Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
จุฬาฯ เปิดผลสำรวจ พบตำแหน่งงาน ‘Big Data - Cyber Security’ มาแรง
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

จุฬาฯ เปิดผลสำรวจ พบตำแหน่งงาน ‘Big Data - Cyber Security’ มาแรง

13 ม.ค. 68
12:26 น.
|
298
แชร์

ภายในงานเสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 28 ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงเทรนด์ของตลาดแรงงานในอนาคต โดยระบุว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นปัจจัยหลักที่เปลี่ยนแปลงบทบาทงานและทักษะในอนาคตมากที่สุด

ดร.วิเลิศ เปิดเผยว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ได้ทำงานร่วมกับ World Economic Forum เพื่อจัดทำรายงาน “Future of Jobs 2025” ในการนำเสนอแนวทางเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในระหว่างปี 2025 - 2030 โดยทำการสำรวจตัวอย่าง 1,000 บริษัท จาก 55 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมพนักงาน 14 ล้านคน ใน 22 อุตสาหกรรม

โดยมีผลการวิเคราะห์ที่สำคัญของรายงานฉบับดังกล่าว ดร.วิเลิศ ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมจะทำให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ 170 ล้านตำแหน่ง ขณะเดียวกัน 92 ล้านตำแหน่งงานจะหายไป เนื่องจากระบบอัตโนมัติและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยการเติบโตสุทธิของการจ้างงานคิดเป็น 7% หรือเท่ากับ 78 ล้านตำแหน่งงานทั่วโลก

สำหรับปัจจัยหลักที่เปลี่ยนแปลงบทบาทงานและทักษะในปี 2030 มากที่สุด ดร.วิเลิศ กล่าวว่ามี 5 ปัจจัยสำคัญ โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ และนวัตกรรมด้านพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะเข้าเปลี่ยนแปลงบทบาทของตำแหน่งงาน และทักษะในอนาคตมากที่สุด รองลงมาคือ (2) การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งความต้องการในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ตำแหน่งงานวิศวกรด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียนเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น

ถัดมาคือ (3) ความผันผวนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจยังคงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต ขณะเดียวกัน (4) การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศยังส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอีกด้วย สำหรับปัจจัยสุดท้ายที่จะเปลี่ยนแปลงบทบาทงานและทักษะในปี 2030 คือการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทั้งการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อรูปแบบธุรกิจ

จาก 5 ปัจจัยสำคัญดังกล่าว ทำให้ความต้องการตำแหน่งงานและทักษะในตลาดเปลี่ยนแปลงไป โดยภายในปี 2030 จำนวน 2 ใน 5 ของทักษะที่มีอยู่จะถูกเปลี่ยนแปลง ขณะที่ทักษะด้านเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์จะมีความต้องการมากขึ้น เช่น Big Data การคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดอย่างสร้างสรรค์ ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล รวมถึงความฉลาดในการใช้งานเทคโนโลยี

ดร.วิเลิศ ระบุว่าประเทศไทยควรเร่งปรับเปลี่ยนผ่าน 5 กลยุทธ์สำคัญเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ (1) สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบ Holistic Skill Change หรือการอัปสกิลของบุคลากรในทุกมิติ ไม่ใช่แค่ทักษะใดทักษะหนึ่งเท่านั้น ถัดมาคือ (2) การเร่งสร้างองค์กรที่มีระบบพัฒนาทักษะอนาคตของบุคลากร มีความยืดหยุ่น และพร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกัน (3) งานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ควรใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ รวมถึง (4) ส่งเสริมให้แรงงานไม่ยึดติดกับบทบาทการทำงานในแบบเดิม ๆ แต่มีความยืดหยุ่น พร้อมรับการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา และสุดท้าย (5) คือการผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ให้เข้ากับการทำงาน เพื่อสร้างนวัตกรรมที่เพิ่มคุณค่า และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

บทบาทของมหาวิทยาลัยในอนาคต

ในช่วงท้ายของงานเสวนา ดร.วิเลิศ ยังกล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในวันที่หลายคนมองว่าสถาบันอุดมศึกษาและปริญญาไม่มีความจำเป็นแล้ว โดยระบุว่ามหาวิทยาลัยยังคงมีความจำเป็น ในฐานะสถาบันแห่งการบ่มเพาะความรู้ อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับเทรนด์ของตลาดแรงงานในอนาคต ดังนั้น Non Degree หรือหลักสูตรประกาศนียบัตรจึงมีความจำเป็นมากขึ้นสำหรับมหาวิทยาลัย เพื่อตอบโจทย์การบ่มเพาะความรู้และทักษะแห่งอนาคตให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง

อ้างอิง : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์
จุฬาฯ เปิดผลสำรวจ พบตำแหน่งงาน ‘Big Data - Cyber Security’ มาแรง