Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
จีนแบนน้ำเชื่อมจากไทย กว่า 1 เดือนยังไร้ข้อสรุป เจ้าของธุรกิจไทยอ่วม!
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

จีนแบนน้ำเชื่อมจากไทย กว่า 1 เดือนยังไร้ข้อสรุป เจ้าของธุรกิจไทยอ่วม!

19 ม.ค. 68
16:32 น.
|
347
แชร์

เป็นเวลาเกินกว่า 1 เดือนแล้ว ที่ประเทศจีนระงับการนำเข้าน้ำเชื่อมจากประเทศไทย โดยหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารส่งออก-นำเข้าของจีน (The Food Safety Bureau of The General Administration of Customs of The People’s Republic of China: GACC) ได้สั่งระงับ น้ำเชื่อม หรือ Syrup และ น้ำตาลผสมล่วงหน้า  หรือ Premixed Powder จากไทยตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2567 โดยอ้างว่าพบความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจากผู้ผลิตในประเทศไทย 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการผลิตน้ำเชื่อมและน้ำตาลผสมล่วงหน้าในไทยจำนวนมาก บางรายถึงขนาดที่เรือสินค้าไปถึงจีนแล้วแต่ขึ้นท่าไม่ได้  จีนถือเป็นตลาดส่งออกหลักของสินค้าชนิดนี้ และเมื่อเวลาล่วงเลยมาเกิน 1 เดือนยังไม่มีทีท่าว่า ทางการจีนจะปลดล็อคการระงับการนำเข้าน้ำเชื่อมจากไทยได้เมื่อไหร่ ทำให้มีความเป็นห่วงว่าปัญหานี้อาจส่งผลกระทบลามไปทั้งอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายทั้งระบบหรือไม่? 

SPOTLIGHT ได้รับข้อมูลจากกลุ่มผู้ประกอบการผลิตน้ำเชื่อมในประเทศไทย ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ SPOTLIGHT Live Talk เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผลกระทบ และแนวทางออกของปัญหานี้ 

ไม่ควรแบนน้ำเชื่อมจากประเทศไทย แบบเหมารวมทุกโรงงาน

ความเห็นของผู้ประกอบการที่พูดคุยกับ SPOTLIGHT  คุณทศพร เรืองพัฒนานนท์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมน้ำตาลแปรรูป  มองว่า โรงงานทุกโรงของประเทศไทยจะต้องลงทะเบียนกับ GACC ที่จีนอยู่แล้ว ดังนั้นการควบคุมคุณภาพของสินค้าทั้งระบบสามารถทำได้โดยทางการจีนโดยตรง เพราะเพียงแค่เค้าลงบันทึก หรือยกเลิกหมายเลขทะเบียนดังกล่าวผู้ประกอบการรายนั้นๆก็ไม่สามารถส่งออกไปจีนได้แล้ว 

ที่สำคัญทางสมาคมฯได้มีการตรวจสอบกันเองพบว่า มีผู้ประกอบการ 2 รายจากผู้ประกอบการทั้งหมด 44 ราย คิดเป็น4.55%  ที่เข้าข่ายจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้า หากทางการจีนระงับใบอนุญาตของสองรายนี้ก็สามารถทำได้  แต่ขณะนี้โรงงานเกรด เอ ที่ไม่เคยมีประวัติเรื่องคุณภาพสินค้ามาก่อนเลยต้องถูกผลกระทบไปด้วยทั้งหมด ทั้งที่หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเรียกให้ทางสมาคมฯเข้าชี้แจงได้ทันที ดังนั้นการที่ทางการจีนเลือกที่จะแบนด์โรงงานที่เหลือทั้ง 42 โรงโดยไม่ได้พิจารณา ประวัติการส่งออกที่ดี ของโรงงานเหล่านี้ ย่อมเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลแน่นอน

“ธุรกิจน้ำตาลเป็นธุรกิจของคนที่มีเครดิต ในวงการสูงมาก ซื้อขายกันปีละหลายร้อยล้านต่อปีต่อราย ที่สำคัญโรงงานเหล่านี้ รักษาประวัติของตัวเองอย่างดีมาตลอด นอกจากนี้โรงงานเหล่านี้ยังสร้างผลประโยชน์ ทำรายได้จากการส่งออกเข้าประเทศไทยปี ละหลายหมื่นล้าน รวมทั้งซื้อสินค้าจากโรงงานในไทยในปริมาณมหาศาล การช่วยเหลือแก้ปัญหาให้โรงงานในกลุ่มของพวกเราจึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยตรง อยู่แล้ว ส่วนโรงงานที่มีปัญหาทางสมาคมก็จะดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด จนกว่าจะได้ข้อยุติ ในลำดับถัดไป”คุณทศพร ให้ข้อมูลกับ SPOTLIGHT 

อุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งระบบเชื่อมโยงกับน้ำเชื่อมไทย 

ข้อมูลจากที่ทางสมาคมอุตสาหกรรมน้ำตาลแปรรูป  อ้างอิงจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่า น้ำเชื่อมเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากน้ำตาลทราย และประเทศไทยส่งออกไปในต่างประเทศจำนวนมาก การที่สินค้าน้ำเชื่อมไม่สามารถส่งออกไปยังตลาดหลักเช่นจีนได้ อาจส่งกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายทั้งระบบของไทย และอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดโลกได้เช่นกัน เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ติด Top 3 ของโลก โดยเบอร์ 1 คือ บราซิล รองลงมา เป็นไทยกับอินเดียสลับสถานะกันไปมา 

ในปี 2567 ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำตาลได้ทั้งหมด 8.5 ล้านตันหรือเทียบเท่ากับอ้อย 85 ล้านตัน  ในจำนวนนี้ 58.82% ถูกส่งออกเป็นน้ำตาลทรายและน้ำตาลดิบ คิดเป็นปริมาณ 5 ล้านตัน  ส่วนอีก 17.65% เป็นการใช้ในภาคครัวเรือนหรือคิดเป็น 1.5 ล้านตันสัดส่วนที่ใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปอยู่ในสัดส่วน 11.76% หรือ 1,000,000 ตันเท่ากับสัดส่วนที่ใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศทั้งหมด

ผลกระทบในภาพรวมของอุตสาหกรรมน้ำตาล กับการที่สินค้าทั้งสองประเภทนี้ถูกแบนจะมีผลกับราคาน้ำตาล และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในภาพรวม กล่าวคือ ถ้านับจากปริมาณน้ำตาลที่เราใช้ต่อปีคือ 1 ล้านตันในปี 2567 ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำตาลที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศเราทั้งประเทศ ก็คือ 1 ล้านตันเท่ากัน การที่คาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นในปี 2568 เป็น 10.6ล้านตัน เพิ่มขึ้นมากถึง 20% ของปี 2567 แต่กำลังการซื้อกลับลดลงมากถึง 12% ย่อมมีผลกระทบต่อราคาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจมีผลต่อการกำหนดราคาของ กอน.(คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) และอาจกระทบราคารับซื้ออ้อยต่อตันที่ลดลงได้อีก มีผลต่อชาวไร่อ้อยไม่น้อยกว่า 2แสนครัวเรือนทั่วประเทศแน่นอน 

ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเช่นการขนส่งจะมีปริมาณเที่ยวที่หายไปไม่ต่ำกว่า 31,250 เที่ยวต่อปี คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 200 ถึง 300ล้านบาท การจัดเก็บภาษีเงินได้ของภาครัฐก็จะลดลงไม่ต่ำกว่า อีก1200ล้านบาทโดยประมาณ

ความหวังหารือทางออกร่วมกับหน่วยงานรัฐฯ จันทร์ ที่ 20 ม.ค.นี้ 

ขณะที่วันจันทร์ที่ 20 มกราคม 2568 เวลา 14.30 น. กรรมมาธิการเศรษฐกิจ เชิญสมาคมฯชี้แจ้งข้อเท็จจริงที่รัฐสภาโดยผู้ประกอบการมีความหวังว่า ปัญหาสินค้าน้ำเชื่อมจากไทยโดนแบนในตลาดจีนจะได้รับการแก้ปัญหา 

ซึ่งคุณทศพร และผู้ประกอบการมองตรงกันว่า สิ่งที่อยากให้ภาครัฐฯสนับสนุนในอนาคตคือ การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมน้ำตาลแปรรูปสามารถขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆได้มากขึ้น เพราะเชื่อว่า ยังมีความต้องการจากตลาดทั่วโลกอีกมาก จากการสำรวจเชิงวิเคราะห์พบว่ายังมีมาร์เก็ตแคปยู่อีกหลายประเทศการช่วยเหลือดังกล่าวนอกจากจะเป็นสร้างรายได้จากการส่งออกให้ประเทศแล้ว ยังจะเป็นช่องทางการขายสินค้า ที่มีการแปรรูป และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทยในอนาคต 

ต้องจับตาการแก้ปัญหากันต่อไปแต่ที่แน่ๆ ตอนนี้นอกจากน้ำเชื่อมแล้ว  ทุเรียนจากไทย ที่นำเข้าไปยังจีัน ก็กำลังถูกตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย จาก หน่วยงาน GACC ของจีนด้วยเช่นกัน 

ติดตามการสัมภาษณ์แขกรับเชิญที่เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจน้ำเชื่อมและน้ำตาลผสมล่วงหน้าในรายการ SPOTLIGHT Live Talk วันอังคารที่ 21 ม.ค.68 เวลา 20.00 น. ทางYoutube และ Facebook อมรินทร์ทีวี และ SPOTLIGHT

แชร์
จีนแบนน้ำเชื่อมจากไทย กว่า 1 เดือนยังไร้ข้อสรุป เจ้าของธุรกิจไทยอ่วม!