม่ GoTo Group และวางแผนจะระดมทุนเพื่อเข้าตลาด IPO อีกครั้งในเดือนเมษายน 2022 นี้
3. Traveloka: บุ๊กกิ้งแพลตฟอร์มสำหรับจอง รถรับส่ง โรงแรม ตั๋วเดินทางต่างๆ
มีมูลค่ากิจการมากกว่า 1 แสนล้านบาท
ส่วนมากบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของอินโดนีเซียมักจะเป็นบริษัท E-commerce หรือขนส่ง แต่ Traveloka เป็นสตาร์ทอัพเดียวที่เน้นด้านการท่องเที่ยว ให้บริการจองตั๋วเครื่องบินและจองโรงแรม โดยเริ่มแรกมีเพียงบริการจองตั๋วเครื่องบินอย่างเดียว และค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับพัฒนาบริการด้านอื่นๆ จนปัจจุบันมีบริการจองตั๋วงานหรือคอนเสิร์ตต่างๆ, เช่ารถ และคูปองสำหรับร้านอาหาร และยังขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศทั้ง มาเลเซีย, ประเทศไทย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, สิงคโปร์ และออสเตรเลีย
ในช่วงปี 2020 วิกฤติ Covid-19 ส่งผลต่อการท่องเที่ยวทั่วโลก Traveloka เองก็ได้รับผลกระทบจนต้องปลดพนักงานเช่นกัน ทำให้บริษัทต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธูรกิจไปเน้นตลาตในประเทศแทน พร้อมกับทำการกู้ยืมจากสถาบันการเงินระดับโลกและนักลงทุน
4. J&T Express: บริษัทขนส่งสินค้า E-Commerce สำหรับลูกค้าองค์กรและบุคคลทั่วไป
มีมูลค่ากิจการมากกว่า 1 แสนล้านบาท
J&T Express ให้บริการขนส่งทางเรือและทางบก ได้รับสถานะ Unicorn ในเดือนเมษายน ปี 2021 หากอิงตามข้อมูลของ CBInsights บริษัท J & T Express มีมูลค่ารวม 7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพระดับ Unicron ก็ถือเป็นรองแค่ Gojek เจ้าเดียว
บริษัท J&T มีชื่อเต็มว่า PT. Global Jet Express ก่อตั้งในปี 2015 โดยผู้บริหารของสมาร์ทโฟน OOPO อย่าง Jet Lee และ Tony Chen เป็นบริษัทขนส่งที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2017 ได้ขยายฐานออกไปยังประเทศอื่นๆ ในแถบอาเซียน และได้รับความไว้วางใจให้เป็นพาร์ตเนอร์ของ E-commerce เจ้าต่างๆ เช่น Shopee, Bukalapak, Tokopedia, Blibli, และ JD.id
สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพการจะได้รับสถานะ Unicorn ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงเวลาสั้นๆ ต้องมีทั้งนวัตกรรม ความพยายาม ความสม่ำเสมอ และกลยุทธ์การทำธุรกิจที่ดี เพื่อไต่เต้าเพิ่มมูลค่าบริษัทจากจุดต่ำสุดมายังสถานะ Unicorn
สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือนักลงทุนที่พร้อมลงทุนเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อให้มูลค่าของบริษัทไปถึงระดับ Unicorn ดังนั้นหน้าที่ของเจ้าของบริษัทสตาร์ทอัพที่ดี ต้องสามารถชักชวนนักลงทุนให้เห็นว่าการเลือกลงทุนในบริษัทเป็นการตัดสินใจที่ดีอย่างไร
หมายเหตุ
*บริษัท Gojek และ Tokopedia ได้ทำการ merger and acquisition รวมกันภายใต้ชื่อ GOTO และจะเข้าเทรดในตลาด Indonesia stock markets ด้วย ticker "GOTO" ในวันที่ 11 เมษายน 2022 และในส่วนของบริษัท Traveloka และ J&T Express มีแนวโน้มว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนิเซียในอนาคต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
1.กว่าจะเป็นสตาร์ทอัพระดับ ยูนิคอร์น ก็ต้องเป็น "ละมั่ง" ก่อน
2.ขาขึ้นของ Start Up อาเซียน ปี 2021 ผุด “ยูนิคอร์น” 25 ตัว ทุนไหลเข้า 8.6 ล้านล้าน