หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา และส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ หลายคนที่พักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมอาคารสูงต่างพากันแชร์คลิปนาทีระทึก บางคนรู้สึกหวาดหวั่นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนมีคำถามตามมาว่า "ราคาห้องชุดจะตกหรือไม่?" หรือ "ใครจะยังกล้าซื้อคอนโดอีก?"
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ยืนยันว่า เหตุการณ์ครั้งนี้จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดอาคารชุดอย่างมีนัยสำคัญ และราคาห้องชุดในกรุงเทพฯ จะไม่ตกต่ำอย่างที่หลายคนวิตกกังวล พร้อมเตือนว่า "อย่า Panic ขายครึ่งราคา!" เพราะอาจทำให้เจ้าของทรัพย์เสียเปรียบทางการเงินโดยไม่จำเป็น
ดร.โสภณ ชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์คล้ายลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น สึนามิที่ภูเก็ตในปี 2547 แม้จะมีผู้เสียชีวิตถึง 5,400 และบาดเจ็บอีกประมาณ 8,000 คน ในตอนนั้นหลายคนก็ไม่กล้าไปเที่ยวภูเก็ตยังเชื่อว่าราคาที่ดินจะตกต่ำ แต่ปรากฏว่า ในปีถัดไปราคาที่ดินในฝั่งตะวันตกแถบทะเลอันดามันแทบไม่ขึ้นในหนึ่งปีที่ผ่านมาแต่ฝั่งตะวันออกราคาที่ดินยังขึ้นตามปกติ และจากการสำรวจต่อเนื่องทุกปีเป็นเวลา 20 ปีตั้งแต่ 2547 ถึง 2567 ปรากฏว่าราคาที่ดินตามหาดต่างๆ ของโดยเฉลี่ยในภูเก็ตเพิ่มขึ้นปีละ 10%
เช่นเดียวกับกรณีแผ่นดินไหวใหญ่ในเนปาลเมื่อปี 2558 ที่แม้จะรุนแรงกว่าเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ มาก ก็ทำให้ราคาห้องชุดชะลอแค่ชั่วคราวก่อนจะฟื้นตัวและปรับขึ้นตามปกติ
ดร.โสภณ ย้ำว่า อาคารชุดส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ สร้างตามมาตรฐานด้านโครงสร้างอาคารสูงและไม่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ หรือหากมี ก็เป็นเพียงความเสียหายเล็กน้อยที่สามารถซ่อมแซมได้ ไม่ได้เป็นเหตุผลเพียงพอให้ผู้ถือครองอสังหาฯ ต้องรีบขายขาดทุน
ในหลายประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา หรือไต้หวัน ยังมีอาคารชุดสูงอยู่เต็มเมือง เพราะความมั่นใจในมาตรฐานการก่อสร้างที่แข็งแรง ซึ่งไทยก็มีศักยภาพในด้านนี้เช่นกัน
ดร.โสภณ จึงขอให้ประชาชนมีสติ อย่าตื่นตระหนกกับข่าวหรือคลิปที่แชร์กันบนโซเชียล และอย่ารีบขายห้องชุดในราคาถูก หากยังไม่ได้รับการตรวจสอบและยืนยันว่าทรัพย์เสียหายหรือไม่ปลอดภัยจริง
ในทางกลับกัน หากมีผู้เทขายเพราะตกใจ นี่อาจกลายเป็น โอกาสของนักลงทุน ที่มองเห็นศักยภาพของตลาดคอนโดในระยะยาวด้วยซ้ำ
“ความมั่นใจจะทำให้ตลาดเดินต่อไปได้ และอย่าปล่อยให้ความกลัวนำพาการตัดสินใจเรื่องอสังหาริมทรัพย์” และเชื่อว่า หากสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์จะซบเซาก็มาจากภาวะเศรษฐกิจไทยมากกว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวานนี้