ข่าวเศรษฐกิจ

กระทรวงการคลังห่วงแบงค์พาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยกระทบกำลังซื้อประชาชน

27 ก.ค. 65
กระทรวงการคลังห่วงแบงค์พาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยกระทบกำลังซื้อประชาชน

ท่ามกลางแรงกดดันของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ที่ขึ้นดอกเบี้ยแรงถึง 0.75% ยิ่งทำให้ดอกเบี้ยเฟด กับ ประเทศต่างๆห่างกันมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภาวะเงินไหลออก และค่าเงินบาทของประเทศที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าเฟดอ่อนค่าลง กรณีประเทศไทยเช่นกัน ปัจจุบันยังคงดอกเบี้ยต่ำไว้ที่ 0.5% หลายฝ่ายจึงจับตาไปที่การประชุมกนง.ในวันพุธที่ 10 สิงหาคมนี้ ว่ากนง.จะขึ้นดอกเบี้ยตามที่หลายฝ่ายคาดไว้หรือไม่

 

ความเห็นของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ระบุว่า หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าใช้เวลาส่งผ่านไปถึงดอกเบี้ยของสถาบันการเงินในอีกประมาณ 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อต้นทุนของผู้กู้เงินอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงขอความร่วมมือสถาบันการเงินให้พิจารณาผลกระทบที่จะมีต่อลูกค้า อย่าให้เกิดผลกระทบมากจนเกินไปจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นนั้น จะส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าให้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะมีผลต่อกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ แม้ว่าปัจจุบันภาวะเงินเฟ้อของไทยจะมาจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าและราคาพลังงาน ไม่ใช่จากความต้องการบริโภคที่มากเกินไป ซึ่งจากวิกฤติโควิดและวิกฤติราคาพลังงาน เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลต้องออกมาตรการมาช่วยเหลือประชาชนในเรื่องกำลังซื้อ


artboard1copy

 

"การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. นั้น ก็เพื่อรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศไม่ให้ห่างกันจนมากเกินไป เพราะจะกระทบกับการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งขณะนี้แบงก์ชาติก็ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด" นายอาคม กล่าว

 

พร้อมยอมรับว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีส่วนกระทบต่อหนี้ของรัฐบาล โดยเฉพาะต้นทุนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้ปรับเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ปัจจุบัน หนี้ของรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นแบบดอกเบี้ยคงที่ ขณะที่การระดมทุนในระยะต่อไปก็อาจมีผลกระทบที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นได้

 

กระทรวงการคลังคงคาดเศรษฐกิจไทยปี 2565 โต 3.5% 

 

ส่วนมุมมองเศรษฐกิจไทยในปี 2565  นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวที่ 3.5%  ซึ่งเป็นผลมาจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจ 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่

1.การท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยกว่า 8 ล้านคน เป็นการปรับประมาณการเพิ่มขึ้น จากเดิมที่คาดว่าจะเข้ามาเพียง 6.7 ล้านคน เนื่องจากปัจจุบันมีการผ่อนปรนมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ และยกเลิกระบบ Thailand Pass จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น

โดยตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย.65 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยกว่า 2.08 ล้านคน และหลังจากมีการยกเลิกระบบ Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 1-16 ก.ค.65 มีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 5.5 แสนคน เมื่อเทียบกับทั้งปี 2564 ที่มีเพียง 4 แสนคน ดังนั้นจึงคาดว่าในปีนี้รายได้จากการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวจะสูงถึง 0.43 ล้านล้านบาท และค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 53,000 บาทต่อคน

ดังนั้นจึงช่วยจึงคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศด้วย ให้ขยายตัวได้ 4.8%  ซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายขยายตัวต่อเนื่อง และการส่งออก คาดว่าจะขยายตัวที่ 7.7%

 

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ 1) ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งส่งผ่านไปยังต้นทุนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

 

2.ความผันผวนของตลาดการเงินโลก จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางหลายประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวโน้มเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังอัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นต่อเนื่องและภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นสำหรับประเทศไทยนั้น จะต้องรอติดตามการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 10 ส.ค.นี้

 

3.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต

 

4.เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศหลักและประเทศจีน ประกอบกับหากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในประเทศจีนยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ก็จะส่งผลกระทบห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Disruption) และส่งผลเชื่อมโยงไปยังภาคการผลิตและการค้าทั่วโลก

 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 6.5% ตามราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตภายในประเทศที่สูงขึ้นและกระจายตัวในหมวดสินค้าที่หลากหลายขึ้น โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะค่อยๆ ปรับตัวลดลง หากราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังมีการติดตามและประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังและการเงินที่เหมาะสมเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงในทุกภาคส่วน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT