Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ส่องค่าไฟฟ้าประเทศไทยผ่าน 3 นายกฯ  “ พล.อ.ประยุทธ์ -เศรษฐา-แพทองธาร ”
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ส่องค่าไฟฟ้าประเทศไทยผ่าน 3 นายกฯ “ พล.อ.ประยุทธ์ -เศรษฐา-แพทองธาร ”

7 ม.ค. 68
22:59 น.
|
799
แชร์

ข่าวดีของประชาชนหากว่าค่าไฟฟ้ากำลังจะลดลงเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วยได้จริง ตามที่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้พูดไว้และรัฐบาลนายกฯแพทองธาร ก็รับลูกทันทีโดยเตรียมหารือพูดคุยกันในประเด็นนี้แล้ว ซึ่งหากย้อนไปในตอนหาเสียงเลือกตั้งใหญ่นโยบายลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมันให้ประชาชนเป็นสิ่งที่ทางพรรคเพื่อไทยได้เคยประกาศไว้อยู่แล้วเช่นกัน แนวโน้มค่าไฟในยุคนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร จึงอาจเป็นยุคที่ค่าไฟถูกลงในรอบหลายปีเลยทีเดียวหากค่าไฟจะลดลงเหลือ 3.70 บาทได้จริง  

ส่องค่าไฟฟ้าประเทศไทย ผ่าน 3 นายกฯ
“พล.อ.ประยุทธ์ -เศรษฐา-แพทองธาร”

SPOTLIGHT รวบรวมสถิติค่าไฟฟ้าในช่วงปี 2566 ถึง 2568 ประเทศไทยเผชิญกับหลายปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงเป็นขาขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยภายใต้การบริหารของนายกฯ ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายเศรษฐา ทวีสิน จนถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งในแต่ละช่วงเวลามีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนเชื้อเพลิงและการใช้นโยบายพลังงานดังนี้

ปี 2566: ภาวะต้นทุนพลังงานสูง ดันค่าไฟเฉียด 5 บาท/หน่วย

ในปี 2566 ในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นช่วงที่ค่าไฟฟ้าในประเทศไทยมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงสูงขึ้นจากปัญหาสงครามและภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งช่วงเวลานั้นรัสเซียบุกโจมตียูเครนเต็มรูปแบบต่อเนื่องมาตั้งแต่ ก.พ.65 ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยในช่วงเดือนมีนาคม ถึง เมษายน ปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเจออากาศร้อนจัดในรอบหลายปีพอดี ประชาชนก็ต้องเจอกับค่าไฟฟ้าที่สูงลิ่วถึง  4.77 บาทต่อหน่วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ

นี่จึงทำให้กฟผ.เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้า วงเงินประมาณ 1.3 แสนล้านบาท แทนประชาชนจาก 5 งวด หรือ 20 เดือน งวดละ 2.7 หมื่นล้านบาท เป็น 6 งวด หรือ 24 เดือน งวดละ 2.2 หมื่นล้านบาท  เพื่อส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ลดลง 7 สตางค์ต่อหน่วย  จากเดิม 4.77 บาทต่อหน่วย เป็น 4.70 บาทต่อหน่วย และรัฐมีความพยายามที่จะกดค่าไฟให้ลดลงต่อเนื่อง ทั้งจากคำนวณค่า FT และมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง 

ค่าไฟในระดับสูงกว่า 4 บาทต่อหน่วยก็ยังถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง จนท้ายสุดของรัฐบาลนายกฯลุงตู่ ก็ได้ลดค่าไฟในรอบเดือน กันยายน - ธันวาคม 2566 ลงส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วยลดลงเหลือ 3.99 บาท ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.18 กันยายน 2566  

ปี 2567: หลายมาตรการช่วยเหลือและการลดค่าไฟฟ้ายืน 4.18 บาท/หน่วย

หลังจากค่าไฟลงมาต่ำกว่า 4 บาท แต่ในปี 2567 ค่าไฟมีเหตุที่จะต้องปรับขึ้นอีกตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ทำให้ในยุครัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสิน  คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.มีการปรับสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าใหม่เพื่อให้ค่าเอฟทีไม่ปรับขึ้นแรงเกินไป จนทำให้ค่าไฟต่อหน่วยไม่แพงขึ้นจากเดิมมากนัก โดยมีการใช้วิธีการทั้งให้ กฟผ.รับภาระแทนประชาชนต่อเนื่อง, การปรับปรุงราคาเชื้อเพลิงอย่าง Spot LNG ใหม่ , ปรับราคาก๊าซธรรมชาติเข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas โดยใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย (Gulf Gas) ทำให้ราคา Pool Gas ลดลง ซึ่งมาตราการเหล่านี้ทำให้ในปี 2567 ในยุครัฐบาล นายกฯเศรษฐา สามารถยืนระยะค่าไฟต่อหน่วยไว้ที่ 4.18 บาท ได้เกือบตลอดปี ยาวมาจนถึงยุค นายกรัฐมนตรีฯแพทองธาร ชินวัตร 

ปี 2568: ลุ้นค่าไฟ 3.70 บาท/หน่วย  

สำหรับในปี 2568 ทิศทางค่าไฟในประเทศไทยมีแนวโน้มปรับลดลงจากมาตรการภาครัฐ ที่ไม่ต้องการให้ค่าไฟสูงขึ้นอยู่แล้ว โดยค่าไฟในรอบเดือน ม.ค.- เม.ย. 2568 จะลดลงจาก 4.18 บาทต่อหน่วย มาเป็น 4.15 บาทต่อหน่วย  

แต่ล่าสุดอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ออกมาประกาศก่อนว่า จะลดค่าไฟฟ้าลงอีกเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วยภายในปี 2568 โดยย้ำว่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน  แผนการลดค่าไฟฟ้านี้ได้รับความสนใจและเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายที่ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลและกระทรวงพลังงานยังไม่ได้ให้คำชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนดังกล่าว ทั้งนี้ นายทักษิณแสดงความมั่นใจว่านโยบายนี้สามารถทำได้จริง หากมีการบริหารจัดการที่เหมาะสมและลดต้นทุนพลังงานในระบบ

อย่างไรก็ตาม การประกาศดังกล่าวสร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดหุ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มูลค่าหุ้นปรับตัวลดลงยกแผง

แนวโน้มค่าไฟฟ้าในประเทศไทยปี 2568 

ข้อมูลจาก SCB EIC เคยวิเคราะห์ทิศทางค่าไฟฟ้าในปี 2568 ไว้ โดยคาดว่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับปี 2567 ที่ประมาณ  4.1 - 4.2 บาทต่อหน่วย เพราะนโยบายของรัฐบาลมุ่งลดราคาพลังงานและค่าครองชีพ 

ทั้งนี้มีการประเมินต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศ (Pool gas) คาดว่าจะอยู่ในช่วง 310-320 บาทต่อ MMBTU และรัฐบาลอาจทยอยคืนต้นทุนค้างชำระให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ปตท. อยู่ที่ประมาณ 5-20 สตางค์ต่อหน่วย หากมีการคืนต้นทุนค้างชำระเพิ่ม ค่า Ft ในปี 2568 อาจปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.28-4.38 บาทต่อหน่วยในบางงวด

ส่วนในระยะยาว คือตั้งแต่ปี 2569 - 2571  คาดว่าค่าไฟฟ้าจะทยอยลดลงต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยได้ราวปี 2571 เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติโลกที่ลดลงและการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2567) ซึ่งมุ่งลดสัดส่วนการผลิตจากพลังงานฟอสซิล การเปลี่ยนผ่านไปสู่เชื้อเพลิงสะอาด เช่น ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ อาจเพิ่มต้นทุนการผลิตในระยะเริ่มต้น แต่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและตอบสนองต่อเป้าหมายด้านความยั่งยืนในระยะยาว

แชร์
ส่องค่าไฟฟ้าประเทศไทยผ่าน 3 นายกฯ  “ พล.อ.ประยุทธ์ -เศรษฐา-แพทองธาร ”