รัฐบาลเซ็นกู้เงินญี่ปุ่น 50,000 ล้านเยน อัตราดอกเบี้ย 0.01% อายุเงินกู้ 15 ปี เงื่อนไขดี ไม่ต้องจ่ายเงินต้นอีก 4 ปี นายกรัฐมนตรี ชี้แจงไม่ใช่การกู้เงินรอบใหม่ยังอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินโควิดเดิม เตรียมนำเงินใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยกระทรวงการคลังได้ร่วมกันลงนามในสัญญาเงินกู้ 50,000 ล้านเยน เพื่อใช้สำหรับแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ Mr. Morita Takahiro ผู้แทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ได้ร่วมกันลงนามในสัญญาเงินกู้สำหรับ COVID-19 Crisis Response Emergency Support Loan วงเงิน 50,000 ล้านเยน ณ กระทรวงการคลัง
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการลงนามในสัญญาเงินกู้ COVID-19 Crisis Response Emergency Support Loan ของรัฐบาลญี่ปุ่นผ่าน JICA วงเงิน 50,000 ล้านเยน อัตราดอกเบี้ย 0.01% อายุเงินกู้ 15 ปี มีระยะเวลาปลอดเงินต้น (Grace Period) 4 ปี ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินกู้แก่ประเทศต่างๆ เพื่อใช้สำหรับแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
สำหรับการกู้เงินดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก. โควิด เพิ่มเติม พ.ศ. 2564)
โดยการลงนามในสัญญาเงินกู้ดังกล่าวเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น (Exchange of Notes) และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ระหว่างนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ Mr. Kazuya Nashida เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
ขณะการกู้เงินครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศในหลากหลายมิติซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก. โควิด เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อใช้สนับสนุนด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการป้องกันและรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การรักษาระดับการจ้างงานจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
นอกจากนี้ การกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นในครั้งนี้จะช่วยลดการแย่งชิงทรัพยากรจากตลาดการเงินในประเทศ (Crowding Out) และเป็นการเพิ่มแหล่งเงินทุนระยะยาวที่มีต้นทุนต่ำเพื่อช่วยประหยัดภาระดอกเบี้ยของรัฐบาล รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาขยายตัวอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า กรณีที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับรัฐบาลไทยจำนวน 5 หมื่นล้านเยน หรือ 13,235 ล้านบาท ในรูปแบบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำว่าเป็นการกู้เงินอยู่ภายใต้วงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด-19 เคยที่อนุมัติไปแล้วซึ่งไม่ใช่การกู้เงินรอบใหม่ โดยใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศเป็นหลัก แต่ทางญี่ปุ่นให้ดอกเบี้ยต่ำ มีข้อแม้ว่าต้องนำมาดูแลในเรื่องโควิด-19 โดยจะนำมาตรวจคัดกรองตามจังหวัดชายแดนของไทย
ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 1-2 พ.ค. 2565 นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายคิชิดะ ฟูมิโอะ ได้เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย โดยได้หารือกับพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล และจะร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง และแถลงข่าวร่วมกัน
จากนั้น นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและคณะ โดยการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในครั้งนี้ จัดขึ้นในโอกาสการครบรอบ 135 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และ ๑๐ ปี ของการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์
สถานะหนี้สารณะคง ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2565 มีจำนวน 9,951,962.73 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 60.64% ของ GDP โดยแบ่งเป็นหนี้รัฐบำล 8,814,544.96 ล้านบาท, หนี้รัฐวิสำหกิจ 876,454.69 ล้านบาท, หนี้รัฐวิสำหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 253,945.59 ล้านบาท และหนี้หน่วยงำนของรัฐ 7,017.49 ล้ำนบำท โดยมี หนี้รัฐบาลจำนวน 8,814,544.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 93,615.22 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า