บ้าน ถือว่าเป็นปัจจัย 4 ที่สำคัญของมนุษย์ ทุกคนล้วนต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง แต่ด้วยราคาที่ดินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การซื้อบ้านเป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วไป แต่ในอดีต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยเคยเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ ด้วยภาวะ สร้างง่าย-ขายคล่อง ดึงดูดดีเวลลอปเปอร์หน้าใหม่ให้เข้ามาในวงการไม่ขาดสาย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกิจที่ปราบเซียนอยู่ไม่น้อย เพราะหากมีแต่ทุน หรือ ที่ดิน แต่ไร้ “โนว์ฮาว” ก็พาให้ล้มเหลวกันมานักต่อนักแล้ว ยิ่งสถานการณ์ของตลาดอสังหาฯ ในปัจจุบัน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ใครยังยืนอยู่ได้ ถือว่าแข็งแกร่งและเป็นตัวจริง ดังนั้นในวันนี้ Spotlight จะพาทุกท่านไปพบกับ 5 บริษัทอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ ของเมืองไทยในเวลานี้
5 ยักษ์ใหญ่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่ยืนหยัดเหนือกาลเวลา
สำหรับ 5 บริษัทอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ระดับตำนานของเมืองไทย ที่มีประวัติความเป็นมาไม่ธรรมดา และเคยผ่านร้อนผ่านหนาวมาตั้งแต่ยุคต้มยำกุ้ง ปี 2540 จนถึงสถานการณ์ COVID-19แต่ทั้ง 5บริษัทนี้ก็สามารถผ่านมาได้ และยังคงรักษาธุรกิจให้เติบโตได้จนถึงปัจจุบัน อีกทั้ง ได้บ่มเพาะอาณาจักรอสังหาฯ ของตัวเองด้วยพอร์ตหมื่นล้าน สร้างบริษัทในเครือมากมาย ขณะเดียวกันก็ส่งให้ CEO บางบริษัทติด Top มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และในวันนี้ ทาง Spotlight จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับ 5 ยักษ์ใหญ่ ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่สามารถทำกำไรได้เยอะที่สุดในช่วงเวลา 6 เดือนแรก ของปี 2566
อันดับ 1 แสนสิริ ผู้ที่ทำกำไรสูงสุดใน ตลาดอสังหาฯ ไทย
แสนสิริ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2527 อายุรวม 39 ปี โดย กลุ่มจูตระกูล ปัจจุบันมีแบรนด์โครงการบ้านและคอนโดมิเนียมที่เป็นที่รู้จักมากมาย เช่น นาราสิริ,บูก้าน,เศรษฐสิริ,บุราสิริ,ฮาบิเทีย,สราญสิริ,คณาสิริ,KHUN,ชูช์,เวีย,เอ็กซ์ที,เอดจ์,เฮาส์,เดอะ ไลน์,เดอะ เบส,โฟล บายแสนสิริ
ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 แสนสิริ สามารถทำกำไรสุทธิได้ 3,202 ล้านบาท ทำให้อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนถึง 17.80 % มี มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 25,211 ล้านบาท และมี สินทรัพย์รวม 139,816 ล้านบาท
ผลประกอบการย้อนหลังของ แสนสิริ
- ปี 2563 รายได้ 34,891 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,673 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้ 29,747 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,017 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 34,973 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,279 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 17,477 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,202 ล้านบาท (งบ 6 เดือน2566)
ใครจะคิดว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์อันดับหนึ่งของไทยในปัจจุบันอย่าง แสนสิริ เริ่มต้นจากบริษัทเล็ก ๆ ชื่อแสนสำราญ จำกัด เมื่อปี 2531 กับโครงการบ้านไข่มุก คอนโดมิเนียมริมหาดระดับตำนานของหัวหิน ที่ราคาต่อยูนิตเพียง 7 ล้านบาทเท่านั้น แต่กลับเป็นที่ต้องการของเศรษฐีในยุคนั้น
จากโครงการบ้านไข่มุกคือโครงการแฟล็กชิพแห่งแรกของแสนสิริที่เปิดตัวในปี 2531 ปัจจุบันแสนสิริมีมูลค่าโครงการรวมเพิ่มขึ้นกว่า 1,000% โดยราคาขายต่อยูนิตพุ่งสูงขึ้นจาก 7 ล้านบาท เป็น 80 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของแสนสิริที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอสังหาริมทรัพย์ไทยได้ในเวลา 39 ปี
อันดับ 2 เอพี ไทยแลนด์ ผู้นำตลาดอสังหาฯ สวนกระแส
ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เอพี สามารถทำกำไรสุทธิได้ 3,022 ล้านบาท ทำให้อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนถึง 16.05% มี มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 33,975 ล้านบาท และมี สินทรัพย์รวม 79,176 ล้านบาท
ผลประกอบการของ เอพี ไทยแลนด์
- ปี 2563 รายได้ 29,958 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,226 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้ 31,980 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,543 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 38,702 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,877 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 18,831 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,022 ล้านบาท (งบ 6 เดือน2566)
เอพี ไทยแลนด์ ผู้นำตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกเจ้าในไทย เวลานี้สวนกระแสตลาดที่ชะลอตัวในปี 2566 ด้วยแผนธุรกิจที่ดุดัน เปิดตัวโครงการใหม่มากที่สุดในอุตสาหกรรม จำนวน 58 โครงการ มูลค่ารวม 77,000 ล้านบาท ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
เอพี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 อายุรวม 32 ปี โดย คุณ อนุพงษ์ อัศวโภคิน ปัจจุบันมีแบรนด์โครงการบ้านและคอนโดมิเนียมที่เป็นที่รู้จักมากมาย เช่น บ้านกลางเมือง, บ้านกลางกรุง, GRANDE PLENO, THE CITY, CENTRO, ASPIRE, HYTHM และ LIFE ความสำเร็จของเอพี สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของผู้บริหารที่เชื่อมั่นในศักยภาพของธุรกิจและไม่ยอมแพ้ต่อความท้าทาย โดยนายอนุพงษ์ อัศวโภคิน เคยกล่าวไว้ว่า "ถ้าไม่แน่ ก็คงไม่กล้า"
สำหรับในครึ่งปีหลังบริษัทฯ เตรียมเปิดตัวอีก 40 โครงการใหม่ มูลค่ารวมประมาณ 55,940 ล้านบาท โดยเป็นทาวน์โฮม 19 โครงการ มูลค่า 19,550 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 14 โครงการ มูลค่า 24,750 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 3 โครงการ มูลค่า 8,300 ล้านบาท และต่างจังหวัด 4 โครงการ มูลค่า 3,340 ล้านบาท
อันดับ 3 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ผู้ครองตลาด บ้านหรู ในไทย
ในวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย ไม่มีใครไม่รู้จัก “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” ผู้นำตลาดบ้านหรูระดับบนมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ด้วยภาพลักษณ์ที่โดดเด่นและความเชื่อมั่นในคุณภาพ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จึงสามารถครองใจผู้บริโภคมาได้อย่างเหนียวแน่น แม้จะมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาท้าทายอยู่เสมอ
ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ สามารถทำกำไรสุทธิได้ 2,803 ล้านบาท ทำให้อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนถึง 7.95 % มี มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 90,220 ล้านบาท และมี สินทรัพย์รวม 128,422 ล้านบาท
ผลประกอบการของ ศุภาลัย เรียลเอสเตท
- ปี 2563 รายได้ 30,965 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,144 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้ 33,031 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,936 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 36,482 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8,312 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 14,036 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,803 ล้านบาท (งบ 6 เดือน2566)
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ก่อตั้งเมื่อ ปี 2516 อายุรวม 50 ปี โดย คุณ อนันต์ อัศวโภคิน เป็นที่รู้จักกันดีในนามของ “บ้านหรู สวยทุกหลัง ได้ของ เหมือนที่ตาเห็น” จากการนำเสนอโครงการบ้านหรูที่มีคุณภาพสูง ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีที่สุด และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าระดับบนอย่างแท้จริง
สำหรับโครงการที่ประสบความสำเร็จของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ได้แก่ โครงการบ้านนันทวัน โครงการบ้านมัณฑนา และโครงการบ้านลดาวัลย์ ความสำเร็จของ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญหลายประการที่ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประสบความสำเร็จ ได้แก่ คุณภาพของโครงการ ที่ตั้งโครงการ และภาพลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ให้ความสำคัญมาโดยตลอด
อันดับ 4 ศุภาลัย อสังหาฯที่สร้างด้วย ปรัชญา บ้านที่ดี ตรงตามความต้องการของลูกค้า
ศุภาลัย หนึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2532 อายุรวม 34 ปี โดย คุณ ประทีป ตั้งมติธรรม เริ่มประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในลักษณะเพื่อ เป็นที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์อย่างเป็นทางการโดยมีทุนจดทะเบียน 100,000,000 บาท
ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ศุภาลัย สามารถทำกำไรสุทธิได้ 2,781 ล้านบาท ทำให้อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนถึง 19.69 % มี มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 35,936 ล้านบาท และมี สินทรัพย์รวม 84,683 ล้านบาท
ผลประกอบการของ ศุภาลัย เรียลเอสเตท
- ปี 2563 รายได้ 20,969 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,251ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้ 29,647 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,070 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 35,500 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8,173 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 14,345 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,781 ล้านบาท (งบ 6 เดือน2566)
ศุภาลัย ในระยะแรกได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮ้าส์ ในลักษณะโครงการบ้านจัดสรร ต่อมาจึงขยายธุรกิจสู่โครงการอาคาร ชุด อาคารสำนักงาน และรีสอร์ทโรงแรม โดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของบริษัทฯ
ปัจจุบันมีแบรนด์ ศุภาลัย มีโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมที่เป็นที่รู้จักมากมาย เช่น ศุภาลัย ปาล์มวิลล์, ศุภาลัย วิลล์, ศุภาลัย เอเลแกนซ์, ศุภาลัย ไพร์ด, ศุภาลัย พรีโม่, ศุภาลัย ลอฟท์, ศุภาลัย ซิตี้โฮม,ศุภาลัย โอเรียนทัล เป็นต้น
อันดับ 5 พฤกษา อสังหาฯ ราคาประหยัด เติมเต็มฝันคนไทยที่อยากมีบ้าน
บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง (พฤกษา เรียลเอสเตท) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2531 อายุรวม 30 ปี ด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 50 ล้านบาท ภายใต้การบริหารของ คุณ ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เจ้าพ่ออสังหาฯ เศรษฐีหุ้น”
ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 พฤกษา สามารถทำกำไรสุทธิได้ 1,690 ล้านบาท ทำให้อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนถึง 0.77 % มี มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด อยู่ที่ 27,356 ล้านบาท และมี สินทรัพย์รวม 71,650 ล้านบาท
ผลประกอบการของ พฤกษา เรียลเอสเตท
- ปี 2563 รายได้ 29,512 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,770 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้ 28,430 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,352 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 28,640 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,772 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 13,665 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,690 ล้านบาท (งบ 6 เดือน2566)
พฤกษาเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบราคาประหยัด มุ่งหวังช่วยให้คนไทยทุกคนมีบ้านเป็นของตนเอง โดยโครงการแรกอย่าง “บ้านพฤกษา 1” ย่านรังสิต คลอง 8 ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ปิดการขายภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือนเศษ ส่งผลให้พฤกษากลายเป็นหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศไทย
ปัจจุบันมีแบรนด์ พฤกษา มีโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมที่เป็นที่รู้จักมากมาย เช่น บ้านพฤกษา , the connect , Passorn , the reserve ,the palm นอกจากการดำเนินธุรกิจแล้ว พฤกษายังให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งช่วยเหลือผู้ที่ขาดโอกาส รวมทั้งช่วย ปลูกป่าเพื่อสิ่งแวดล้อม พลิกฟื้นผืนป่า 1 แสนต้นในโครงการ “ร่วมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์” สร้างสรรค์สังคม “อยู่ดี มีสุข” เป็นต้น
มูลค่าธุรกิจอสังหาฯคิดเป็น 10 % ของ GDP ประเทศไทย
จาก ศูนย์วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยหากรวมธุรกิจที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานแล้ว จะมีมูลค่าตลาดคิดเป็นสัดส่วนกว่า 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2565 สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลไกต่างๆ ดังนี้
- สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก่อให้เกิดการใช้จ่ายในหลายภาคส่วน ทั้งค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น
- สร้างงานและรายได้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นภาคธุรกิจที่จ้างงานจำนวนมาก ทั้งในส่วนของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ช่างฝีมือ และพนักงานในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
- เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจอื่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และการตกแต่ง และธุรกิจสถาบันการเงิน
สถานการณ์ COVID-19 ทำให้เกิดวิกฤตอสังหาฯ ไทยซบเซา
จาก การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2563-2564 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดที่อยู่อาศัยไทย โดยเฉพาะใน 6 จังหวัดหลัก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี นครราชสีมา และขอนแก่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดลงโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลต่อรายได้และการจ้างงาน ทำให้ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศชะลอการตัดสินใจซื้อ เลื่อน/ยกเลิกการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจากความไม่มั่นใจสถานการณ์ในอนาคตและไม่สามารถเดินทางมาทำธุรกรรมได้
ผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการใหม่และมีการปรับลดราคาบ้านเพื่อจูงใจผู้ซื้อ ส่งผลให้ตลาดบ้านแนวราบยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ซื้อรายได้กลางบน-สูงซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย
แต่ในปี 2565 ตลาดที่อยู่อาศัยกระเตื้องขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ได้แรงหนุนจากการฉีดวัคซีนครอบคลุมทั่วประเทศ ราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังๆ พฤกษาได้ปรับทิศทางการพัฒนาบ้านมาสู่ระดับกลางและระดับบนมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อมากขึ้น รวมถึงการขยายตลาดไปสู่กลุ่มคอนโดมิเนียมไฮเอนด์อย่าง เดอะ รีเซิร์ฟ
ตลาดที่อยู่อาศัยไทยเริ่มฟื้นตัว
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศกระเตื้องขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบช่วยดึงดูดกำลังซื้อจากชาวต่างชาติทั้งกลุ่มนักลงทุนและกลุ่มที่เข้ามาทำงานในไทย
การออกมาตรการกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ เช่น การลดค่าจดทะเบียนโอนและจดจำนอง การเลื่อนใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน การคงอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการผ่อนคลายมาตรการ LTV เป็นการชั่วคราว ปัจจัยเหล่านี้ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ที่อยู่อาศัยทั้งจากกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองและผู้ซื้อเพื่อการลงทุน
ด้านผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวโดยเข้ามาพัฒนาโครงการในจังหวัดภูมิภาคมากขึ้น ในแหล่งงานสำคัญ เช่น พื้นที่ EEC เพื่อตอบรับกระแสการทำงานแบบ “Hybrid workplace” ที่มีแนวโน้มเป็นที่นิยมมากขึ้นในยุคหลัง COVID
ที่มา ศูนย์วิจัยกรุงศรี ,ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย,แสนสิริ ,เอพี ไทยแลนด์ ,แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ,พฤกษา ,ศุภาลัย