นักวิเคราะห์ชี้ เศรษฐกิจจีนอาจโตไม่ถึงเป้า 5% ในปีนี้ จากตัวเลขเศรษฐกิจต้นปีที่ออกมาไม่ดีนัก ทั้งมูลค่าราคาและการลงทุนในที่อยู่อาศัยที่ลดลง รวมไปถึงการส่งออกที่จะต้องเจอแรงกดดันจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
ในวันที่ 4 มีนาคม รัฐบาลจีนออกมาประกาศเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2024 ไว้ที่ “ประมาณ” 5% พร้อมเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการออกหุ้นกู้ระยะยาวพิเศษมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน สำหรับการก่อสร้างโปรเจคใหญ่ รวมไปถึงโปรเจคในภาคอสังหาริมทรัพย์ และสนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
ล่าสุดในวันนี้ (15 มีนาคม) ธนาคารกลางของจีนยังได้ระบายเงินสดออกจากระบบธนาคารคิดเป็นมูลค่าสุทธิ 9.4 หมื่นล้านหยวน (1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) และกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีหรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมที่ระดับ 2.5% เพื่อป้องกันไม่ให้มีสภาพคล่องในระบบการเงินมากเกินไป และพยุงค่าเงินหยวน
ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะออกมาตรการมามากมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์มองว่าจีนอาจกระตุ้นการเติบโตไม่ได้ตามเป้า จากแนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงหลายประการ รวมไปถึงสถานการณ์ในภาคอสังหาฯ ซึ่งยังไม่สู้ดี รวมไปภาคการผลิตและส่งออกที่จะได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้า และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
จากการรายงานของรอยเตอร์ส ในเดือนกุมภาพันธ์ ราคาบ้านในจีนทั้งมือหนึ่งและมือสองลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยราคาบ้านใหม่ใน 70 เมืองของจีนลดลง 1.9% จากปีก่อนหน้า ลดลงมากกว่าในเดือนมกราคมที่ลดลง 1.2% ขณะที่ราคาบ้านมือสองลดลง 5.2% ลดลงมากกว่าในเดือนมกราคมที่ลดลง 4.5%
นอกจากนี้ การลงทุนในภาคอสังหาฯ ยังลดลงถึง 8% ในช่วงเดือนมกราคาถึงกุมภาพันธ์ ต่อเนื่องจากทั้งปี 2023 ที่การลงทุนลดลง 9.6% ซึ่งเป็นการหดตัวเป็นปีที่สามติดต่อกัน
แนวโน้มมูลค้าบ้านและการลงทุนที่ลดลงนี้สะท้อนว่าดีมานด์สำหรับที่อยู่อาศัยของคนจีนยังไม่กลับมา แม้จะได้รับมาตรการส่งเสริมการซื้อขาย เช่น การลดดอกเบี้ย หรือรัฐบาลจะออกเงินสนับสนุนภาคอสังหาฯ เรียกความเชื่อมั่น
ดังนั้น เนื่องจากภาคอสังหาฯ เป็นภาคส่วนที่ใหญ่ของเศรษฐจีน นักวิเคราะห์จึงมองว่าหากรัฐบาลไม่ออกมาตรการส่งเสริมที่มีประสิทธิภาพมาเพิ่มยอดขาย การเติบโตของ GDP ของจีนในปีนี้ก็มีสิทธิพลาดเป้าที่ตั้งไว้ที่ 5% ได้
นอกจากภาคอสังหาฯ แล้ว ภาคส่วนการผลิตและส่งออกของจีนซึ่งถือว่าเป็นฐานการผลิตของโลกก็กำลังเจอความเสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านการเมืองจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการที่สหรัฐฯ กีดกันไม่ให้จีนเข้าถึงชิประดับสูง และจ่อที่จะแบนแอปพลิเคชั่นดังอย่าง TikTok หากไม่ยอมขายบริษัท
นอกจากนี้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลก ดีมานด์สินค้าจากตลาดอื่นๆ ยังลดลง ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการผลิตน่าจะลดลงในปีนี้ โดยอาจจะลดลงประมาณเดือนละ 0.7%
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ยังมองว่าจีนยังมีหวังพึ่งพาการเติบโตจากการส่งออกได้อยู่จากยอดส่งของที่เพิ่มขึ้นในช่วงสองเดือนแรก หากความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ไม่เลวร้ายลงไปกว่านี้ และสถานการณ์เศรษฐกิจในตลาดคู่ค้าดีขึ้น รวมไปถึงภาคการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงหยุดตรุษจีน