ราคาข้าวสาลีโลกจ่อแพงขึ้นอีก หลังเบอร์ 2 "อินเดีย" ห้ามส่งออก-มีผลทันที คาดกระทบต้นทุนราคาอาหารสัตว์พุ่ง และตอกย้ำทิศทางการกักตุนอาหาร
เมื่อวานนี้ (13 พ.ค. 65) รัฐบาลอินเดียประกาศคำสั่งห้ามการส่งออกข้าวสาลี โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันที เนื่องจากอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก พยายามที่จะควบคุมราคาข้าวสาลีภายในประเทศ
รัฐบาลอินเดียระบุว่า การขนส่งข้าวสาลีจะได้รับอนุญาตเฉพาะที่มีการออกหนังสือรับรองการชำระเงินโดยธนาคาร (letters of credit: L/C) แล้วเท่านั้น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บรรดาผู้ซื้อทั่วโลกได้แห่มาซื้อข้าวสาลีจากอินเดีย หลังจากที่การส่งออกข้าวสาลีจากภูมิภาคทะเลดำ (โดยเฉพาะยูเครนและรัสเซีย) ลดลงนับตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตียูเครน ในช่วงปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ราคาข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีในอินเดียพุ่งขึ้น 15-20% แล้ว ในขณะที่ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี โดยราคาข้าวสาลีที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกนั้นเป็นผลกระทบมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนซึ่งทำให้เกิดความปั่นป่วนทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้อุปทานข้าวสาลีเกิดภาวะชะงักงันครั้งใหญ่
มาตรการห้ามส่งออกอาหารของอินเดียในครั้งนี้ นับเป็นความต่อเนื่องที่เริ่มเห็นในหลายประเทศแล้ว เช่น รัสเซียห้ามส่งออกธัญพืชและน้ำมันดอกทานตะวัน อินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม คาซัคสถานห้ามส่งออกข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลี ท่ามกลางราคาอาหารโลกที่พุ่งสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงมาง่ายๆ
การห้ามส่งออกข้าวสาลีครั้งนี้คาดว่าจะกระทบต่อ "ราคาอาหารสัตว์" ไปด้วย หลังจากก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์เพิ่งเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาต้นทุนราคาอาหารสัตว์แพง ด้วยการมีมติให้ยกเลิกใช้มาตรการ 3 ต่อ 1 หรือมาตรการซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำเข้าข้าวสาลีได้อย่างเสรี ภายใต้เงื่อนไขต้องนำเข้าได้ถึงวันที่ 31 ก.ค. 65 เท่านั้น ขณะที่ "อินเดีย" เป็นตลาดหนึ่งที่ไทยพิจารณาจะนำเข้าข้าวสาลีมาด้วย