ครม.ไฟเขียวใช้งบเงินกู้ 2.1 หมื่นล้านบาททำ "คนละครึ่งเฟส 5" ใช้จ่ายคนละ "800 บาท" ต่อคน เริ่มใช้สิทธิผ่านแอปเป๋าตังค์ 1 ก.ย. - 31 ต.ค.นี้
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า วันนี้(26 ก.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 5 แสนล้านบาท
โครงการคนละครึ่งเฟสที่ 5 คิดเป็นเงินใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคน 800 บาทต่อคน ไม่เกิน 150 บาทต่อวัน ครอบคลุมผู้ได้รับสิทธิ์ 26 ล้านคน โดยให้เริ่มใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. - 31 ต.ค.นี้
รายละเอียดคนละครึ่งเฟส 5
วิธีการได้รับสิทธิ์คนละครึ่งเฟส 5
1.สำหรับประชาชนผู้ที่เคยใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4
ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2565 โดยจะต้องใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 ในการซื้อสินค้าหรือบริการภายใต้โครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 ครั้งแรกผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 14 กันยายน 2565 เวลา 22.59 น. ซึ่งหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว จะถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5
2.สำหรับประชาชนทั่วไปนอกเหนือจากกรณีได้รับสิทธิ์คนละครึ่งเฟส 4
สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” หรือผ่านเว็บไซต์ www. คนละครึ่ง .com ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2565
2.2 ประชาชนที่ไม่เคยได้สิทธิ / ไม่เคยใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง
สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ผ่านเว็บไซต์ www. คนละครึ่ง .com ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2565
ต้องยืนยันสิทธิก่อนวันที่ 1 ก.ย. 2565 และต้องใช้สิทธิผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 14 ก.ย. 2565 เวลา 22.59 น. ซึ่งหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวจะถูกตัดสิทธิ
ขณะเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2565 เป็นต้นไป จะต้องใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ครั้งแรกผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อความผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” หรือข้อความสั้น (SMS) แจ้งยืนยันสิทธิหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวจะถูกตัดสิทธิ
คุณสมบัติประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการคนละคนครึ่งเฟส 5
- ประชาชนที่มีสัญชาติไทย
- มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันลงทะเบียน
- มีบัตรประจำตัวประชาชน
- ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามฐานข้อมูลกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2565 และไม่เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3
- ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
- ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ หรือฝ่าฝืนมาตรการใด ๆ ของรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
วิธีการยืนยันตัวตัน คนละครึ่งเฟส 5
การยืนยันตัวตนก่อนการใช้สิทธิครั้งแรก ผู้ได้รับสิทธิตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จะต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนที่สาขาหรือตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) ยกเว้นผู้ที่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารกรุงไทยฯ หรือผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “Krungthai NEXT” ซึ่งผ่านการยืนยันตัวตนกับธนาคารกรุงไทยฯ แล้ว ไม่ต้องยืนยันตัวตนใหม่อีก
การเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการร้านค้า
นอกจากโครงการคนละครึ่งเฟส 5 แล้ว วันนี้ครม. ยังได้อนุมัติอีก 2 โครงการ
1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรฯ ระยะที่ 5
ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้าฯ) และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จำนวนไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 31 ตุลาคม 2565 (กรณีมีวงเงินคงเหลือในเดือนใดจะไม่มีการสะสมไปในเดือนถัดไป) รวมทั้งสิ้น 400 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ
2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯ ระยะที่ 3
ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าฯ และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จำนวนไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 31 ตุลาคม 2565 (กรณีมีวงเงินคงเหลือในเดือนใดจะไม่มีการสะสมไปในเดือนถัดไป) รวมทั้งสิ้น 400 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ ให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯ เช่น ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนทำให้ไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเดินทางไปลงทะเบียนหรือเดินทางไปใช้จ่ายวงเงินที่ได้รับผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้)
โฆษกกระทรวงการคลังพรชัย ฐีระเวช ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการทั้ง 3 โครงการ ครอบคลุมประชาชนจำนวน 42 ล้านคน โดยจะช่วยรักษากำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเติมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2565 จำนวน 48,628 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.13 ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีไม่มีการดำเนินโครงการทั้ง 3 โครงการ อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่พี่น้องประชาชน เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งรักษาระดับและทิศทางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565