พร้อมกับการขยายโอกาสของประเทศไทยในเวทีโลกในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในประเทศไทย ให้เกิดการขยายตัวและเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
“กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตได้เตรียมขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน” นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า
สำหรับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ ไฟฟ้าระยะแรก หรือ EV 3 ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีรายละเอียด ดังนี้
ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค. – พ.ย. 66) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 67,056 คัน เพิ่มขึ้นกว่า 7.9 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 8,483 คัน
โดยผลของมาตรการ EV3 ก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่ารวม 61,425 ล้านบาท จากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า
ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ EV3.0 สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่นี้เพิ่มเติมได้และผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการสามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้
1.1 สิทธิเงินอุดหนุน
1) ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 10 kWh แต่น้อยกว่า 50 kWh
1.1) ปี 2567 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน
1.2) ปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 35,000 บาท/คัน
1.3) ปี 2569 - 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 25,000 บาท/คัน (เฉพาะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น)
2) ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป
2.1) ปี 2567 จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน
2.2) ปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 75,000 บาท/คัน
2.3) ปี 2569 - 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน (เฉพาะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น)
1.2 สิทธิลดอัตราอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 40 (สำหรับรถที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2567 - 2568)
1.3 สิทธิลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 ในปี 2567 - 2570
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ ต้องผลิตรถยนต์ เพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 ของจำนวนนำเข้าในช่วงปี 2567 – 2568 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) หรือผลิตชดเชยการนำเข้าภายในปี 2570 ในอัตราส่วน 1 : 3 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 3 คัน) เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ และผลักดันไทยให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค
1) ต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิฯ และมีการทำข้อตกลง (MOU) ให้เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 ร่วมกับกรมสรรพสามิต
2) เมื่อได้รับการอนุมัติสิทธิแล้ว ผู้ขอใช้สิทธิจะต้องได้รับอนุมัติราคาขายปลีกแนะนำและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติยานยนต์ไฟฟ้าก่อนเริ่มขายรถรุ่นนั้น ๆ
3) กรณีนำเข้า ผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามข้อ 1 และ 2 ให้แล้วเสร็จก่อนการนำเข้า จึงจะสามารถนำ ยานยนต์ไฟฟ้ามาขอรับสิทธิทางภาษีได้
4) การขอรับเงินอุดหนุนหลังจากการจำหน่ายและจดทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่กรมสรรพสามิตกำหนด
5) สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงเงื่อนไขการผลิตชดเชย บทลงโทษ ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ๆ ตามมาตรการ EV3.5 ให้เป็นไปตามที่กรมสรรพสามิตกำหนด
สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เคยได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ทันภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และประสงค์ที่นำยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวมารับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 สามารถกระทำได้ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
1) ผู้ขอรับสิทธิต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิฯ และมีการทำข้อตกลง (MOU) เพื่อเป็นผู้ได้สิทธิตามมาตรการ EV3.5 และต้องได้รับอนุมัติราคาขายปลีกแนะนำและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติยานยนต์ไฟฟ้าที่ก่อนเริ่มจำหน่าย
2) หลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 ต้องยื่นหนังสือเพื่อแจ้งจำนวนคงเหลือของยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตาม EV3 แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ให้กรมสรรพสามิตทราบ ก่อนลงนามข้อตกลง EV 3.5 กับกรมสรรพสามิต
3) ยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตาม EV3 แต่ประสงค์จะนำมาเข้าร่วมมมาตรการ EV 3.5 จะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีตามมาตรการ EV3 แต่เงินอุดหนุนและเงื่อนไขการผลิตชดเชย ตลอดจนบทลงโทษ และเงื่อนไขอื่น ๆ ให้เป็นไปตามมาตรการ EV3.5
สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เคยได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ภายในวันที่ 31ธันวาคม 2566 และไม่ประสงค์ที่นำยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวมารับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 ต่อ จะยังคงมีภาระในการผลิตชดเชยการนำเข้าตามเงื่อนไขของมาตรการ EV3 โดยไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่ได้รับไปแล้ว
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเปลี่ยนผ่านจากมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV3 ไปสู่ EV3.5 เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนด กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ข้อปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนมาตรการ EV 3.5 ในทุก ๆ ด้าน เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล และตามยุทธศาสตร์กรมสรรพสามิต ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน
สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือที่ www.excise.go.th