Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
จับตาดีลอาเซียน–ทรัมป์ แต่ละประเทศแลกอะไรบ้างเพื่อขอลดภาษีตอบโต้?
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

จับตาดีลอาเซียน–ทรัมป์ แต่ละประเทศแลกอะไรบ้างเพื่อขอลดภาษีตอบโต้?

8 เม.ย. 68
13:55 น.
แชร์

จับตาดีลอาเซียน–ทรัมป์ แต่ละประเทศแลกอะไรบ้างเพื่อขอลดภาษี?

แม้การประกาศมาตรการ “ภาษีตอบโต้” (reciprocal tariffs) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะผ่านไปเพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ แต่ผลสะเทือนกลับแผ่กว้างและรุนแรงทั่วโลก ตลาดการเงินทั่วโลกปั่นป่วน ผู้นำประเทศต่างๆ ต้องรีบออกมาแสดงจุดยืน วางท่าทีทางการทูต และเร่งจัดประชุมวางแผนหาข้อเสนอเพื่อโน้มน้าวให้สหรัฐฯ ทบทวนหรือลดระดับภาษีดังกล่าวลงอย่างเร่งด่วน

หนึ่งในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ คือ ‘กลุ่มประเทศอาเซียน’ ซึ่งแต่ละประเทศถูกกำหนดอัตราภาษีตอบโต้ไม่เท่ากัน โดยกัมพูชาถูกเก็บภาษีสูงสุดถึง 49% ตามด้วยเวียดนามที่ 46% อินโดนีเซีย 32% มาเลเซีย 24% ฟิลิปปินส์ 17% และสิงคโปร์ในอัตราต่ำสุดที่ 10%

สำหรับประเทศไทยนั้น ถูกเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 36% ส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องเร่งออกมาเปิดเผยแนวทางรับมือ โดยเน้นการเร่งเดินหน้าแผน “เจรจาสร้างสัมพันธ์” กับประธานาธิบดีทรัมป์ หวังบรรเทาความตึงเครียดด้านการค้า ด้วยการเสนอผลประโยชน์ที่แลกเปลี่ยนได้อย่างมีข้อได้เปรียบในการต่อรอง

บทความนี้ SPOTLIGHT จะพาผู้อ่านไปติดตามว่าประเทศต่างๆ ในอาเซียนแต่ละแห่ง ต่างเลือกเดินเกมอย่างไรเพื่อเอาตัวรอดจากสงครามภาษี และการเจรจาที่เข้มข้นกับสหรัฐฯ ภายใต้ยุคทรัมป์

ไทยเปิดข้อเสนอเชิงรุก เพิ่มนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ–ลดอุปสรรคการค้า

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงแสดงจุดยืนของประเทศไทยต่อมาตรการการค้าของสหรัฐอเมริกา โดยยืนยันว่ารัฐบาลไทยจะเดินหน้าด้วยแนวทางเจรจาเชิงรุก พร้อมยื่นข้อเสนอที่มุ่งสร้างผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศ ภายใต้หลักการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์และเป็นมิตร

นางสาวแพทองธารเปิดเผยว่า รัฐบาลได้จัดตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อรับมือกับมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ” ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา โดยคณะทำงานได้มีการหารือกับภาคเอกชนของไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการติดต่อสื่อสารในลักษณะไม่เป็นทางการกับตัวแทนของสหรัฐฯ เพื่อเสนอแนวทางความร่วมมือในหลายมิติ

ในสัปดาห์นี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อหารือกับหน่วยงานรัฐ ผู้แทนภาคเอกชน และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันข้อเสนอของไทยให้เกิดความชัดเจนเป็นรูปธรรม

สำหรับสาระสำคัญของข้อเสนอที่ไทยเตรียมยื่นต่อสหรัฐฯ มีดังนี้:

  • เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ บางกลุ่ม เช่น พลังงาน อากาศยาน และสินค้าเกษตร เพื่อสร้างสมดุลทางการค้า
  • เร่งสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ โดยมุ่งเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลในสหรัฐฯ ที่สนับสนุนการค้าเสรีและระบบประชาธิปไตย เพื่อเสริมสร้างพันธมิตรในระยะยาว
  • ผลักดันการลดข้อจำกัดต่อการนำเข้าสินค้าไทยที่ไม่เป็นธรรม และเสนอความร่วมมือในการควบคุมการสวมสิทธิแหล่งกำเนิดสินค้าที่ใช้ไทยเป็นทางผ่านเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ (re-routing)
  • กระจายความเสี่ยงด้านการส่งออก โดยเดินหน้าขยายตลาดใหม่ พร้อมเร่งการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศเป้าหมายอย่างเข้มข้น

นายกรัฐมนตรีระบุเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการของสหรัฐฯ พร้อมกันนี้ยังเร่งรัดการขยายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง ยุโรป และอินเดีย รวมถึงการเร่งรัดความคืบหน้าใน FTA กับประเทศใหม่ๆ เพื่อเปิดทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์สำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

‘เวียดนาม’ เล่นใหญ่ ยอมลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0%

ด้านเวียดนามเสนอแผนยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ทั้งหมด หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากเวียดนามในอัตราสูงถึง 46% ตามเนื้อหาในจดหมายลงวันที่ 5 เมษายนจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

ข้อเสนอนี้ถูกส่งตรงจากเลขาธิการพรรค โต ลาม (To Lam) ถึงทรัมป์ โดยรายงานจาก Bloomberg ระบุว่า ลามได้ร้องขอให้รัฐบาลสหรัฐฯ หลีกเลี่ยงการเรียกเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมต่อสินค้าจากเวียดนาม และขอให้เลื่อนการบังคับใช้มาตรการภาษีใหม่ที่ทรัมป์เพิ่งประกาศออกไปอย่างน้อย 45 วัน นับจากวันที่ 9 เมษายน

อย่างไรก็ตาม ปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์ แสดงความเห็นเมื่อวันอาทิตย์ว่า ข้อเสนอของเวียดนามยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ

“แม้ว่าเราจะลดภาษีของทั้งสองประเทศลงเหลือศูนย์ สหรัฐฯ ก็ยังขาดดุลการค้ากับเวียดนามอยู่ราว 120,000 ล้านดอลลาร์” นาวาร์โรกล่าวในรายการ Sunday Morning Futures ทางช่อง Fox News พร้อมเสริมว่า “ปัญหาหลักคือการละเมิดกฎการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่เวียดนามยังคงใช้อยู่”

เขายังระบุเพิ่มเติมว่า เวียดนามได้รับการกล่าวหาว่าใช้เงินอุดหนุนการส่งออก และมีบทบาทเป็นทางผ่านให้สินค้าจีนหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีของสหรัฐฯ 

เนื้อหาในจดหมายของโต ลาม ยืนยันถึงสิ่งที่ทรัมป์โพสต์ไว้ใน Truth Social เมื่อวันศุกร์ หลังการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างผู้นำทั้งสอง เวียดนาม ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นฐานการผลิตและส่งออกสำคัญแทนจีนในภูมิภาค ถูกสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีในอัตราที่สูงติดอันดับโลกเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

‘กัมพูชา’ เสนอลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ 19 ประเภท เปิดโต๊ะพร้อมเจรจา

นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต (Hun Manet) ของกัมพูชา ประกาศลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ลงทันทีเมื่อวันศุกร์ที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา เพียงสองวันหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าส่งออกจากกัมพูชาในอัตราสูงถึง 49% โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน 2025

ในจดหมายทางการถึงรัฐบาลสหรัฐฯ ชื่อว่า “คำร้องขอเจรจามาตรการภาษีต่อสินค้าส่งออกกัมพูชา” นายฮุน มาเนต ได้ขอให้สหรัฐฯ ชะลอการบังคับใช้ภาษี และเปิดการเจรจาโดยเร็วที่สุด พร้อมเสนอความร่วมมืออย่างจริงใจ โดยกัมพูชาจะลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ใน 19 หมวดหมู่ จากระดับสูงสุด 35% เหลือเพียง 5% โดยมีผลทันที

สินค้าที่ได้รับการลดภาษี ได้แก่ เนื้อวัว หมู ไก่ ผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วอัลมอนด์ ข้าวโพด ถั่วเหลือง น้ำเชื่อม มันฝรั่งแช่แข็ง วิสกี้ รถยนต์หนักเกิน 5 ตัน และรถจักรยานยนต์เครื่องยนต์เกิน 800cc

นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นางจำ นิมูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ประสานงานเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ซึ่งต่อมาเธอได้ส่งจดหมายถึงเอกอัครราชทูตเจมีสัน เกรียร์ แสดงความพร้อมของกัมพูชาในการเจรจา และย้ำถึงความสัมพันธ์ทางการทูตอันยาวนานกว่า 75 ปี

นางนิมูลกล่าวว่า “กัมพูชามุ่งมั่นที่จะรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและโปร่งใส พร้อมขอให้สหรัฐฯ จัดตั้งกลไกการเจรจา และเลื่อนการบังคับใช้ภาษีดังกล่าวเพื่อเปิดทางให้เกิดการหารือและประเมินแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย”

การปรับลดภาษีนำเข้าของกัมพูชานี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากภาคธุรกิจ โดยนายวิเชษฐ์ ลอ รองประธานสมาคมการค้ากัมพูชาจีน (CCCA) ระบุว่า เป็นท่าทีที่ยืดหยุ่นและส่งสัญญาณเชิงบวกต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี

“สหรัฐฯ เป็นตลาดหลักของกัมพูชา เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการเจรจา หากผลลัพธ์เป็นประโยชน์ เราก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเดินหน้า” เขากล่าว

ในขณะเดียวกัน นายอาร์โน ดาร์ค ซีอีโอของ Thalias Group อธิบายว่า การลดภาษีนำเข้าสำหรับรถยนต์จากสหรัฐฯ เช่น Ford Ranger Raptor จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าลงถึง 22% ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภคและสะท้อนถึงนโยบายที่สร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้

นักเศรษฐศาสตร์ ดร.ชัยยันต์ เมนอน จากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์ กล่าวเสริมว่า กัมพูชาควรกระจายตลาดส่งออกเพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐฯ พร้อมระบุว่าตลาดยุโรปและภูมิภาคยังมีศักยภาพรองรับการส่งออกของกัมพูชาได้ แม้อาจต้องใช้เวลา

ด้านสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้า และเครื่องใช้ในการเดินทางของกัมพูชา (TAFTAC) ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อผลกระทบของภาษีใหม่ต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะแรงงานจำนวนมากในภาคการผลิต พร้อมยืนยันว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อหาทางออกโดยเร็ว

แม้จะเผชิญแรงกดดันจากภาษีที่สูงถึง 49% แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาค กัมพูชายังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยจีนถูกเก็บภาษีสูงถึง 79% เวียดนาม 46% และเมียนมา 45%

TAFTAC แสดงความหวังว่าการหารือระหว่างรัฐบาลทั้งสองจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและแรงงาน พร้อมยืนยันว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลในการลดต้นทุนธุรกิจ เช่น โลจิสติกส์และพลังงาน เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

‘มาเลเซีย’ เตรียมนำทัพอาเซียนเจรจาสหรัฐฯ ขอทุกชาติร่วมมือ

หลังจากการประกาศมาตรการภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า แม้มาเลเซียจะได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลมาเลเซียจะไม่ตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีในทันที โดยเน้นว่าท่าทีของประเทศจะตั้งอยู่บนหลักของ “ความสุขุม ความมั่นคง และผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ” พร้อมเปิดเผยว่าขณะนี้ได้เริ่มมีการเจรจากับสหรัฐฯ ในเบื้องต้นผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการแล้ว

ในวันที่ 8 เมษายน ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมการลงทุนอาเซียน 2025 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ นายอันวาร์ยังได้ประกาศบทบาทของมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน โดยระบุว่าจะเป็นผู้นำในการผลักดันความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อตอบสนองต่อมาตรการภาษีที่สหรัฐฯ นำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังทยอยบังคับใช้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีแผนให้ชาติสมาชิกอาเซียนร่วมกันจัดส่งคณะผู้แทนเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลสหรัฐฯ

นายอันวาร์ยังเน้นย้ำระหว่างการปราศรัยว่า แม้นโยบายภาษีของสหรัฐฯ จะมีเป้าหมายที่ชัดเจนและอาจยากที่จะเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น แต่ยังมีโอกาสในการเจรจาเพื่อปรับแนวทางปฏิบัติในรายละเอียด ซึ่งอาจช่วยลดผลกระทบที่ไม่จำเป็นต่อเศรษฐกิจภูมิภาคได้

เขายังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ได้มีการหารือกับผู้นำหลายประเทศในอาเซียน และมีแผนจะขยายความร่วมมือไปยังผู้นำประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อระดมเสียงสนับสนุนและจัดทำจุดยืนร่วมของภูมิภาคอย่างเป็นเอกภาพต่อการดำเนินมาตรการของสหรัฐฯ

ในช่วงท้ายของสุนทรพจน์ นายอันวาร์ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเร่งเสริมสร้างความร่วมมือภายในภูมิภาคในหลายมิติ ทั้งด้านการปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน และการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัล โดยเน้นว่าอาเซียนมีมูลค่าการค้าสินค้ารวมกว่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ และในบริบทของความผันผวนระดับโลกในปัจจุบัน ภูมิภาคจำเป็นต้องพึ่งพาตนเองให้มากยิ่งขึ้น

‘อินโดนีเซีย’ ไม่สู้ ขอเจรจารักษาผลประโยชน์ร่วม

ด้านรัฐบาลอินโดนีเซียประกาศเมื่อวันที่ 6 เม.ย. ว่าจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าต่อการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียในอัตรา 32% ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เพิ่งประกาศใช้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยถือเป็นจุดยืนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของอินโดนีเซ๊ยต่อมาตรการดังกล่าว

นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ระบุว่า อินโดนีเซียจะเดินหน้าใช้การทูตและเปิดการเจรจาเพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยยึดเป้าหมายระยะยาวในการรักษาความสัมพันธ์ทางการค้า เสถียรภาพเศรษฐกิจ และบรรยากาศการลงทุน

“เราตัดสินใจใช้แนวทางเชิงสร้างสรรค์ เน้นการรักษาผลประโยชน์ร่วมในระยะยาว” แอร์ลังกากล่าว พร้อมย้ำว่ารัฐบาลจะดูแลภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสิ่งทอและรองเท้า

เพื่อเตรียมรับมือ อินโดนีเซียจัดการประชุมกับภาคเอกชนในวันจันทร์ที่ผ่านมาเพื่อรับฟังความคิดเห็น และกำหนดกลยุทธ์ตอบโต้ พร้อมกันนี้รัฐบาลยังวางแผนขยายตลาดส่งออกไปยังยุโรป เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และจีน

ในขณะเดียวกัน อินโดนีเซียเตรียมส่งคณะผู้แทนระดับสูงเดินทางไปยังกรุงวอชิงตันเพื่อเปิดการเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลสหรัฐฯ

ข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า อินโดนีเซียมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงถึง 16.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2024 โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 3 ของอินโดนีเซีย มีมูลค่าส่งออกรวมกว่า 26.3 พันล้านดอลลาร์

สินค้าหลักที่อินโดนีเซียส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และรองเท้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีล่าสุดของสหรัฐฯ

‘สิงคโปร์’ ผิดหวัง “เพื่อนกันไม่ทำแบบนี้” แต่พร้อมเจรจา

ด้านรัฐบาลสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) ประกาศในวันนี้ (8 เม.ย.) ว่าในขณะนี้รัฐบาลกำลังเตรียมจัดตั้งคณะทำงานระดับชาติขึ้นรับมือกับมาตรการภาษีนำเข้าใหม่ของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และค่าจ้างแรงงานในประเทศ 

คณะทำงานจะมีนายกัน คิม ยง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเป็นประธาน ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานเศรษฐกิจ สมาพันธ์ธุรกิจสิงคโปร์ สมาพันธ์นายจ้าง และสภาแรงงานแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและแรงงานในการรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เสริมความยืดหยุ่น และปรับตัวสู่ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่

นายหว่องกล่าวว่า ภาษีใหม่อาจฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและกระทบความต้องการภายนอกสำหรับภาคการส่งออกของสิงคโปร์ โดยเฉพาะภาคการผลิต การค้าส่ง และบางส่วนของภาคบริการ เช่น การเงินและประกันภัย กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมกำลังพิจารณาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2025 จากเดิม 1-3%

“เมื่อการเติบโตชะลอตัว จะมีโอกาสจ้างงานน้อยลง การขึ้นค่าจ้างก็จะช้าลง และหากบริษัทต่าง ๆ เผชิญกับต้นทุนสูงหรือย้ายกลับไปผลิตในสหรัฐฯ ก็อาจมีการเลิกจ้างเกิดขึ้นมากขึ้น” เขาระบุ

นอกจากนี้ นายหว่องยังแสดงความผิดหวังต่อมาตรการของสหรัฐฯ โดยชี้ว่าแม้สิงคโปร์จะขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ และเปิดตลาดผ่านข้อตกลง FTA แต่ก็ยังถูกเก็บภาษี

“ถ้าหากมาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อความเป็นธรรมจริงๆ สิงคโปร์ไม่ควรถูกเก็บภาษีเลย เราผิดหวังอย่างมากกับสิ่งที่สหรัฐฯ ตัดสินใจทำ โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นประเทศพันธมิตรอันยาวนาน” เขากล่าว

นายหว่องยังตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณาเฉพาะดุลการค้าในสินค้าอย่างเดียวไม่สะท้อนภาพรวมที่แท้จริง เพราะสหรัฐฯ ได้เปรียบในด้านบริการ เช่น ซอฟต์แวร์ การเงิน การศึกษา และความบันเทิง โดยย้ำว่าแนวทางของสหรัฐฯ เป็นการปฏิเสธหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยเฉพาะหลัก Most Favoured Nation (MFN) หรือ การปฏิบัติต่อสินค้าจากประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นรากฐานของระบบการค้าพหุภาคี

“หากประเทศอื่นเริ่มใช้แนวทางนี้ ระบบการค้าที่อิงกฎเกณฑ์จะเสื่อมสลาย และประเทศเล็กอย่างสิงคโปร์จะถูกกีดกันจากการเจรจา เพราะมีอำนาจต่อรองต่ำกว่ามหาอำนาจ” เขากล่าว

นายกัน คิม ยง กล่าวเสริมว่า คณะทำงานยังอยู่ระหว่างกำหนดองค์ประกอบและบทบาทหลัก แต่จะเน้นการสื่อสารและให้ข้อมูลกับภาคเอกชน พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลได้เริ่มพูดคุยกับพันธมิตรทางการค้าเพื่อประเมินสถานการณ์ร่วมกัน

นายหว่องยังเตือนว่า ความเสี่ยงของสงครามการค้าเต็มรูปแบบกำลังเพิ่มขึ้น แม้สิงคโปร์จะไม่ดำเนินมาตรการตอบโต้ แต่หลายประเทศ เช่น จีนและสหภาพยุโรป กำลังเตรียมตอบโต้ของตนเอง

“หน้าต่างเวลาสำหรับการเจรจากับสหรัฐฯ ก่อนภาษีใหม่จะมีผลในวันที่ 9 เมษายน เหลืออยู่อีกไม่นาน แม้จะมีโอกาสลดภาษีบางรายการได้ แต่เราต้องยอมรับความจริงว่า ภาษีเมื่อขึ้นแล้ว มักไม่ลดง่าย” เขากล่าว พร้อมเตือนว่า การเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของคลื่นภาษีระลอกใหม่จากประเทศอื่นในอนาคต

ที่มา: Bloomberg, Al Jazeera, Reuters, CNA, NPR


แชร์
จับตาดีลอาเซียน–ทรัมป์ แต่ละประเทศแลกอะไรบ้างเพื่อขอลดภาษีตอบโต้?