สินทรัพย์ดิจิทัล

USDT คือช่องทางการฟอกเงินหรือไม่? บอสดิไอคอนโอนเงินหนี 8,223 ล้าน

22 ต.ค. 67
USDT คือช่องทางการฟอกเงินหรือไม่? บอสดิไอคอนโอนเงินหนี 8,223 ล้าน

จากกรณีที่นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ หรือ ‘เอก สายไหม’ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด ออกมาแฉความผิดปกติ เมื่อพบว่า เส้นเงินผิดปกติกว่า 247,911,936 USDT หรือกว่า 8,223 ล้านบาท ถูกโอนออกไปก่อนที่ ‘โค้ชแล็ป’ ดิไอคอนกรุ๊ป จะถูกจับเพียง 1 ชั่วโมง

ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามมากมาย ทั้งสงสัยว่า USDT คืออะไร? มีกระบวนการที่สามารถถสืบหาเส้นทางการเงินได้หรือไม่? และการโอนเงินเข้าแพลตฟอร์มคริปโต คือ การฟอกเงินหรือไม่?

SPOTLIGHT ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับ ‘นเรศ เหล่าพรรณราย' ประธานเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการ ‘เมตาที’ และนายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ตั้งแต่การทำงานขั้นต้นของ USDT ไปจนถึงช่องโหว่ของการใช้งานคริปโตในไทย

USDT คืออะไร?

‘USDT’ เป็นเหรียญคริปโตประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ‘Stablecoin’ มีมูลค่าคงที่ หรือมักเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยประมาณ 1-2% ซึ่งต่างจากเหรียญคริปโตอื่นๆ เช่น บิตคอยน์ หรือ Ethereum ที่ราคามีความผันผวนอย่างมาก ทำให้ USDT คล้ายกับการถือครองสกุลเงินต่างประเทศ

USDT ออกโดยบริษัท ‘Tether’ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลทั้งซัพพลายและราคาที่อ้างอิงกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดย Stablecoin มักถูกใช้ในธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน หรือการใช้เป็นคู่เทรดในการซื้อขายคริปโต ทำให้มีความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะ USDT ที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลกมากถึง 75%

จุดเด่นของ USDT คือ ‘ความเสถียร’ ของราคา ทำให้การโอนเงินสะดวกและประหยัดค่าธรรมเนียม และยังถูกใช้เป็นสกุลเงินในการซื้อขายคริปโต เนื่องจากช่วยลดความผันผวนในการทำธุรกรรม เมื่อเทียบกับการใช้เงิน Fiat ทั่วไป ตัวอย่างเช่น การซื้อบิตคอยน์ที่มีราคาประมาณเหรียญละ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย Stablecoin

การตรวจสอบเส้นทางการเงิน

สำหรับกรณีของ ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ ที่สังคมสงสัยว่า มีการฟอกเงินหรือไม่ ‘นเรศ’ กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า การโอนเงิน 8 พันล้านบาท มีความเกี่ยวข้องกับคดีของดิไอคอนกรุ๊ปหรือไม่ เนื่องจากตามหลักการ แพลตฟอร์มเทรดคริปโตทำหน้าที่คล้ายกับสถาบันการเงินรูปแบบหนึ่ง ที่มีการโอนเหรียญ USDT มูลค่าสูงระหว่างกันเป็นเรื่องปกติ

สิ่งที่ทราบในขณะนี้ คือ 'ชื่อ' ของแพลตฟอร์มที่ใช้ในการซื้อขาย แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า บัญชีที่ทำการโอนหรือซื้อ-ขายนั้น เกี่ยวข้องกับคดีดิไอคอนกรุ๊ปหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม หากเงินมูลค่า 8 พันล้านบาท มีความเกี่ยวข้องกับคดีจริง การตรวจสอบเส้นทางเงินและเชื่อมโยงกลับไปยังตัวบัญชีที่โอนเงิน จะสามารถทำได้ค่อนข้างง่าย หากแพลตฟอร์มเทรดเป็น ‘centralized exchange’ หรือมีใบอนุญาตหรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแล เนื่องจากแพลตฟอร์มมักให้ความร่วมมือกับรัฐบาล  และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการตรวจสอบคดีความ หรือการทำธุรกรรมต่างๆ

ยกตัวอย่างเช่น ‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ ที่ทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง ‘Binance’ หากต้องการข้อมูลการทำธุรกรรม ก็สามารถขอความร่วมมือได้ไม่ยาก โดยเฉพาะหากเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย กับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย

แต่หากเป็นแพลตฟอร์ม ‘decentralized exchange’ ที่ไม่มีการลงทะเบียนผู้ใช้งาน และขาดการกำกับดูแลอย่างเป็นทางการ การตรวจสอบจะยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเหรียญถูกโอนเข้าสู่กระเป๋าเงินดิจิทัลส่วนตัวของเจ้าของบัญชี เนื่องจากผู้ใช้งานครอบครองรหัสกุญแจส่วนตัว ซึ่งถ้ารหัสถูกลืมหรือสูญหาย ก็จะไม่สามารถเข้าถึงเงินได้

ไม่เพียงเท่านี้ ธุรกรรมบล็อกเชนเป็นการทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์ และไม่มีการจำกัดจำนวนเงินในการโอน ทำให้เงินสามารถส่งไปยังปลายทางได้ทันที แต่หากมีการซื้อ-ขาย หรือการดำเนินการในแพลตฟอร์มที่มีสภาพคล่องสูงและขนาดใหญ่ อาจมีการกำกับดูแลเพิ่มเติม

คริปโต = ฟอกเงิน?

‘นเรศ’ เปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือช่วงเริ่มต้นของคริปโตอย่าง ‘บิตคอยน์’ จะถูกใช้ในธุรกิจสีเทา หรือสีดำด้วยซ้ำในบางกรณี แต่ปัจจุบัน คริปโตมีการนำมาใช้งานในระบบการเงินที่กว้างขึ้น และไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทาโดยตรง 100% อีกต่อไป

การมองว่า คริปโตมีช่องโหว่ที่อาจถูกใช้ในการ ‘ฟอกเงิน’ ก็เป็นไปได้สำหรับ ‘นเรศ’ แต่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเสมอไป ด้วยคุณสมบัติในยุคดิจิทัล คริปโตมีความสะดวกสบายมากกว่าการถือเงินสดไปซื้อสินทรัพย์ เช่น ทองคำ งานศิลปะ หรือนาฬิกาหรู ที่มีสภาพคล่องต่ำ และยากต่อการเคลื่อนย้าย

นอกจากนี้ การตรวจสอบธุรกรรมบนบล็อกเชนสามารถทำได้ง่าย เพียงแค่ต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยี และการใช้เครื่องมือ เนื่องจากระบบบล็อกเชนช่วยสามารถตรวจสอบธุรกรรมได้ มีความโปร่งใส และไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงธุรกรรมบนบล็อกเชนได้ ต่างจากระบบธนาคารที่เจ้าของอาจมีอำนาจในการแก้ไขธุรกรรม

รวมถึง ทั้งผู้ประกอบการ และแพลตฟอร์มคริปโต ได้ปรับตัวเข้าหาสถาบันการเงินดั้งเดิม เพื่อให้แพลตฟอร์มเหล่านี้เติบโต เนื่องจากธนาคารมีเม็ดเงินมากกว่าผู้ลงทุนรายย่อย พวกเขาจำเป็นต้องรักษามาตรฐานที่สามารถรองรับการลงทุนจากสถาบันการเงินด้วย

ทิศทางการใช้งาน Stablecoin

‘นเรศ’ มองแนวโน้มการใช้งานของ Stablecoin ว่า จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการใช้งานที่แพร่หลายทั่วโลก เช่น ‘สิงคโปร์’ ที่สนับสนุนการใช้ Stablecoin ในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศแบบดั้งเดิม ที่มักมีค่าธรรมเนียมสูงเกือบ 10% และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน การโอนผ่าน Stablecoin มีความรวดเร็วมาก และค่าธรรมเนียมต่ำกว่าอย่างมาก

หลายประเทศจึงเริ่มเปิดรับการใช้งาน Stablecoin ให้สามารถเข้ามาทำงานร่วมกับระบบการเงินปกติ ซึ่งจะทำให้เห็นการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะหากอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันการเงินที่ชัดเจน ทำให้การฟอกเงินผ่านช่องทางนี้ทำได้ยากขึ้น

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT