บทความโดย ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน
บ. หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด
ในบทความของผมในSpotlight เดือนที่ผ่านมา ผมได้เขียนเตือนถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ที่จะเกิดภาวะ Stagflation (คือ เศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อสูง) และ Recession (คือ เศรษฐกิจถดถอย หรือการเติบโตเศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดกันเป็นอย่างน้อย) มีมากขึ้น แม้ว่าความเสี่ยงจะยังค่อนข้างน้อยในเดือนที่แล้ว
แต่มาในเดือนนี้ ความเสี่ยงนี้ได้เห็นอย่างเด่นชัดมากขึ้น จากประเด็นด้านการเงินในสหรัฐ ที่จะมีสัญญาณเตือนหนึ่งที่เรียกว่า Inverted Yield Curve หรือเส้นผลตอบแทนพันธบัตรกลับทิศ ซึ่งเมื่อใดที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้น (เช่น 2 ปี) สูงกว่าระยะยาว (เช่น 10 ปี) จะเป็นเครื่องบ่งชี้โอกาสการเกิดวิกฤตแทบทุกครั้ง โดยในสัปดาห์ที่แล้ว เครื่องชี้วัดนี้ได้ส่งสัญญาณอีกครั้ง หลังเคยส่งในช่วงปี 2019 ก่อนวิกฤต Covid ปี 2006 ก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และปี 2000 ก่อนวิกฤตฟองสบู่ Dot com ซึ่งเมื่อเกิดภาพเช่นนี้ ผมจึงคำนวณว่าเป็นไปได้สูงที่วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐจะมาภายในช่วงต้นปีถึงกลางปีหน้า (หรือเร็วกว่านั้น) เราลองมาวิเคราะห์กันดูครับ
สาเหตุที่วิกฤตจะเกิดขึ้นเป็นผลจากสถานการณ์ Stagflation ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน และถูกทวีความรุนแรงขึ้นด้วยภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และแนวนโยบาย Zero covid ในจีน ที่จะกระทบต่อทั้งการผลิต-การขนส่งวัตถุดิบ เชื้อเพลิง สินแร่โลหะอุตสาหกรรม รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าขั้นกลางต่าง ๆ หรือแม้แต่กระทั่งอาหาร
ภาวะเงินเฟ้อเหล่านี้จะทำให้ประชาชนเริ่มเกิดการกักตุนสินค้าทั่วโลก และยิ่งทำให้สินค้าขาดแคลน ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น และทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ (นำโดยธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed) ต้องถอนสภาพคล่องกลับและขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยท่ามกลางหนี้ทั่วโลกที่สูงขึ้น (ปัจจุบันอยู่ประมาณ 350% GDP) ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยทุก ๆ 1% จะทำให้รายได้สุทธิของประชาชน ภาคเอกชน หรือภาครัฐหายไปกว่า 3-5% (เพราะจะต้องนำรายได้ไปจ่ายดอกเบี้ยที่แพงขึ้น)
รายได้ที่หายไป ทำให้เงินเหลือในการบริโภค (สำหรับประชาชน) และลงทุน (สำหรับภาคธุรกิจ) น้อยลง รวมถึงทำให้ภาครัฐขาดดุลการคลังมากขึ้น ต้องกู้เงินเพื่อมาชดเชยการขาดดุลมากขึ้น ขณะที่ในฝั่งธนาคารกลางเอง ถ้าเงินเฟ้อยังไม่ลดลง ธนาคารกลางก็จะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขึ้นดอกเบี้ยแรงเพื่อกระชากเศรษฐกิจให้ชะลอลง ซึ่งจะทำให้ความต้องการซื้อสินค้าและบริการหดตัวลง ราคาก็จะไม่เพิ่มขึ้นต่อ
ในฝั่งของประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทย แม้ว่าเศรษฐกิจไม่ได้ร้อนแรงมากเช่นสหรัฐ หรือมีความสัมพันธ์กับรัสเซียและยูเครนโดยตรงมากเช่นในยุโรป แต่การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงประเทศเจริญแล้วอื่น ๆ ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็จะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม เพื่อไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าลง
นอกจากนั้น หากราคาโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ประเทศไทยก็ต้องใช้เงินตราต่างประเทศไปซื้อน้ำมันมากขึ้น ทำให้การขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมีมากขึ้นไปด้วย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 2 ปีติดกันเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี และเป็นความเสี่ยงให้ค่าเงินบาทอ่อนและเงินทุนไหลออก ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วเกินไป ก็จะทำให้การนำเข้าสินค้า เช่น น้ำมันแพงขึ้น และผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปอีก
ธปท. จึงจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกันไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าลงมากอย่างรวดเร็ว และกันไม่ให้เงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งการปรับขึ้นของดอกเบี้ยท่ามกลางภาระหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจ และหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้ต้นทุนทางการเงินของประชาชน ธุรกิจ และรัฐบาลมากขึ้น กดดันความสามารถในการชำระหนี้ต่อไป
ภาพเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับ 3 วิกฤตในปีนี้ และอีก 3 วิกฤตในปีหน้า โดยในปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับ 3 วิกฤต คือ วิกฤตพลังงาน วิกฤตค่าครองชีพ และวิกฤตค่าเงิน จะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอลง โดยการใช้จ่ายของประชาชนโดยเฉพาะประชาชนระดับฐานรากจะลดลงจากภาวะเงินเฟ้อสูงในสินค้าจำเป็น แต่เกิดภาวะเงินฝืดในสินค้าขั้นกลาง เช่น เสื้อผ้า หรือแม้แต่สินค้าคงทน เช่น ที่อยู่อาศัยและรถยนต์ (แต่รถยนต์อาจได้ปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันแพง ทำให้มีความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น) ทำให้คนชั้นกลางและระดับบนยังมีความสามารถในการจับจ่ายอยู่
แต่ในปีหน้า ภาพเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นในปีหน้า ที่วิกฤตจะลุกลามมากขึ้น จากวิกฤตรากหญ้า กลายเป็นวิกฤตของชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ และลามทั่วโลกผ่านดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้การผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น ส่งผลให้บริษัทต่างๆ และเศรษฐกิจโดยรวมตกต่ำลง ลามสู่ทั่วโลกผ่านการค้าระหว่างประเทศที่หดตัว
ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้า อาจเผชิญกับ 3 วิกฤต คือ 1. วิกฤตส่งออก (จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก) 2. วิกฤตภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีหนี้สูง อาจเสี่ยงต่อภาวะล้มละลายจากดอกเบี้ยขาขึ้น และ 3. วิกฤตการเมือง ที่เป็นผลจากความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น ค่าครองชีพที่่แพงขึ้น และอาจนำมาสู่การประท้วงใหญ่ คล้ายกับที่เกิดกับบางประเทศ เช่น ศรีลังกา และอียิปต์
เมื่อความเสี่ยงในปีนี้และปีหน้าสูงขึ้นมาก เราในฐานะนักธุรกิจ นักลงทุน รวมถึงประชาชนควรเตรียมตัวอย่างไร คำตอบคือ ไม่ง่ายโดยในฝั่งนักธุรกิจ ภาพเศรษฐกิจในระยะต่อไป จะถูกกระทบในฝั่งของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น การส่งออกเป็นหลัก ขณะที่ในประเทศ ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงแรงงาน เช่น ภาคการก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง หรือแม้แต่ภาคค้าปลีกที่ถูกกระทบจากกำลังซื้อที่จะลดลง อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป โดยอาจลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น และหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่ไม่กระทบจากวิกฤตด้านการผลิต นอกจากนั้น ในการวางแผนดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป ควรระมัดระวังการก่อหนี้ในอนาคต หรือแม้แต่มูลหนี้ในปัจจุบัน ถ้ามีความจำเป็น นักธุรกิจอาจต้องหาทางล๊อคดอกเบี้ยยาว ก่อนที่ดอกเบี้ยจะมีทิศทางปรับขึ้น
ขณะที่ในส่วนของนักลงทุน อาจต้องลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น (แต่ก็ยังคงต้องกระจายการลงทุนในทุก ๆ สินทรัพย์เพื่อมิให้พลาดโอกาสในการลงทุนที่อาจกลับมาเป็นบวกในระยะสั้น ๆ หากมีปัจจัยบวก) รวมถึงเลือกที่จะลงทุนในธุรกิจที่มีงบการเงินแข็งแกร่ง มีการกู้ยืมในระดับต่ำ รวมถึงเลือกลงทุนในตลาดที่มีศักยภาพระยะยาว เช่น เวียดนาม ขณะที่ประชาชนทั่วไป อาจต้องเริ่มเก็บออมมากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตใหม่ที่กำลังเข้ามาในระยะต่อไป
เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น ผู้อ่านทั้งหลาย โปรดระมัดระวัง
ข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
สงครามรัสเซีย ยูเครนจะจบอย่างไร? ผลกระทบจากวิกฤติน้ำมันแพงต่อเศรษฐกิจไทย
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด