ปี 2021 อาจเรียกได้ว่าเป็นปีทองของอิทธิพล Soft Power เกาหลีใต้ ที่กลับมาคัมแบ็กโดดเด่นที่สุดนับตั้งแต่ยุค กังนัมสไตล์ ของ Psy เมื่อ 10 ปีก่อน และสามารถ "จุดติด" กระแสไวรัลทั่วโลกได้อย่างเหนือคู่แข่ง
ที่จริงแล้ว "พลังละมุน" ของเกาหลีเริ่มมีแรงส่งมาตั้งแต่ปี 2020 ที่ผ่านมา จากความสำเร็จของภาพยนต์เรื่อง "Parasite" ที่ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ตั้งแต่ช่วงต้นปี เรื่อยมาจนถึงด้าน "อาหาร" เช่น จาปากูรี ที่สอดแทรกมาจากหนังดังกล่าว ก่อนจะไปต่อที่ความสำเร็จของวงการเพลง "K-Pop" ที่ได้คิงและควีนของวงบอยแบนด์-เกิร์ลกรุ๊ปอย่าง BTS และ Blackpink ไปขยายอิทธิพลเคป๊อปในต่างประเทศ แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่สามารถจุดติดความเป็นไวรัลบนพื้นที่โซเชียลในระดับทั่วโลก ได้เหมือนกับ "Squid Game" ในปีนี้
ทีมข่าว Spotlight ได้ประมวลความสำเร็จของ Soft Power เกาหลีใต้ ในปีนี้ผ่าน 4 หัวข้อหลักด้วยกัน ดังนี้
Squid Game
- ซีรีส์ Squid Game ที่ออกฉายบนแพลตฟอร์ม Netflix เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ได้กลายเป็น "ปรากฎการณ์" ที่สร้างความเป็นที่สุดในหลายด้าน โดยขึ้นอันดับ 1 ของ Netflix ใน 90 ประเทศทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
- การที่ซีรีส์เรื่องนี้จับประเด็นเรื่อง "ความเหลื่อมล้ำ" ซึ่งเป็น "ความเจ็บปวดร่วมสากล ที่คนทั่วโลกเข้าถึงได้" โดยเฉพาะความร่ำรวยที่ถูกผูกขาด และเมื่อมาอยู่ในแพล็ตฟอร์มคนรุ่นใหม่อย่าง Netflix ที่วัยรุ่นมักจะต่อยอดคอนเทนต์เชื่อมไปถึงโซเชียลมีเดียฮอตฮิตอื่นๆ เช่น TikTok จึงทำให้สควิดเกมกลายเป็นไวรัลในโซเชียลทั่วโลก ซึ่งจับต้องได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับหนังเรื่อง Parasite แม้จะพูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำเหมือนกันก็ตาม
- สร้างปรากฎการณ์ให้นักแสดงหญิง จองโฮฮยอน มียอดผู้ติดตามใน IG แซงทุกคนขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มนักแสดงหญิงเกาหลี และกลายเป็นท็อปอินฟลูเอ็นเซอร์ที่ทำเงินได้ถึง 1.45 ล้านบาท ต่อการโพสต์โฆษณา 1 โพสต์
- มีการนำไปต่อยอดแคมเปญกิจกรรมในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส จัดกิจกรรมเกมแกะน้ำตาลที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ขณะที่ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีใต้ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จัดการแข่งขัน Squid Game ของจริงขึ้น ชื่อของ Squid Game ยังถูกนำไปทำเหรียญมีมคริปโต และยิ่งดังขึ้นไปอีกเมื่อเหรียญดังกล่าวเกิดการ Rug pull เจ้าของโปรเจกต์ฉ้อโกงเชิดเงินหนี
K-Pop
- 2021 นับเป็นปีที่ K-Pop ยิ่งต่อยอดความสำเร็จ Soft Power ในระดับโลกได้มากขึ้น โดยขยายออกจากความเป็นเพลงเคป๊อบเฉพาะกลุ่ม ทำเพลงภาษาอังกฤษและคอลแลปกับศิลปินระดับโลก เช่น Coldplay ไปบุกชาร์ตเพลงในระดับสากลและในประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น นำโดยวงบอยแบนด์แห่งชาติ BTS และโซโล่อัลบั้มของ ลิซ่า Blackpink
- ปีนี้ BTS ได้สร้างไวรัลระดับโลก ด้วยคลิปโชว์เพลง 'Permission To Dance' ซึ่งถ่ายทำจริงในบริเวณอาคารสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ นิวยอร์ก ทั้ง 7 หนุ่มในฐานะของตัวแทนพิเศษด้านคนรุ่นใหม่และวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ยังได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เกี่ยวกับวิกฤตการณ์โควิด-19 และปัญหา Climate Change อีกด้วย นอกจากภาพลักษณ์ที่ไม่เคยมีบอยแบนด์วงไหนทำได้แบบนี้มาก่อนแล้ว BTS ยังสร้างประวัติศาสตร์คว้าทุกรางวัลที่เข้าชิงในงาน Billboard Music Awards ที่ลอสแอนเจลิส
- "ลิซ่า Blackpink" เป็นอีกหนึ่งศิลปินเคป๊อปชาวไทย ที่มีส่วนสำคัญในการพาเพลงป๊อปเกาหลีออกนอกกรอบเดิมๆ โดยพาโซโล่อัลบั้มแรก LALISA ไปติดชาร์ตระดับโลกต่างๆ ตั้งแต่ Youtube, Spotify และ Billboard และยังสามารถเจาะชาร์ตเพลงเดี่ยวในหลายประเทศได้ โดยลิซ่านั้นมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ช่วยส่งเสริม การเป็นศิลปินเกาหลีเพียงไม่กี่คนที่ "จีน" ยอมรับ นับเป็นแม่เหล็กชั้นดีที่ทำให้แบรนด์สินค้าระดับโลกต่างๆ วิ่งเข้าหา และยิ่งเมื่อเพลง Money จุดติดพ่วงไปกับซีรีส์ Squid Game ในแพล็ตฟอร์ม TikTok ก็ยิ่งช่วยในด้านความเป็นไวรัลติดหูในโลกโซเชียล ทำให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างนอกกรอบ K-Pop และกลายเป็น 1 ในความสำเร็จของ Soft Power เกาหลีปีนี้อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
K-Food
- อิทธิพลซอฟต์พาวเวอร์ผ่านซีรีส์ หนัง และเพลง ไปจนถึงการทำการตลาดผ่านสปอนเซอร์ เช่น แบรนด์อาหาร Bibigo ที่เป็นสปอนเซอร์ทีมบาสเก็ตบอล LA Lakers จนมีภาพของ Le Bron James ใส่เสื้อบาสที่มีโลโก้ของบิบิโกอยู่ด้านหลัง ล้วนแล้วแต่เป็นการขยายอิทธิพลให้อาหารเกาหลี
อยู่ในกระแสความสนใจหลักของโลก ส่งผลให้ในปีนี้ (ถึงวันที่ 25 พ.ย.) ยอดส่งออกสินค้าในหมวดอาหารของเกาหลีใต้ เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 16.1% ไปอยู่ที่ 10,130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.42 แสนล้านบาท) โดยเป็นการทะลุ 10,000 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก - ในบรรดาอาหารที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ประกอบไปด้วยสินค้าหลายประเภท ตั้งแต่ สตอว์เบอร์รี องุ่น ผลิตภัณฑ์จากสาหร่าย ไปจนถึง กิมจิ และโสม โดยเฉพาะสาหร่ายนั้นสามารถส่งออกไปถึง 600 ล้านดอลลาร์
- ขณะที่อาหารอย่าง "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" หรือ รามยอน ซึ่งประสบความสำเร็จมากจากคลื่นวัฒนธรรมป๊อบเกาหลี ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นถล่มทลยเช่นกัน บริษัทรามยอนรายใหญ่ Nongshim มียอดขายในไตรมาส 3 สูงสุดทุบสถิติใหม่ที่ 6.9 แสนล้านวอน ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นยอดขายในต่างประเทศ และนับเป็นครั้งแรกที่ยอดขายบะหมี่ยี่ห้อ Shin Ramyun ในต่างประเทศแซงหน้ายอดขายภายในประเทศได้ ขณะที่บริษัท Samyang Foods ซึ่งมีจุดขายที่มาม่าเผ็ด สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ 2.3 แสนล้านวอนในไตรมาส 3 หรือมากกว่ายอดขายในประเทศ 3 เท่า โดยมีตลาดส่งออกหลักที่ จีน กลุ่มประเทศอาเซียน และสหรัฐ
K-Beauty
- จากการบุกเบิกของ K-Drama และ K-Pop ที่ทำให้ทั่วโลกหันมายอมรับในความงามแบบหนุ่มสาวเกาหลี ส่งผลให้ยอดการส่งออกเครื่องสำอางของเกาหลีในปี 2020 ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นมากถึง 16.1% เมื่อเทียบปี 2019 อยู่ที่ 7,570 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทางการเกาหลีอ้างตัวว่าเป็นประเทศผู้ส่งออกเครื่องสำอางรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่ฝรั่งเศส และสหรัฐ เท่านั้น
- ในปี 2021 นี้ยังไม่มีการรวบรวมตัวเลขทางการออกมา แต่จากข้อมูลของหน่วยงานที่ดูแลด้าน SME และสตาร์ทอัพในเกาหลีใต้ เดือน ต.ค. ปีนี้พบว่า การส่งออกเครื่องสำอางของบริษัทในกลุ่มเอสเอ็มอี เพิ่มขึ้นเป็น 4,390 ล้านดอลลาร์ หรือเติบโตมากถึง 1,278% ในช่วง 11 ปีมานี้
- สำนักข่าว Nikkei รายงานอ้าง Trendyol ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดในประเทศตุรกี ว่า จากเดิมที่ขายเครื่องสำอางเกาหลีได้ประมาณ 1.35 แสนชิ้นในปี 2019 ยอดขายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า เป็น 6.65 แสนชิ้นในปีนี้ และมีรายงานว่า K-Beauty กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง จนถึงอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหม่ของวงการเครื่องสำอางเกาหลี