ในช่วงปลายปีแบบนี้ นอกจากจะเป็นเทศกาลเฉลิมฉลอง ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่หลากหลายสำนักจะเปิดโผการจัดอันดับที่น่าสนใจ ทั้งวงการการเมือง วงการบันเทิง วงการหุ้น รวมไปถึงวงการธุรกิจ หนึ่งในลิสต์ที่เป็นขาประจำทุกปีนั่นก็คือ ‘ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง’ 2566 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
เปิดโผ 10 อันดับ ธุรกิจดาวรุ่ง - ดาวร่วง 2566
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจการจัดอันดับ 10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 2566 ซึ่งเป็นผลสำรวจของหอการค้าโพล ที่ได้ผลสำรวจผู้ประกอบการรายสาขา, ผลสำรวจสถานภาพธุรกิจไทย และผลสำรวจปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีเกณฑ์การให้คะแนนจาก 5 ด้าน ด้านละ 20 คะแนน รวม 100 คะแนน คือ 1.ด้านยอดขาย 2.ด้านต้นทุน 3.กำไรสุทธิ 4.ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและการแข่งขัน 5.ความต้องการ/กระแสนิยม
ธุรกิจดาวรุ่ง 10 อันดับแรก ของปี 2566 เป็นดังนี้
- อันดับ 1 ธุรกิจการแพทย์และความงาม
- อันดับ 2 ธุรกิจ e-commerce
- อันดับ 3 Social Media, Online Entertainment, ธุรกิจด้านฟินเทค การชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี, ธุรกิจจัดอีเวนท์ จัด คอนเสิร์ต จัดงานแสดงสินค้า
- อันดับ 4 Influencer ธุรกิจโฆษณา และสื่อออนไลน์
- อันดับ 5 ธุรกิจแพลตฟอร์ม (ตัวกลาง-ตลาดกลางทางอิเล็กทรอนิกส์) และธุรกิจ Matching เช่น แพลตฟอร์มหาคู่, สั่งอาหาร, เรียกรถรับ-ส่ง
- อันดับ 6 ธุรกิจประกัน และธุรกิจสถานบันเทิง
- อันดับ 7 ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ทัวร์ และธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade)
- อันดับ 8 ธุรกิจโลจิสติกส์ Delivery และคลังสินค้า, ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น เครื่องดื่ม, อาหาร, เครื่องซักผ้า
- อันดับ 9 ธุรกิจ e-Sport, ธุรกิจอาหารเสริม, อาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจยานยนต์
- อันดับ 10 ธุรกิจความเชื่อ (หมอดู-ฮวงจุ้ย-สายมู), ธุรกิจบันเทิง เช่น ละครซีรีย์ Y และธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา-ใบกระท่อม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ธุรกิจดาวรุ่งของปี 2566 นั้น จะเห็นได้ว่า ธุรกิจด้านการแพทย์และความงาม มาเป็นอันดับ 1 เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาด ได้ส่งผลให้ประชาชนหันมาใส่ใจและดูแลสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับการเติบโตของสังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีความต้องการใช้บริการด้านการแพทย์เพิ่มขึ้น
ขณะที่ปัจจุบัน กระแสที่ต้องมีการโชว์หน้าตา และบุคลิกภาพออกสื่อโซเชียล ทั้งในเฟสบุ๊ก ยูทูป Tiktok อินสตาแกรม จึงทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับรูปร่าง-หน้าตา-ผิวพรรณ ความสวยความงาม เพื่อออกสื่อโซเชียลมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในธุรกิจนี้อาจมีปัจจัยลบ หรือความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้กำลังซื้อลดลง ประกอบกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งมาตรการควบคุมราคายา และเวชภัณฑ์ ยังคงเป็นข้อจำกัดให้ธุรกิจเติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าธุรกิจดาวรุ่งในปีนี้ หลายอันดับเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะในธุรกิจดาวรุ่งอันดับที่ 2 - 4 ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกเข้าสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และกลุ่ม Gen Y และ Gen Z เข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางธุรกิจในปัจจุบันมากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างประชากรในปัจจุบันกลุ่ม Gen Y และ Gen Z มีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 55% รองลงมาเป็น Gen X 35% และที่เหลืออีก 10% เป็น Baby Boomer
ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร บริษัททัวร์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น สถานบันเทิง ผับ บาร์ ในปีหน้า ก็จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ภายหลังจากที่ไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงกลางปี 65 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เริ่มเห็นการฟื้นตัวของธุรกิจบริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน
11 กลุ่มธุรกิจหน้าใหม่ ติดโผ 'ธุรกิจดาวรุ่งปี 66'
หนึ่งไฮไลต์ของโพลล์ ‘ธุรกิจดาวรุ่งปี 2566’ คือกลุ่มธุรกิจที่ไม่ติดโพลล์ปี 2565 แต่ก็พุ่งขึ้นมาติด 1 ใน 10 ธุรกิจดาวรุ่งประจำปี 2566 ประกอบไปด้วย 11 กลุ่มธุรกิจด้วยกัน ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจ Social Media และ Online Entertainment
- กลุ่มธุรกิจ Content Creator, YouTuber, Influencer
- กลุ่มธุรกิจโฆษณาและสื่อออนไลน์
- กลุ่มธุรกิจธุรกิจ Matching เช่น สั่งอาหาร เรียกรถ หาคู่ ฯลฯ
- กลุ่มธุรกิจไนท์คลับ ผับ บาร์ คาราโอเกะ
- กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ เดลิเวอรี่ คลังสินค้า
- กลุ่มธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น น้ำ เครื่องซักผ้า อาหาร ฯลฯ
- กลุ่มธุรกิจยานยนต์
- กลุ่มธุรกิจความเชื่อ (สายมู, หมอดู, ฮวงจุ้ย)
- กลุ่มธุรกิจบันเทิง เช่น ละคร หนัง ซีรีส์ Y
- กลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา ใบกระท่อม
นายธนวรรธน์ กล่าวเสริมว่า ยังมีประเด็นที่น่าสนใจจากที่เริ่มมีธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยติด 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่ง ได้เข้ามาติดอันดับในปี 66 เป็นครั้งแรก โดยอยู่ในอันดับ 10 คือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธา (สายมูเตลู) เช่น หมอดูดวง ดูฮวงจุ้ย รวมถึงธุรกิจบันเทิง เช่น ละครซีรีย์ Y และธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา ใบกระท่อม
ทั้งนี้ มองว่าในธุรกิจที่เกี่ยวกับสายมูเตลูนั้น เป็นเพราะความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคม จึงทำให้ประชาชนมีความกังวลในการใช้ชีวิต จึงอยากมีที่พึ่งทางใจ ซึ่งทำให้เกิดธุรกิจที่ให้บริการบนความเชื่อความศรัทธาได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ซินแส หมอดู เบอร์มือถือมงคล เป็นต้น รวมทั้งมี Influencer ที่ทำ content เกี่ยวกับสายมูเตลูเพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชา และใบกระท่อม ที่เพิ่งเข้ามาติดใน 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่งเป็นครั้งแรก ก็น่าเป็นเพราะกระแสการเปิดเสรีกัญชาในประเทศไทย ที่รัฐบาลปลดล็อกกัญชง-กัญชา ให้พ้นจากสถานะการเป็นยาเสพติด (กรณีค่า THC ไม่เกิน 0.2%) นอกจากนี้ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าถึงกัญชา และใบกระท่อม สามารถทำได้ง่ายขึ้น โดยพบเห็นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับพืชดังกล่าวทั้งจากร้านค้าออนไลน์ และออฟไลน์
กลุ่มธุรกิจหน้าใหม่ประจำโพลล์นี้ สะท้อนถึงเทรนด์ธุรกิจแต่ละปีที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ระกอบการธุรกิจที่มีความพร้อม และก้าวทันกระแส
‘ธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี’ รั้งที่ 8 ‘ธุรกิจดาวร่วงปี 66’
ด้านธุรกิจดาวร่วง 10 อันดับแรก ของปี 2566 จากผลการจัดอันดับของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นดังนี้
- อันดับ 1 ธุรกิจฟอกย้อม, ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ วารสาร หนังสือพิมพ์
- อันดับ 2 ธุรกิจส่งสื่อสิ่งพิมพ์ตามบ้าน/สำนักงาน, ธุรกิจโรงพิมพ์
- อันดับ 3 ธุรกิจคนกลาง
- อันดับ 4 ร้านขายหนังสือ
- อันดับ 5 ธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา เซรามิก
- อันดับ 6 ธุรกิจร้านถ่ายรูป, หัตถกรรม
- อันดับ 7 ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าโหล
- อันดับ 8 ธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี
- อันดับ 9 โรงเรียนเอกชน
- อันดับ 10 ร้านโชห่วย
ในบรรดา 10 อันดับธุรกิจดาวร่วงประจำปี 2566 นั้น กลุ่มธุรกิจที่อาจสร้างความประหลาดใจให้กับคนในแวดวงมากที่สุดคือ ‘อันดับ 8 ธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี’ ซึ่งแม้จะไม่ได้ติดโผ 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่งในปีก่อน แต่ก็ได้อยู่ในร่มของกลุ่ม Fintech ซึ่งครองอันดับที่ 3 สองปีซ้อน และธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี ยังเป็นธุรกิจที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าได้รับอานิสงส์เชิงบวกในปี 2565 ที่ผ่านมาอีกด้วย ความว่า
“10 ธุรกิจเด่น จะอยู่ในนิยามของคำว่า FUREC โดย F = Fast, U = Urbanization, R = Real time, E = Environment, C = Convenient ซึ่งในยุคโควิด และหลังโควิด ได้เกิดกระแส Cashless เพิ่มมากขึ้น พวกธุรกิจคริปโทฯ จะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น”
ในระยะเวลาเพียง 1 ปี ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีเปลี่ยนจาก ‘โชติช่วงชัชวาล’ กลายเป็น ‘มอดม้วยมรณา’ จากที่ราคาบิทคอยน์ทำจุดสูงสุดในเดือน พ.ย. 2565 ที่ 64,158.12 ดอลลาร์/BTC ก่อนร่วงลงกว่า 75% ในช่วงปลายปี นอกจากนี้ ยังมี ‘หายนะคริปโทระดับโลก’ เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า แถมการใช้งานจริงก็ยังมีให้เห็นน้อย ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวด จึงอาจส่งผลให้ไม่ค่อยมีธุรกิจเจ้าไหน อยากย่างกรายเข้าไปข้องแวะกับธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซีในปีหน้านี้