สภาพอากาศของประเทศไทยระยะนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และมีคำเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันทำให้หลายคนกังวลว่าประเทศไทยกำลังจะเจอกับน้ำท่วมใหญ่เหมือนในปี 2554 หรือไม่ ?
ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่า "น้ำท่วม" ช่วงเดือนสิงหาคม 2554 ขณะนั้นประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมขัง 5.59 ล้านไร่ และเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ "น้ำท่วม" ในเดือนสิงหาคมปีนี้ 2565 พบว่าประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมขังแล้ว 1.85 ล้านไร่ หรือต่างกันราวๆ 3 เท่าตัว ดังนั้นสถานการณ์ในปีนี้ยังห่างไกลกับเมื่อ 11 ปีที่ผ่านมานัก แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะบทเรียนจากมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมหาศาล ในแบบที่ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีก
ทีมงาน SPOTLIGHT รวบรวมสถิติความเสียหายที่เกิดขึ้นมาย้อนดูกันอีกครั้ง
เหตุการณ์มหาอุทกภัย ปี 2554 นับเป็นภัยน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปีของประเทศไทย โดยฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง และ มีเหตุการณ์อ่างเก็บน้ำแตกทะลักจนน้ำไหลบ่าท่วมทั่วไทย โดยเริ่มจากเดือนกรกฎาคม และหนักที่สุดราวเดือน กันยายน และคลี่คลายลงในช่วงปลายปี คือราวเดือน พฤศจิกายน ถึงธันวาคม 2554
ธนาคารโลก (World Bank) ถึงกับประเมินว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 มีมูลค่าสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาทเป็น “มหาอุทกภัย” ที่เลวร้ายที่สุด ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ
ภาพน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม แหล่งการผลิตที่สำคัญของประเทศในพื้นที่ภาคกลาง , ภาพเครื่องบินในสนามบินดอนเมืองถูกน้ำท่วมถึงล้อ , น้ำท่วมมาถึงถนนวิภาวดีรังสิต จนถึงเซ็นทรัลลาดพร้าว ไม่มีใครเคยคาดคิดว่าจะได้ประสบกับเหตุการณ์น้ำท่วมหนักขนาดนี้มาก่อน
เศรษฐกิจไทยในปี 2554 ทั้งปี ขยายตัวได้เพียง 0.1% แน่นอนว่าเพราะการติดลบอย่างหนักในไตรมาสที่สี่ของปี 2554 ที่เจอน้ำท่วม GDP หดตัวร้อยละ 9.0 ผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในราคาประจำปี คิดเป็นมูลค่า 328,154 ล้านบาท
ภัยธรรมชาติกลายเป็นอีก 1 ปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยและโลกในเวลานี้เช่นกัน เหมือนที่เราเห็นภาพความเสียหายในเกาหลีใต้ และ ปากีสถาน ที่ต้องเจอน้ำท่วมไปในช่วงนี้เช่นกัน หวังว่าบทเรียนของไทยในปี 2554 จะทำให้ทุกฝ่ายรับมือได้ไหว เพราะภัยธรรมชาติควบคุมไม่ได้
ที่มาข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย , สศช. , กรุงเทพธุรกิจ
ดูคลิปน้ำท่วมที่ปากีสถาน