ค่าครองชีพที่สูงขึ้น กลายเป็นปัญหาที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยเองหรือต่างประเทศ รายงานค่าครองชีพทั่วโลกประจำปี 2023 ของอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (EIU) พบว่า ราคาสินค้าและบริการโดยเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลให้ค่าครองชีพในหลายเมืองทั่วโลกสูงขึ้นตามไปด้วย
รายงานค่าครองชีพทั่วโลกประจำปี 2023 (Worldwide Cost of Living 2023) ของอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (EIU) หน่วยธุรกิจวิจัยของดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) พบว่า สิงคโปร์และซูริก สวิตเซอร์แลนด์ ครองอันดับ 1 เมืองค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกร่วมกัน ด้วยคะแนนดัชนีค่าครองชีพ 100 คะแนน ในขณะที่ฮ่องกง จีน ตกลงมาอยู่อันดับ 5
รายงานดังกล่าวเปรียบเทียบราคาสินค้าและบริการมากกว่า 200 รายการใน 173 เมืองทั่วโลก ในช่วงวันที่ 14 สิงหาคม ถึง 11 กันยายน 2023 โดยภาพรวมพบว่า ราคาสินค้าและบริการโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สาเหตุหลักที่ทำให้ค่าครองชีพทั่วโลกสูงขึ้นในปี 2023 มาจากปัจจัยด้านอุปทาน ได้แก่ ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น อาหาร พลังงาน และโลหะ ปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบด้านอุปทานดังกล่าวเริ่มลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 เนื่องจากจีนยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิด-19 และราคาพลังงานเริ่มผ่อนคลายลง ทาง EIU คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะชะลอตัวลงอีกในปี 2024 และจะทำให้ค่าครองชีพทั่วโลกผ่อนคลายลงตามไปด้วย
นครซูริกของสวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ครองอันดับที่ 1 เมืองค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก เนื่องจาก การแข็งของสกุลเงินฟรังก์สวิสของ สวิตเซอร์แลนด์ ควบคู่ไปกับราคาสินค้ากลุ่มของชำ ของใช้ในครัวเรือน และอุปกรณ์สันทนาการที่สูงขึ้นจากการรแข็งค่าของสกุลเงินทำให้ซูริกซึ่งเคยอยู่ในอันดับที่ 6 ปีที่แล้วพุ่งพรวดขึ้นมาอยู่อันดับที่ 1 ในปีนี้ทันที ส่วนฝั่งสิงคโปร์นั้นปีที่แล้วอยู่อันดับ 1 ปีนี้ก็เช่นกัน จาก ค่าครองชีพด้านการคมนาคมขนส่ง ด้านการศึกษาและค่าดูแลสุขภาพปรับสูงขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจ
อันดับที่ 3 ตกเป็นของมหานครนิวยอร์ก ซึ่งปีที่แล้วอยู่ในอันดับ 1 ร่วมกับสิงคโปร์ แต่ปีนี้อันดับตกลงมา สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของนิวยอร์ก ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยลดลง โดยประชากรวัยทำงานในนิวยอร์กมีจำนวนลดลง ในขณะที่ประชากรวัยเกษียณมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยในย่านใจกลางเมืองลดลง จนเป็นเหตุให้อันดับตกลงมาอยู่ร่วมกับกรุงเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์
สำหรับ ฮ่องกง ที่เวลานี้อยู่ อันดับ 5 จากที่เคยครองอันดับ 1 เมืองค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกมาหลายปี ปีนี้สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ขณะที่ลอสแอนเจลิสของสหรัฐฯ อยู่ที่อันดับ 6 และปารีสได้รับเลือกให้เป็นเมืองที่ค่าครองชีพสูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก เทลอาวีฟของอิสราเอลอยู่ในอันดับที่ 8 ร่วมกับโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก และสุดท้าย ซานฟรานซิสโก ติดอันดับที่ 10
ผลการสำรวจนี้ จัดทำก่อนจะเกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ส่งผลให้ค่าครองชีพในเทลอาวีฟอาจสูงกว่าในรายงานนี้ เนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ เมืองในรัสเซียอย่างมอสโกและเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กมีอันดับร่วงลงมามากที่สุด โดยมอสโกตกลงมา 105 อันดับมาอยู่ที่ 142 และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กตกลงมา 74 อันดับมาอยู่ที่ 147 โดยเกิดจากมูลค่าของค่าเงินรูเบิลที่อ่อนลงอย่างมากนับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022
การสำรวจยังพบว่า การฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เมืองต่าง ๆ ในจีน เช่น ปักกิ่ง ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 34 เมื่อปีที่แล้ว ตกลงมาหลายอันดับเช่นกัน
ดามัสกัส ประเทศซีเรีย ยังคงครองตำแหน่งเมืองที่มีค่าครองชีพถูกที่สุดในโลก โดยปัจจัยที่ทำให้ค่าครองชีพในเมืองนี้ต่ำ ได้แก่ เศรษฐกิจที่อ่อนแอ ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของประชากรต่ำ อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ ความต้องการที่อยู่อาศัยและสินค้าและบริการที่ต่ำ และภาษีและค่าธรรมเนียมที่ต่ำ
ในส่วนของเมืองที่ค่าครองชีพถูกที่สุดในโลก ยังมี เตหะรานของอิหร่าน และตริโปลีของลิเบีย ก็อยู่ใกล้อันดับล่าง ๆ เช่นกัน
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2565 ที่มีการเก็บข้อมูลอัตราค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยแยกรายจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดพบว่า จังหวัดที่มีค่าครองชีพสูงสุดในไทยได้แก่ จ.ปทุมธานี อยู่ที่ 37,897.50 บาท ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากปี 2564 ที่จังหวัดนนทบุรีมีค่าใช้จ่ายสูงสุด 33,995 บาท นั่นทำให้ค่าใช้จ่ายสูงสุดอย่างจังหวัดปทุมธานีฃหากเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ราว 1,263 บาท
ขณะที่จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนต่ำที่สุดในประเทศไทยได้แก่ จ.เชียงราย อยู่ที่ระดับ 12,206.69 บาท เปลี่ยนแปลงจากปี 64 ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด