ข่าวเศรษฐกิจ

ค่าไฟจ่อขึ้นรอบ 3 ! 5 บาทต่อหน่วยมาแน่ เปิดที่มาค่าไฟแพง

20 ก.ค. 65
ค่าไฟจ่อขึ้นรอบ 3  ! 5 บาทต่อหน่วยมาแน่  เปิดที่มาค่าไฟแพง
ไฮไลท์ Highlight

"กฟผ.มีภาระค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าไว้จนถึงปัจจุบัน ไม่ต่ำกว่า 83,010 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่า หากให้ กฟผ.แบกรับภาระค่า Ft งวดที่ 3 (ก.ย.-ธ.ค. 2565) นี้อีก ภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ.อาจจะพุ่งทะลุเกินไปกว่า 100,000 ล้านบาท ในช่วงต้นปี 2566  ปัจจุบัน กกพ.จึงได้รับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ ระหว่างวันที่ 12-25 ก.ค. 2565"

หมดยุคของถูกอีกต่อไป ! คำนี้คงไม่เกินจริเพราะทุกวันนี้สินค้าสารพัดรอบตัวเราพาเหรดกันขึ้นราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดของพลังงาน น้ำมัน แก๊สหุงต้ม และข่าวร้ายที่กำลังจะตามมาอีกตัวคือ “ค่าไฟ” ซึ่งในปี 2565 นี้ ค่าไฟมีการปรับขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง และกำลังพิจรณาขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับความคิดเห็นไปก่อนหน้านี้ และเตรียมจะประกาศอัตราค่าไฟใหม่ภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์จากนี้

 

ประเด็นคือค่าไฟที่กำลังจะขึ้นมีสัญญาณว่า จะเป็นอัตราที่สูงที่สุด เท่าที่เคยปรับขึ้นค่าไฟมา นั่นคือประมาณ 90 - 100 หรือพูดง่ายขึ้นอีกราว 1 บาทต่อหน่วยนั่นเอง ดังนั้น ก่อนจะกกพ. จะประกาศอัตราค่าไฟใหม่ออกมาอย่างเป็นทางการ SPOTLIGHT ขออธิบายให้ทุกคนเข้าใจโครงสร้างค่าไฟฟ้าของบ้านเราก่อนว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และสาเหตุว่าทำไมค่าไฟฟ้าจึงต้องขึ้น รวมไปถึงทางเลือกการปรับอัตราค่าไฟฟ้ามีอะไรบ้าง  

 

โครงสร้างค่าไฟฟ้า  ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่าไฟฟ้าผันแปร + ภาษีมูลค่าเพิ่ม

เพื่อความเข้าใจที่ง่าย หยิบบิลค่าไฟฟ้าที่บ้านมาดูประกอบบทความไปด้วย เราจะพบว่า ในบิลค่าไฟของทุกบ้านประกอบไปด้วย

  1. ค่าไฟฟ้าฐาน 
    หรือในบิลจะระบุว่า ค่าพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ในอัตราประมาณ 3.76 บาท/หน่วย มาตั้งแต่ปี 2558 ค่าไฟฟ้าฐาน มักจะมีการปรับทุกๆ 3- 5 ปี ซึ่งเท่ากับไม่ได้ปรับค่าไฟฐานขึ้นมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว  ค่าไฟฟ้าฐานคิดคำนวณมาจากค่าลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้า สถานีจ่ายไฟฟ้าและค่าเชื้อเพลิง

    -โดยแบ่งตามผู้ใช้ไฟฟ้า 7 ประเภท 

    ประเภทที่ 1 ​บ้านที่อยู่อาศัย
    ประเภทที่ 2​ กิจการขนาดเล็ก
    ​ประเภทที่ 3​ กิจการขนาดกลาง
    ประเภทที่ 4​ กิจการขนาดใหญ่
    ประเภทที่ 5​ กิจการเฉพาะอย่าง
    ประเภทที่ 6​ องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร
    ประเภทที่ 7 ​กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร
    ประเภทที่ 8​ ไฟฟ้าชั่วคราว

เช็คอัตราค่าไฟฟ้าบ้านที่อยู่อาศัย
https://www.mea.or.th/upload/download/file_0cbe47e5f271ef298469220a52ae00d8.pdf

  

เมื่อคำนวณค่าไฟฟ้าฐานได้แล้ว จะต้องนำมารวมกับค่าบริการรายเดือนอีกด้วย โดยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ และมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน คิดค่าบริการรายเดือน เท่ากับ 8.19 บาท/เดือน

2) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.2 คือ บ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์เกิน 5 แอมป์ และบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ แต่มีการใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย/เดือน ติดต่อกัน 3 เดือนขึ้นไป จะคิดค่าบริการ รายเดือน เท่ากับ 38.22 บาท/เดือน

 

2.ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า FT (Float time) 
คือ ค่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น ตามช่วงเวลาต่างๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการคำนวณ ซึ่งค่าไฟฟ้าปรับเปลี่ยนตามต้นทุนที่เปลี่ยนไป

 

ค่าFT นี้จะมีการพิจารณาทุกๆ 4 เดือน เท่ากับ 1 ปี จะต้องพิจารณา 3 งวด ซึ่งในปี 2565 มีการปรับขึ้นไปแล้ว 2 งวด คือ

งวดที่ 1 (ม.ค.-เม.ย. 65)  ขึ้น 16.71 สตางค์         จัดเก็บที่ 1.39 สตางค์/หน่วย                               

งวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค. 2565) ขึ้น 23.38  จัดเก็บที่ 24.77 สตางค์/หน่วย    

งวดที่ 3 อยู่ระหว่างการพิจารณา  จะขึ้นเท่าไหร่ ?  

 

มาถึงตรงนี้พอจะคำนวณค่าไฟฟ้าได้ครึ่งทางแล้ว คือ นำค่าไฟฟ้า + ค่าบริการรายเดือน + ค่าFT  แต่ยังไม่จบยังต้องบวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย

 

  1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดเป็นร้อยละ 7 ของค่าไฟฟ้าฐานรวมกับค่าไฟฟ้าผันแปรตัวอย่างการคิดค่าไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย สมมุติในเดือนกันยายน 2541 ผู้ใช้ไฟฟ้าใช้ไฟฟ้า 500 หน่วย

 602243

 

จริงหรือไม่ ค่า FT รอบใหม่จ่อขึ้น 1 บาท รวมค่าไฟฐานเท่ากับ 5 บาท/หน่วย ?

คำตอบของคำถามนี้อาจจะสะเทือนใจผู้อ่าน เพราะต้องตอบว่า จริง ! มีความเป็นไปได้ที่ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยจะไปถึง 5 บาท ทั้งนี้เพราะโครงสร้างส่วนที่ 2 ในปัจจุบัน คือ ค่าFT มีต้นทุนที่สูงขึ้น และไม่ใช่แค่ต้นทุนจากเชื้อเพลิงอย่างเดียว ที่ผ่านมาค่าไฟ ก็ยังมีปัญหาคล้ายราคาน้ำมัน ที่มีกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนจนติดลบ  ค่าไฟก็เช่นกัน ปัจจุบัน กฟผ. รับภาระดูแลไม่ให้ค่าปรับขึ้นค่าไฟตามต้นทุนที่แท้จริง  

 

"ทั้งนี้กฟผ.มีภาระค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าไว้จนถึงปัจจุบัน ไม่ต่ำกว่า 83,010 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่า หากให้ กฟผ.แบกรับภาระค่า Ft งวดที่ 3 (ก.ย.-ธ.ค. 2565) นี้อีก ภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ.อาจจะพุ่งทะลุเกินไปกว่า 100,000 ล้านบาท ในช่วงต้นปี 2566  ปัจจุบัน กกพ.จึงได้รับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ ระหว่างวันที่ 12-25 ก.ค. 2565"

 

ทางเลือก  3 สูตร Ft ใหม่

  1. ปรับค่าไฟ 5.17 บาท หรือปรับขึ้น 28% จากปัจจุบัน โดยคำนวณค่า Ft งวด 3 เท่ากับ 139.13 สตางค์/หน่วย เพิ่มขึ้น 114.36 สตางค์/หน่วย โดยจะทยอยเรียกเก็บเงินชดเชยคืนให้ กฟผ. 45.70 สตางค์/หน่วย ภายใน 1 ปี และ กฟผ.บริหารจัดการแทนประชาชน 56,581 ล้านบาท

 

  1. ปรับค่าไฟ 4.92 บาท หรือปรับขึ้น 23% จากการปรับค่า Ft งวด 3 เรียกเก็บ 116.28 สตางค์/หน่วย เพิ่มขึ้น 114.36 สตางค์/หน่วย โดยทยอยเรียกเก็บเงินชดเชยคืนให้ กฟผ. 22.85 สตางค์/หน่วย ภายใน 1ปี กฟผ.บริหารจัดการแทนประชาชน 69,796 ล้านบาท

 

3.ปรับค่าไฟ 4.72 บาท หรือปรับขึ้น 17% จากปัจจุบัน ซึ่งวิธีการนี้ กฟผ.จะบริหารจัดการแทนประชาชน 83,010 ล้านบาท

 

กฟผ.ชี้แจงเหตุผลที่ต้องขึ้นค่าไฟ

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ห่วงใยต่อความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาวิกฤตราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมรับภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนตามแนวทางบริหารค่าไฟฟ้าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่งวดเดือนก.ย.64 จนถึงปัจจุบันรวมแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท

 

แม้ กฟผ. จะพยายามแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องแล้วจำนวน 25,000 ล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอต่อการแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงที่เกินกำลัง เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กฟผ. จึงมีความจำเป็นต้องแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถึงต้นทุนเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจริง วอนรัฐช่วยดูแลเพื่อไม่ให้กระทบต่อความความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว

 

ทั้งนี้ กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มิได้มุ่งแสวงหากำไร โดยราคาค่าไฟฟ้าและกำไรของ กฟผ. ถูกกำกับโดย กกพ. ให้มีรายได้เพียงพอต่อการลงทุนและบริหารกิจการเท่านั้น ซึ่งกำไรของ กฟผ. จะถูกนำส่งกระทรวงการคลังเป็นเงินรายได้แผ่นดินเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ รวมถึงลงทุนในระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงทางพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล

 

ส่วนกำไรสะสมของ กฟผ. จำนวน 3.29 แสนล้านบาท ที่ปรากฎในงบแสดงฐานะทางการเงินนั้นไม่ใช่เงินสด แต่เป็นการแสดงตัวเลขสะสมของมูลค่าสินทรัพย์ที่ กฟผ. นำกำไรส่วนที่เหลือจากการนำส่งกระทรวงการคลังในแต่ละปีไปลงทุนในรูปของสินทรัพย์ที่ใช้ผลิตและส่งไฟฟ้าให้แก่ประชาชน อาทิ โรงไฟฟ้า สถานีส่งไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้า ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการ จึงไม่สามารถนำกำไรสะสมดังกล่าวมาจ่ายชดเชยค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นได้

 

กฟผ. ยังคงติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด และร่วมกับภาครัฐบริหารจัดการเชื้อเพลิงเพื่อลดภาระค่าเชื้อเพลิงและต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า เช่น ปรับแผนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนถูกก่อน เลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ใช้ถ่านหินในประเทศซึ่งเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกในการผลิตไฟฟ้า ควบคู่กับการดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานอย่างเข้มข้นทั้งในสำนักงาน เขต เขื่อน และโรงไฟฟ้า กฟผ. ทั่วประเทศ สู่เป้าหมายลดใช้พลังงานลง 20% เพื่อช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาสูงจากต่างประเทศ โดยประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยประเทศให้ก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ด้วยการประหยัดพลังงาน

 

โครงสร้างค่าไฟของไทยยังมีรายละเอียดอีกมากที่บทความนี้ยังไม่ได้กล่าวถึง แต่ทั้งหมดนี้คือที่มา ที่ไป พอสังเชปของค่าไฟอบใหม่ที่กำลังจะปรับขึ้น คาดการณ์ว่าหลังการรับฟังความคิดเห็นของ กกพ.เสร็จสิ้นในสิ้นหลัง 25 ก.ค. 2565 น่าจะมีการประกาศค่า FT รอบใหม่อย่างเป็นทางการอีกครั้ง  ไม่ต้องลุ้นว่าขึ้นหรือไม่ขึ้น แต่ลุ้นว่า จะขึ้นเท่าไหร่?

ที่มา
https://www.prachachat.net/economy/news-981486
https://www.erc.or.th/th/interesting-facts-about-electricity-bills    https://www.mea.or.th/upload/download/file_0cbe47e5f271ef298469220a52ae00d8.pdf

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT