Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือน ระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือน ระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์

16 ก.ย. 67
18:49 น.
|
2.0K
แชร์

Exclusive : ค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือน ที่ระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กูรูชี้เงินบาทไม่ทะลุ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หากทะลุ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ผลจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ราคาทองคำ และเฟดลดดอกเบี้ย

วันนี้(16 ก.ย.) ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.21 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  33.33 บาทต่อดอลลาร์ นับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 33.20-33.39 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All-Time High) หลังผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดยังมีโอกาสเร่งลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนนี้ 

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังบรรดาอดีตเจ้าหน้าที่เฟดและอดีตที่ปรึกษาประธานเฟดออกมาสนับสนุนการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุม FOMC เดือนกันยายนที่จะถึงนี้ และสัปดาห์นี้ ประเมินว่า ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงินที่จะสูงขึ้น ในช่วงตลาดรับรู้ ผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด BOE และ BOJ 

img_0988_1

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ SPOTLIGHT ว่า หากประเมินจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทย  มองว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นจนถึงระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ หรือแม้กระทั่งระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นชัดเจนของทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว 

รวมถึง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่กลับมามั่นใจในแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง ซึ่งจะหนุนให้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติเป็นปัจจัยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ และหากเงินบาทจะสามารถแข็งค่าไปจนถึงระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่ามากกว่านั้นได้ 

โดยปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ เช่น 

  1. เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง หากเฟดเร่งลดดอกเบี้ย และส่งสัญญาณพร้อมเร่งดอกเบี้ย มากกว่าที่เราประเมินไว้ (แต่ใกล้เคียงหรือสอดคล้องกับสิ่งที่ตลาดกำลังประเมิน) กรณีนี้ ต้องจับตามองว่า เฟดมีเหตุผลอะไรในการเร่งลดดอกเบี้ย และส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพราะหากเฟดดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าว จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนัก หรือเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งภาพดังกล่าวอาจยิ่งหนุนการเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้ง ทองคำ และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) 

โดยในกรณีของเงินเยนญี่ปุ่นนั้น หากอ้างอิงสถิติในช่วงปี 2008 ผู้เล่นในตลาดสามารถเพิ่มสถานะ Long JPY (มองเงินเยนแข็งค่า) พร้อมเดินหน้าลดสถานะ JPY Carry Trade เพิ่มเติม จนทำให้เงินเยนญี่ปุ่นมีโอกาสแข็งค่าทดสอบโซน 120 เยนต่อดอลลาร์ หรือ คิดเป็นการแข็งค่ากว่า -14% อย่างไรก็ดี หากเป็นภาพที่เฟดกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย เงินบาทก็อาจไม่ได้แข็งค่าไปตาม หากบรรยากาศในตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง กดดันสินทรัพย์ในฝั่งตลาดเกิดใหม่ (EM) 

  1. ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จนสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากทั้ง สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ แนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางต่างอยู่ในช่วงเดินหน้าลดดอกเบี้ย หรือ ตลาดกลัว recession มากขึ้น ทำให้เฟดจะยิ่งเร่งลดดอกเบี้ย เร็ว แรง 
  2. เฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงหนักจนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หนุนให้บรรยากาศในตลาดการเงินอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินทรัพย์ฝั่งตลาดเกิดใหม่ (EM) เปิดโอกาสให้บรรดาสกุลเงินฝั่ง EM สามารถทยอยแข็งค่าขึ้นได้ โดยเฉพาะสกุลเงินที่นโยบายการเงินอาจยังไม่เข้าสู่ช่วงการลดดอกเบี้ยที่ชัดเจน  
แชร์

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือน ระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์