หลังจากที่ความนิยมของพรรค LDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีตัดสินใจลงจากตำแหน่ง จึงเป็นการเปิดทางให้พรรค LDP ต้องเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็จะขึ้นมาเป็นนายกฯโดยปริยาย
เมื่อตอนฟูมิโอะ คิชิดะ ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคมปี 2021 เขาให้คำมั่นว่าจะสร้างเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ หลังจากที่เศรษฐกิจประสบความเฉื่อยชามานานถึงราว 30 ปี และหลังจากนั้น 2 ปี คิชิดะยังคงบอกว่า เศรษฐกิจเป็นประเด็นสำคัญที่เขาให้ความสนใจที่สุด เหนือประเด็นอื่น
ในเวลานี้ ที่คิชิดะลงจากตำแหน่ง และพรรค LDP ได้เลือกผู้นำคนใหม่เพื่อมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี บรรดาสื่อต่างประเทศล้วนวิเคราะห์ว่า ที่ผ่านมา ผลงานทางเศรษฐกิจของเขาเป็นอย่างไรบ้าง
ชิเกโตะ นากาอิ หัวหน้า Oxford Economics ภาคพื้นเอเชีย เปิดเผยกับสำนักข่าวอัลจาซีราห์ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของคิชิดะยังคงเดินตามกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจแบบเดียวกันกับอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ และนาโอโตะ คัง ซึ่งจะสร้างวงจรประเสริฐอันเริ่มจากเพิ่มค่าแรง เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูของการขยายตัวทางเศรษฐกิจและแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯเองก็เจอความท้าทายใหญ่ ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องเรียกว่า ประสบปัญหาวิกฤตทั้งตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ฟองสบู่แตกตั้งแต่ช่วงต้นปีคริสตทศวรรษที่ 1990 โดยทุกวันนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี แม้จะอยู่ต่ำกว่าช่วงพีคของยุคดังกล่าว แต่เงินเดือนของแรงงานก็เพิ่มขึ้นไม่มากเท่าไร ซึ่งรายงานชี้ว่า ตั้งแต่ปี 1991 -2022 เงินเดือนของแรงงานชาวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 38,912 บาท เสียอีก
เคร็ก มาร์ค นักวิชาการด้านเศรษฐกิจแห่งมหาวิทยาลัยโฮเซ ในโตเกียวเปิดเผยว่า ทุนนิยมแบบใหม่ของคิชิดะนั้น มีเป้าหมายที่จะปรับ “อาเบะโนมิกส์” หรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของอดีตนายกฯอาเบะ ด้วยการกระตุ้นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และโอบรับเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ รวมถึงมีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการเซมิคอนดัก ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและการคมนาคมสื่อสาร
อย่างไรก็ตาม คิชิดะก็มีนโยบายที่เป็นของตัวเอง ทั้งการขยายมาตรการจูงใจทางภาษี ซึ่งมุ่งหวังช่วยกระตุ้นสาธารณะให้หันมาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น
หลังจากที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัว 1.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2023 ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในรอบหลายสิบปี ตัวเลข GDP ก็ยังคงอยู่เช่นเดียวในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเปราะบางต่อปัจจัยภายนอก เช่น เศรษฐกิจจีนที่กำลังอ่อนแอ ความไร้เสถียรภาพของภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางและยุโรป รวมถึง การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะกลับมาดำรงตำแหน่งได้