เหรียญ Bitkub Coin หรือ KUB ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2564 ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด อยู่ในเครือของ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่มี 'ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา' เป็น Co-founder และนั่งเป็น Group CEO เครือบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด
KUB คือ Native Coin ที่มีหน้าที่เป็น Utility Coin บน Bitkub Chain เครือข่าย 21บล็อกเชน โดยลูกค้าที่เทรดกระดานซื้อขาย Bitkub.com สามารถนำเหรียญ KUB ไปแลกเป็น Fee Credit เพื่อลดค่าธรรมเนียมเทรดบนกระดานเทรดของ Bitkub ขณะที่ทางผู้พัฒนาที่สนใจสร้างแอปพลิเคชันบน Bitkub Chain ก็สามารถใช้เหรียญ KUB เป็น Gas Fee หรือเป็นค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนได้เช่นกัน
Bitkub Chain คือ เครือข่ายบล็อกเชนที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด เป็นบริษัทผู้ให้บริการด้าน Blockchain Full-solution Service และเป็นที่ปรึกษาด้าน ICO (Initial Coin Offering) แก่องค์กรหรือผู้ประกอบการที่ต้องการยกระดับธุรกิจด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นหนึ่งในเครือบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เช่นเดียวกับบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
Bitkub Chain พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครือข่ายบล็อกเชนสำหรับทุกคน ให้นักพัฒนาสามารถเข้ามาสร้างสรรค์แอปพลิเคชัน เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานบล็อกเชนในภาคอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นจริง (Real Business Use Case) ไม่ว่าจะเป็น Decentralized Exchange (DEX), Decentralized Finance (DeFi) หรือ Decentralized Application (DApp) เป็นต้น
เบื้องต้นมีเป้าหมายเพื่อการใช้ในประเทศและสามารถใช้ได้อย่างเป็นสากลตามคุณสมบัติของบล็อกเชนที่จะช่วยทำให้เกิดกระบวนการต่างๆในการจัดการธุรกิจน้อยลง มีระยะเวลาที่สั้นลง จึงทำให้สามารถประหยัดงบประมาณและค่าใช้จ่ายในการบริหารงานได้ ตลอดจนสามารถทำให้เกิดสภาพคล่องในสินทรัพย์ต่าง ๆ ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Tokenization
เครือข่าย Bitkub Chain สามารถตรวจสอบและสร้างบล็อกใหม่ขึ้นบนเครือข่ายได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที พร้อมกับรักษาค่าธรรมเนียมให้อยู่ในระดับต่ำต่อธุรกรรม ด้วยการใช้ระบบ Consensus Algorithm แบบ Proof of Authority
โดย Bitkub Chain จะใช้ Consensus Algorithm แบบ POSA (Proof of Staked Authority) จะมีผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Validator Node) โดยในระบบ POSA นี้ ผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญก็คือ Validator Node หรือผู้ถือครอง Node ที่ทำหน้าที่ยืนยันและตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมบน Bitkub Chain
สำหรับผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็น Validator Node ต้องถือครอง (Stake) ถือเป็นเงื่อนไขหลัก คือ ต้องมาซื้อเหรียญ KUB โดยบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี ผู้ขายเหรียญ กำหนดโควต้าให้ผู้ต้องการเป็น Validator Node สามารถซื้อ KUB จำนวนสูงสุดได้ที่ 250,000 KUB ต่อราย แต่หากต้องการซื้อต่ำกว่าจำนวนนี้ก็สามารถทำได้ แต่ก็จะได้สิทธิ์เป็น Validator Node ที่ลดหลั่นไปตามสัดส่วนของจำนวนเหรียญ KUB ที่ถือนั่นเอง
Validator Nodes ทำหน้าที่คอยตรวจสอบธุรกรรมบนเครือข่าย Bitkub Chain ซึ่งผู้ที่เป็นผู้ตรวจสอบจะได้รับผลตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมบนเครือข่ายในรูปแบบของเหรียญ KUB ยิ่งมีจำนวนธุรกรรมสูง ผู้ตรวจสอบก็จะได้รับ KUB มากขึ้นตาม และมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงสุดที่ 40% จากการถือเหรียญตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาจากการถือ KUB
เหรียญ KUB เข้าเทรดครั้งแรกในกระดาน Bitkub วันที่ 20 พ.ค. 2564 เปิดการซื้อขายครั้งแรกด้วยราคา 30 บาท โดยกำหนดจำนวนเหรียญไว้ทั้งหมด 1,000 ล้านเหรียญ หลังจากการเปิดซื้อขายในระยะสั้นๆ เหรียญ KUB ราคาร่วงลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 บาท และแตะจุดต่ำสุดที่ราคา 12-13 บาท ก่อนวันที่ 31 ก.ค. 2564 ทาง Bitkub ประกาศว่า เตรียมจะเผาเหรียญ KUB ทิ้ง 89% ของจำนวนทั้งหมดให้เหลือเหรียญในระบบแค่ 110 ล้านเหรียญ
โดยเหรียญ KUB เคยขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลอยู่ที่ 580 บาทในช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2564 หลังจากนั้นเรียกว่าราคาเริ่มเข้าสู่วัฏจักรขาลงสะท้อนจากราคาในช่วงปลายเดือน พ.ค. ปีนี้ที่หลุดลงไปแตะระดับ 90 บาทนิดๆ นับเป็นการหลุดราคา 100 บาทครั้งแรก ในรอบประมาณ 6 เดือนของ KUB หลังไต่ระดับตัวเเลขหลักร้อยมาได้ตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว
ประกอบสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งมีข่าวลบออกมาเพิ่มเติมอีก เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังแก้เกณฑ์เข้มขึ้นเพื่อกำกับดูแล “โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้” (utility token พร้อมใช้) ทั้งในตลาดแรกและตลาดรองที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะหนึ่งในสาระของกฎข้อสำคัญที่กำหนดว่า
“Utility Token พร้อมใช้” ที่มีการออกเสนอขายก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ แต่ยังไม่ได้นำไปจดทะเบียนซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายฯ และโทเคนดิจิทัลที่มีการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับศูนย์ซื้อขายฯ ที่กำหนดไว้ด้วย ซึ่งตีความได้ว่ากฎเกณฑ์ใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ย้อนหลังอย่างเหรียญ KUB และเหรียญเจ้าอื่นๆ ที่ออกมาและเข้าเทรดแล้ว
อีกทั้งล่าสุดวันที่ 5 พ.ค.2565 คณะกรรมการเปรียบเทียบของ ก.ล.ต. มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BO)และบอร์ดอีก 5 คน มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BO) รวมเป็นเงินกว่า 15 ล้านบาท หลังพบการกระทำผิดตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล
เนื่องจากกระทำในการจดทะเบียน Bitkub Coin (เหรียญ KUB) เข้าซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. และไม่ได้คำนึงถึงมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
โดยสถานการณ์ปัจจุบันยังคงไม่มีใครออกมาให้ความชัดเจนได้ว่าชะตากรรมของเหรียญ KUB ที่เทรดบนกระดาน Bitkub ที่ ก.ล.ต. ฟันว่าผิดตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล
เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ราคาเหรียญ KUB ปัจจุบันร่วงลงมาที่ย่ำอยู่ประมาณ 100 บาท/เหรียญ กับราคาที่ Validator Node จำนวน 21 ราย ยอมจ่ายเงินมาซื้อเหรียญ KUB จากบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี ในช่วงระหว่างต้นเดือน ก.พ.ถึงวันที่ 15 ก.พ. ปีนี้ ตามเงื่อนกรอบเวลาที่กำหนดให้ซื้อได้ คาดว่าจะซื้อในช่วงระหว่างราคา 270-290 บาทต่อ KUB หรืออาจมีบางรายซื้อแพงกว่านี้บ้างได้
แต่ทุกรายจะได้รับ Discount ประมาณ 10% จากราคา KUB ที่เทรดในกระดานช่วงนั้นที่เทรดที่ราคาประมาณ 300-310 บาทต่อ KUB เพราะเป็นการซื้อขายจำนวนมาก หรือการซื้อในแบบ Bulk ดังนั้นลองมาตั้งสมมติฐานตัวอย่างคำนวณในกรณีที่ Validator Node ทั้ง 21 ราย ได้ใช้สิทธื์ซื้อ KUB เต็มโควต้าจำนวน 250,000 KUB ต่อราย
โดยอ้างอิงราคาต้นทุนซื้อจริงของบางรายที่ 292 บาท/KUB ต้องใช้เงินซื้อ KUB ประมาณ 73 ล้านบาท เมื่อนำมาเปรียบเทียบราคา KUB ในกระดานปัจจุบันที่ประมาณ 100 บาทต่อ KUB มูลค่าเหรียญในมือจะลดลงเหลือเพียง 25 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเห็นว่าเพียงรายเดียวก็ขาดทุนกันไปถึง 48 ล้านบาท จากการถือครอง KUB
แต่หากนับรวม Validator Node ทั้ง 21 ราย อ้างอิงตัวเลขขาดทุนตัวอย่างข้างต้น ทุกรายจะขาดทุนรวมกันใกล้เคียงหรืออาจถึงตัวเลข 1,000 ล้านบาท ถือว่าสั่นคลอนความเชื่อของคนถือเหรียญอย่างมากเพราะในทางหลักบัญชีแล้ว โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมีการบันทึกผลการขาดทุนจากการลงทุนไว้ในงบการเงินอีกด้วย
โดยหากดูราคา KUB ในเดือนก.พ. ปีนี้อยู่ที่ประมาณ 300 บาท/เหรียญ เปรียบราคาปัจจุบันราคาดิ่งมาอยู่ที่ราว 100 บาท/เหรียญ แค่เพียง 4 เดือน ราคาทรุดลงมาเกือบ 70% แน่นอนว่าบริษัทที่ซื้อเหรียญ KUB คงต้องมีผลการขาดทุนแน่นอน
ด้าน 'กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โปรเอ็น คอร์ป(PROEN) หนึ่งใน Validator Node ที่เข้าไปซื้อเหรียญ KUB ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว "SPOTLIHGT" จากกรณีที่บริษัทเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ บริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด (Bitkub)เป็นพันธมิตรเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมแบบ PoSo (Proof of Stake Authority) ในระบบการตรวจสอบธุรกรรมบล็อกเชนของ Bitkub โดยเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Staking) มีเงื่อนไขที่บริษัทต้องเข้าซื้อเหรียญ KUB จาก Bitkub จำนวน 250,000 เหรียญ มูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 72.95 ล้านบาท และกำหนดเงื่อนไม่ให้บริษัทขาย รวมถึงไม่ให้แลกเปลี่ยนเหรียญดังกล่าวเป็นระยะเวลาก่อนวันที่ 31 พ.ค.2566
โดยในวันที่ 31 พ.ค. 2565 บริษัทได้เซ็นสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญของสัญญาข้อตกลงกับ บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี โดย Bitkub ตกลงยืนยันการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำเมื่อครบกำหนดภายใน 31 พ.ค. 2566 ที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่บริษัทลงทุนไว้
ซึ่งอ้างอิงกับราคาซื้อขายแลกเปลี่ยนบนศูนย์กลางซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub ณ วันที่บริษัทลงทุน แต่หากราคาซื้อขายที่อ้างอิงสูงกว่าราคาขั้นต่ำที่รับประกัน บริษัทสามารถขายทำกำไรได้
ทั้งนี้ บริษัททำสัญญาซื้อ KUB ในเดือนก.พ. 2565 ที่ผ่านมา โดยเป็นการซื้อรายการขนาดใหญ่ จาก บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี ที่จัดสรรเหรียญไว้ขายให้กับ Node Validator ที่ราคา 291.8 บาท/KUB จำนวน 2500,000 เหรียญ KUB/ราย ขณะที่ Node Validator ทุกรายที่เหลือก็น่าจะได้รับการแก้ไขสัญญาให้มีการการันตีราคารับซื้อกลับเหรียญ KUB ด้วยเช่นกันตามเงื่อนไขราคาที่ตกลงกันแต่ละราย
"จริงๆ แล้วทาง Bitkub มีความตั้งใจที่จะการันตีราคารับซื้อกลับเหรียญ KUB อยู่แล้ว แต่มีหลายกระแสข่าวเร่งให้ Bitkub ต้องออกมาทำเร็วขึ้น เพราะการมี Validator Node เป็นสร้างความมั่นใจให้ระบบ Bitkub Chain เพราะหาก Validator Node มีความรู้สึกว่าไม่มั่นใจในระบบแล้วจะส่งผลกระทบต่อระบบ Bitkub Chain โดยทาง Bitkub ก็เล็งเห็นความเสี่ยงตรงอยู่แล้วเตั้งแต่แรกเลยต้องการที่รับความเสี่ยงตรงนี้เอง โดยฝั่ง PROEN ไม่ได้เป็นฝ่ายเรียกร้องให้ Bitkub มาการันตี แต่เป็นฝ่าย Bitkub ที่แจ้งมาว่าจะการันตีราคาซื้อคืน KUB เอง" ซีอีโอ PROEN กล่าวกับทีมข่าว SPOTLIHGT
อย่างไรก็ตามบริษัทมีนโยบายการลงทุนในระยะยาวในการถือเหรียญ KUB ไม่ได้มองที่ราคาเหรียญเป็นหลักเพราะมองโอกาสในการพัฒนาแพลตฟอร์มทำธุรกิจร่วมกันในอนาคตกับ Bitkub แต่ภาพที่ออกมาหลังจากได้มีการแก้ไขสัญญา ทำให้มีภาพตกลงระหว่าง 2 ฝ่ายดูดีขึ้น เพราะบริษัทไม่ต้องไปแบกราคาต้นทุนเพราะในวันครบสัญญาบริษัทก็จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวนที่ 72.95 ล้านบาท บวกกับผลตอบแทนที่ได้กลับมาจากระหว่างการถือเหรียญด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
1.SCBX ยังไม่ตัดสินใจซื้อ Bitkub รอผลสรุปต่อราคา มิ.ย. นี้ "ไปต่อหรือล้มดีล"
2.จับตาดีล SCBX ซื้อ Bitkub สะเทือน ราคา 1.8 หมื่นล้าน แพงไปมั้ย?
3.ด่วน! ก.ล.ต. เชือด "Bitkub" สั่งปรับบอร์ด 15 ล้าน เหตุนำ KUB เข้าเทรดผิดกฎ
4.วัดฟอร์ม Binance ควง "กัลฟ์" บุกไทยมาท้าดวล Bitkub ที่ขึ้นยานแม่ SCBX