เมนู ‘ปังชา’ หรือน้ำแข็งไสรสชาไทยของร้านลูกไก่ทอง กลายเป็นกระแสร้อน เมื่อ Facebook ของร้าน ออกมาโพสต์ว่า ทางแบรนด์ได้จดเครื่องหมายการค้า (Trademark) ทั้งชื่อ”ปังชา” ภาษาไทย และ “Pang Cha” ภาษาอังกฤษ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ประกอบด้วย จดทะเบียนลิขสิทธิ์, จดทะเบียนสิทธิบัตร
พร้อมย้ำว่า ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข และ สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย
ทำให้ชาวเน็ตหลายๆคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ จนทำให้ติดเทรน์ฮิตใน X (Twitter) ใน #ลูกไก่ทอง และ #ปังชา เนื่องจาก จากมี 2 ร้านที่โดนฟ้องเรียกค่าเสียหาย นอกจากนี้ร้านน้ำแข็งไส และร้านอาหารหลายแห่ง ต่างข้องใจว่า ถ้าชื่อร้านและเมนู มีคำว่าปังชา จะกลายเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จนถูกฟ้องร้องหรือไม่
สรุปแล้วดราม่า “ปังชา” จบลง เมื่อทั้งนักกฎหมาย และกรมทรัพย์สิน ออกมาชี้แจงประเด็นนี้แบบละเอียดชัดเจน ทีม SPOTLIGHT สรุปข้อมูลกรณีศึกษา ’ปังชา’ดังนี้
นี่คือ 2 ประเด็นหลักที่สรุปข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจหลังมีประเด็นดราม่าเกิดขึ้น
กรณีศึกษา 2 ร้านตัวอย่าง โดนฟ้องเรื่อง ‘ปังชา’
ร้านปังชา เชียงราย และร้านปังชา เชียงราย มาม่าต้มยำ
เจ้าของร้านคุณนิว ได้ออกมาเปิดเผย ผ่าน รายการบรรจงชงข่าวว่า ร้านของตน มี 2 ร้าน เป็นร้านเล็กๆริมถนน ที่ขายขนมปังปิ้ง-ชา เครื่องดื่มอยู่ที่เชียงราย เปิดมาตั้งแต่ปี 64 และตนได้รับจดหมายแจ้ง และหนังสือบอกกล่าว(โนติส) เรียกค่าเสียหายกว่า 102 ล้านบาท หากไม่จ่ายจะโดนปรับอีกวันละ 1 หมื่นบาท ต่อ 1 ร้าน
ซึ่งคุณนิว ได้กล่าวว่า โลโก้ร้านตนก็จะไม่เหมือนบริษัทดังกล่าว รวมทั้งเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินฯ ก็ให้ข้อมูลไม่ตรงกัน เลยทำให้เกิดความสับสน แต่ไม่มีเจตนาใดๆที่จะไปลอกเลียนแบบแน่นอน
ร้านทางช้างเผือก นมสด หาดใหญ่
เจ้าของร้าน คุณ Gwa Kanjanasorat ได้ออกมาโพสFacebook ว่า ร้านของตนเปิดเมื่อวันที่ 8 ก.ค.66 เป็นร้านขายขนมปังปิ้งและนมสด ที่จังหวัดสงขลา อำเภอหาดใหญ่ แต่ผ่านมาไม่ถึงเดือน ก็ได้รับจดหมายแจ้ง และหนังสือบอกกล่าว(โนติส) ในวันที่ 26 ก.ค.66ว่า ”ทางร้านกำลังละเมิด เครื่องหมายทางการค้าคำว่า “ปังชา” หรือ “PangCha” โดยเรียกเก็บค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 700,000 บาท แต่หากทางร้านยังเพิกเฉย ภายใน 7 วัน จะปรับเพิ่มวันละ 10,000 บาท”
แม้ว่าทางร้านจะไม่ได้ตั้งชื่อร้านว่า ‘ปังชา’ หรือว่ามีเมนูที่ชื่อว่า ‘ปังชา’ แต่มีเพียงแค่ป้ายหน้าร้านกล่องไฟคำว่า’ปังชา’ อยู่เท่านั้น
โดยเจ้าของร้านได้กล่าวว่า “ร้านเราไม่ได้มีความคล้ายคลึง หรือเจตนาลอกเลียนแบบซึ่งทำให้คนเข้าใจผิด และนี่คือ รูปร้าน + เมนูเรา”
นักกฎหมายยืนยันกรณีถูกฟ้องร้อง 102 ล้านบาท ทำไม่ได้
Facebook ของ ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล ได้โพสต์ข้อความอธิบายถึง การจดทรัพย์สินทางปัญญาของร้านลูกไก่ทอง กับเมนูปังชาว่า ครอบคลุมอะไรบ้าง ดังนี้
1.ถ้วยไอศกรีม - สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นี้จะมีอายุความคุ้มครอง 10 ปี (ต่ออายุอีกไม่ได้) ความคุ้มครอง คือ ร้านอื่น ๆ จะใช้ถ้วยไอศกรีม บิงซู น้ำแข็งไส ลักษณะเดียวกันกับที่เค้าจดทะเบียนไว้ไม่ได้
2️.เครื่องหมายการค้า - เท่าที่สืบค้น จะมีอยู่ 3 รูปที่จดคุ้มครองสินค้าประเภทน้ำแข็งไส (แต่เค้าจดเครื่องหมายไว้กับสินค้าประเภทอื่น ๆ อีกหลายตัวเลย)
- รูปแรกที่เป็นผู้หญิงนั่งอยู่กับถ้วยไอศกรีม จะมีข้อความสละสิทธิเขียนไว้เลยว่า
“ไม่ขอถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันที่ปรากฎในภาพ ยกเว้นคำว่า KAM”
- รูปที่สอง วงรีสีดำ จะมีข้อความสละสิทธิเขียนไว้เลยว่า
“ไม่ขอถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมัน คำว่า PANG CHA THE BEST THAI TEA”
- รูปที่สาม วงรีสีขาว จะมีข้อความสละสิทธิเขียนไว้เลยว่า
“ไม่ขอถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมัน คำว่า PANG CHA”
ความหมาย คือ เราห้ามทำรูปโลโก้ หรือ เครื่องหมายการค้าแบบที่เค้าจดไว้ เช่น ผู้หญิงใส่ชุดไทยมานั่งกับถ้วยไอศกรีมแบบนี้ หรือ ทำเป็นโลโก้แบบในภาพ
แต่คำต่าง ๆ ไม่ว่าจะ PANG CHA, the Best Thai Tea ใคร ๆ ก็สามารถใช้ได้
ยิ่งคำว่า ”ปังชา” ภาษาไทย ยิ่งใช้ได้เลย เพราะเค้าไม่ได้จดไว้กับสินค้าบริการประเภทนี้ (แต่แอบเห็นว่าเอาภาษาไทยไปจดกับสินค้าประเภทอื่น เช่น สินค้าที่ระลึก)
สรุป คำว่า “Pang Cha” หรือ “ปังชา” ไม่ได้มีการจดไว้เป็นเครื่องหมายการค้าของใครนะครับ ที่จด คือ รูปภาพหรือโลโก้ ซึ่งได้สละสิทธิคำว่า Pang Cha ไว้แล้ว
ดังนั้น เรื่องฟ้องร้องเรียก 102 ล้านบาท ผมยังเห็นว่า ไม่น่าจะเรียกร้องได้นะครับ และผู้ประกอบการที่ตั้งชื่อเพจว่า ปังชา ไม่ต้องไปลบเพจนะครับ ใช้ขายน้ำแข็งใส บิงซู ต่อไปได้
ปล. อันนี้เป็นการสืบค้นเบื้องต้นจากการเอาชื่อที่ปรากฎตามข่าวไปค้นดูนะครับ เค้าอาจจะมีการใช้บุคคลอื่นในการจดอีกก็ได้นะครับ
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ออกมาชี้แจ้งกรณี ‘ปังชา’
ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบายกรณีการจดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเชื่อมโยงกับกรณีเมนูปังชาโดยให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการดังนี้
1.ลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์คืออะไร คือ ความคุ้มครองทางกฏหมายที่ให้แก่เจ้าของผลงาน ที่เกิดจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ , การคุ้มครองลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันทีที่มีการสร้างสรรค์ผลงาน โดยไม่ต้องจดทะเบียน
ตัวอย่างลิขสิทธิ์ในธุรกิจร้านอาหาร เช่น ภาพถ่าย Display สินค้า ลวดลาย และรูปเล่มของเมนูอาหาร ลวดลายหรือภาพวาดบนภาชนะใส่อาหารเป็นต้น
คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ การนำภาพวาดหรือภาพถ่ายของผู้อื่นไปใช้ ต้องได้รับอนุญาต จากเจ้าของสิทธิ์ก่อนเสมอ ภาพวาดหรือภาพถ่ายที่ทำขึ้นด้วยตัวเอง แม้จะออกมาคล้ายกันเพราะเป็นมุมเดียวกัน แนวคิดเดียวกัน ก็ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของใคร
2.สิทธิบัตร สิทธิบัตรมี 3 ส่วน
กรณีปังชา - น้ำแข็งไสราดชาไทยมีขายมานานแล้ว จึงไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรแล้วอ้างเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในเมนูนี้ได้
“แต่ภาชนะที่ใส่ ‘ปังชา’ และลวดลายต่างๆ ของแบรนด์ดังกล่าว ได้จดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ จึงห้ามไม่ให้ใครใช้ได้ และหากถ้าใครคิดค้นสูตรขยมขึ้นมาใหม่ ซึ่งยังไม่เคยปรากฎในที่ใดมาก่อน สามารถนำมาขอจดอนุสิทธิบัตรได้
3.เครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้า คือ ชื่อ ข้อความ โลโก้ ภาพ กลุ่มของสีหรือเสียง อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างรวมกัน ที่นำมาใช้เพื่อสร้างความจดจำของผู้บริโภคในการแยกแยะแบรนด์ต่างๆ
แต่เครื่องหมายการค้าคุ้มครองได้ตามรูปแบบที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น หากข้อความหรือภาพบางส่วนที่สื่อถึงคุณสมบัติหรือคุณภาพของสินค้าและบริการข้อความหรือภาพนั้นต้องถูก สละสิทธิ แต่ยังปรากฏเครื่องหมายการค้านั้นได้
การสละสิทธิ หมายถึง ไม่สามารถห้ามคนอื่นใช้ข้อความหรือภาพนี้ในลักษณะอื่น แต่ถ้านำมาจัดวางในรูปแบบที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอาไว้และเป็นสินค้าหรือบริการที่ใกล้เคียงกัน ยังสามารถห้ามได้อยู่
คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ : คำว่า “..ปัง…ชา..” หรือ …ปังชา.. กับเมนูน้ำแข็งใสราดชาไทย ยังทำต่อไปได้ แต่ไม่ควรใช้รูปแบบฟอนต์ที่ชวนให้นึกถึงแบรนด์นั้นๆ
ร้านลูกไก่ทองยอมรับสื่อสารผิดพลาด
Facebook ร้านลูกไก่ทองออกมาชี้แจงเป็นการปิดจบดราม่า ในวันที่ 29 ส.ค.66 ว่า ทางร้านขออภัยที่มีการสื่อสารที่ผิดพลาดจนทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน พร้อมกับขอน้อมรับทุกคำติชม คำแนะนำ และพร้อมที่จะปรับปรุง พัฒนา การสื่อสาร การบริการ สินค้าต่อไป พร้อมกับได้มีการปรึกษาหารือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อหาแนวทางและให้ข้อมูลที่กระจ่างมากขึ้น
ล่าสุด วันที่ 30 ส.ค.66 “คุณเเก้ม” เจ้าของร้านลูกไก่ทอง-ปังชาคาเฟ่ ได้ติดต่อมาทาง Facebook หมายจับกับบรรจง เพื่อเเสดงความเสียใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้น เเละยังไม่ขอตอบอะไรมากเพราะตัวเธอยังไม่เเม่นเรื่องกฎหมาย พร้อมขอปรึกษาทางทีมงาน เเละอยากให้ทุกคนรอเเเถลงการณ์ชี้เเจงในเร็วๆนี้
คุณเเก้ม เจ้าของร้านยอมรับว่าได้ส่งโนติสไป 2 เเห่ง คือร้านที่เชียงราย เเละหาดใหญ่ ค่าเสียหายที่เรียกร้อง คิดจากมูลค่าเเบรนด์ในตลาด หากร้านที่เปิดมานานก็จะมีการคิดค่าเสียหายมากขึ้นตามระดับ โดยคิดเงินย้อนหลังจากวันที่ตนขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คือวันที่ 28 ก.ย.65 (โดยหนังสือที่ยื่นจดทางกรมฯไม่ได้ให้ทางแบรนด์สละสิทธิคำว่า"ปังชา" จึงยึดถือสิทธิตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกหนังสือให้)
ซึ่งจริงๆเเล้วทางเเบรนด์เคยยื่นขอจดทะเบียน ‘ปังชา’ ตั้งเเต่เมื่อปี 61 เเต่ตอนนั้นทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังไม่ให้สิทธิในคํานี้ หลังจากนั้นทางร้านพยายามรวบรวมเอกสารนานถึง 4 ปี เพื่อพิสูจน์ความแพร่หลายทางธุรกิจ ว่าเป็นคำที่แพร่หลายมาจากธุรกิจของแบรนด์เรา จึงยื่นอีกในปี 65 และล่าสุดทางกรมฯยอมให้จดทะเบียนในปี 66
โดยฝ่ายกฎหมายมีการยกตัวอย่างชื่อแบรนด์ที่ได้ทะเบียนเครื่องหมายการค้ามา 2 ชื่อคือ "โออิชิ" และ "กระทิงแดง" ที่เป็นคำสามัญที่ได้สิทธิในเครื่องหมายการค้า
สุดท้าย คุณเเก้ม ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการ "กรรโชกทรัพย์" อย่างที่โดนกล่าวหา เพียงแต่ใช้สิทธิ์ทางกฎหมายด้วยเจตนาสุจริต เพราะอยากให้แบรนด์เติบโตในทางธุรกิจไปไกล จึงจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา
31 ส.ค.66 คุณเเอน ตัวเเทนทีมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของปังชา ได้โทรเข้ามาให้สัมภาษณ์ในรายการ กรรมกรข่าวคุยนอกจอ
ทางร้านไม่ได้ห้ามให้ใครขายน้ำเเข็งไสราดด้วยชาไท เเละมีtopping เหมือนกับร้านตน เพียงเเต่ห้ามใช้ชื่อ ‘ปังชา’ เเละเเม้ว่าคําว่า ‘ปังชา’ จะเป็นคําสามัญ เเต่เจ้าของเเบรนด์ได้รับมาจากการพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะ (จากมาตรา 7 วรรค 3) โดยต้องพิสูจน์ความเเพร่หลาย เช่น การจําหน่ายมาเเล้วกี่ปี , มีพื้นที่ในการขายกว้างขว้างเเค่ไหน ในกลุ่มบริโภคสินค้าเเละการบริการประเภทนี้ จึงสามารถสงวนสิทธิการใช้ชื่อ ‘ปังชา’ ได้ถูกต้องตามกฎหมาย
โดยทางคุณเเอน ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากร้านใดๆ เพียงเเต่มีลูกค้าบางคนโทรมาสอบถามทางร้าน ว่าได้มีการเปิดสาขาที่ต่างจังหวัดหรือเปล่า ทางร้านเห็นว่าร้านนั้นๆมีความคล้ายคลึงจนลูกค้าสับสน ทําให้ต้องส่งโนติสไป เเละยังมีร้านอื่นอีกถึง 3 เเห่งที่ตนยังไม่ส่งโนติสไป เนื่องจากโทรศัพท์ไปเเล้ว เค้ายินดีที่จะเเก้ไขเลยทันที
ซึ่งตอนนี้ของทางทีมเรียบเรียงเอกสาร คุยกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เเละเจ้าของร้านจะออกมาเเถลงการณ์ในเร็วๆนี้
กรณีศึกษาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของร้านลูกไก่ทอง ไม่ใช่กรณีแรก ก่อนหน้านี้ร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยหลายแบรนด์ก็ต้องเปิดฉากฟ้องร้องกันมาแล้ว ซึ่งหากมองเป็นเรื่องดีอย่างน้อยก็ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเกิดความตื่นตัวในเรื่องการจดทรัพย์สินทางปัญญา เพราะหลายแบรนด์มีการคิดค้น สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆในสังคมไทย และหากใครลอกเลียนทรัพย์สินทางปัญญาของเรา ก็สามารถฟ้องร้องทางกฎหมายได้เช่นกัน
ดังนั้นยิ่งผู้ประกอบการไทย มีการจดทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสของการพัฒนาธุรกิจให้เกิดสิ่งใหม่ๆ เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคก็ยอมจะมากขึ้นตาม
ที่มา : ลูกไก่ทอง