Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ทำไมธนาคารกลางทั่วโลก ต้องสะสม ทองคำ และ ไทย มีทองคำสำรองมากขนาดไหน
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ทำไมธนาคารกลางทั่วโลก ต้องสะสม ทองคำ และ ไทย มีทองคำสำรองมากขนาดไหน

23 เม.ย. 67
00:01 น.
|
8.6K
แชร์

ราคาทองในวันนี้ร่วงดิ่งลงอย่างหนักตลอดทั้งวัน เริ่มตั้งแต่เปิดตลาดราคาทองในประเทศช่วงเช้า ดิ่งลงครั้งเดียว -850 บาท และระหว่างวันมีการปรับขึ้นลงถึง 17 ครั้ง ทำใ้ห้ปิดตลาดทอง ปรับลดลงถึง -1,050 บาทต่อบาททองคำ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ทองแท่ง รับซื้อ 40,250.00 (บาท) ขายออก 40,350.00 (บาท)
  • ทองรูปพรรณ รับซื้อ 39,522.12 (บาท) ขายออก 40,850.00 (บาท)
  • Gold Spot 2,296.00

ด้วยท่ามกลางความผันผวนของตลาด เศรษฐกิจที่ชะลอตัว การแสวงหา "สินทรัพย์ปลอดภัย" (Safe Haven) อาทิ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นDefensive เงินสด และทองคำ จึงกลายเป็นสิ่งที่แต่ละประเทศให้ความสำคัญ สินทรัพย์เหล่านี้ เปรียบเสมือนที่หลบภัยให้กับเงินทุน ช่วยรักษาหรือเพิ่มพูนมูลค่าในยามวิกฤต โดยมีคุณสมบัติตรงข้ามกับสินทรัพย์เสี่ยง ดังนั้นในวันนี้ Spotlight เราจะพาไปหาคำตอบว่าทำไม ธนาคารกลางทั่วโลก ถึงต้องสะสม ทองคำ และ ประเทศไทยมีทองคำสำรองมากขนาดไหน

ทำไมธนาคารกลางทั่วโลก ต้องสะสม ทองคำ และ ไทย มีทองคำสำรองมากขนาดไหน

ทำไมธนาคารกลางทั่วโลก ต้องสะสม ทองคำ และ ไทย มีทองคำสำรองมากขนาดไหน

เพราะว่าทองคำสำรองมีความสำคัญมากต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ทองคำทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บมูลค่าที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน ในช่วงปลายยุค 1800 และส่วนใหญ่ของยุค 1900 ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกยึดตามระบบที่เรียกว่า "มาตรฐานทองคำ" ระบบนี้กำหนดให้ประเทศต่างๆ รักษาค่าเงินกระดาษของตัวเองอ้างอิงกับปริมาณทองคำ ด้วยการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ระหว่างสกุลเงินของประเทศกับทองคำ หมายความว่าเงินแต่ละหน่วยที่ออกมานั้นมีมูลค่าเท่ากันในทองคำ และคนทั่วไปก็สามารถเอาเงินกระดาษไปแลกเป็นทองคำจริงได้ตามอัตราที่กำหนดไว้

แม้ว่าระบบมาตรฐานทองคำจะถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการในช่วงทศวรรษ 1970 แต่หลายประเทศก็ยังคงเก็บทองคำเป็นทุนสำรองอยู่ เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่แน่นอน ทำให้ความต้องการทองคำสำรองเพิ่มขึ้น ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเริ่มหันมาชอบทองคำมากขึ้นอีกครั้งในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ทองคำสำรองยังคงมีบทบาทอย่างต่อเนื่องในการกำหนดความน่าเชื่อถือทางการเงินและภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้ว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันจะพัฒนาไปมากแล้วก็ตาม

ด้วยคุณสมบัติที่ไม่สามารถเสื่อมสลาย หมดเกลี้ยง หรือถูกพิมพ์เพิ่มได้ง่าย ทองคำจึงเปรียบเสมือนหลักประกันความมั่นคง ยามเศรษฐกิจตกต่ำ มูลค่าของทองคำมักเพิ่มสูงขึ้น ต่างจากสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น ที่มูลค่ามักร่วงลง ด้วยเหตุนี้ ทองคำจึงได้รับการขนานนามว่า สินทรัพย์ปลอดภัย ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความไว้วางใจมาจนถึงปัจจุบัน

20 ประเทศที่มีทองคำสำรองมากที่สุด 

อันดับ & ประเทศ จำนวนทองคำสำรอง (ตัน) มูลค่าทองคำสำรอง (ล้านดอลลาร์สหรัฐ) & % ของทุนสำรองทั้งหมด
1 สหรัฐอเมริกา 8,133.46 543,499.37 (69.89%)
2 เยอรมนี 3,352.65 224,032.81 (69.06%)
3 อิตาลี 2,451.84 163,838.19 (65.89%)
4 ฝรั่งเศส 2,436.88 162,844.72 (67.28%)
5 รัสเซีย 2,332.74 155,880.00 (26.05%)
6 จีน 2,235.39 149,374.61 (4.37%)
7 สวิตเซอร์แลนด์ 1,040.00 62,543.91(7.64%)
8 ญี่ปุ่น 845.97 56,530.15 (4.37%)
9 อินเดีย 803.58 53,697.34 (8.54%)
10 เนเธอร์แลนด์ 612.45 40,925.77 (58.34%)
11 ตุรกี 540.19 36,096.67 (27.38%)
12 ไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน) 423.63 25,476.21 (4.32%)
13 โปรตุเกส 382.63 25,568.48 (72.15%)
14 อุซเบกิสถาน 371.37 24,816.10 (71.42%)
15 โปแลนด์ 358.69 23,968.87 (12.36%
16 ซาอุดิอาระเบีย 323.07 19,428.77 (4.24)
17 สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) 310.29 20,734.20 (11.64%)
18 คาซัคสถาน 294.24 19,661.66 (54.44%)
19 เลบานอน 286.83 17,249.75 (54.45%)
20 สเปน 281.58 18,815.76 (18.23%)

 

ประเทศที่มีทองคำสำรองมากที่สุดในโซน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อันดับ & ประเทศ จำนวนทองคำสำรอง (ตัน) มูลค่าทองคำสำรอง (ล้านดอลลาร์สหรัฐ) & % ของทุนสำรองทั้งหมด
1.ไทย (22 ของโลก)  244.16 16,315.44 (7.26%)
2.สิงคโปร์ (23 ของโลก) 230.02 15,370.82 (4.27%)
3.ฟิลิปปินส์ (26 ของโลก) 164.77 9,909.14 (10.09%)
4.อินโดนีเซีย (42 ของโลก) 78.57 4,724.89 (3.5%)
5.กัมพูชา (50 ของโลก) 42.49 2,612.02 (14.21%)
6.มาเลเซีย (53 ของโลก) 38.88 2,598 (2.29%)
7.พม่า (73 ของโลก) 7.27 423.87 (5.21%)
8.สปป. ลาว (98 ของโลก) 0.88 51.37 (4.21%)

ตามการประเมินของสภาทองคำโลก (World Gold Council) ณ ไตรมาส 4 ปี 2566 ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 1 ใน โซน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ อันดับที่ 22 ของโลก โดยมี จำนวนทองคำสำรอง 244.16 ตัน  มูลค่าทองคำสำรอง 16,315.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 7.26% ของทุนสำรองทั้งหมดในประเทศ 

6 เหตุผลที่ทำไมประเทศต่างๆ ถึงต้องถือทองคำสำรอง ?

ทำไมธนาคารกลางทั่วโลก ต้องสะสม ทองคำ และ ไทย มีทองคำสำรองมากขนาดไหน

มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้ประเทศต่างๆ ถือทองสำรองไว้ นี่คือบางส่วนที่สำคัญๆ

  1. ความมั่นคง ทองคำได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งเก็บมูลค่าที่มีความเสถียรและเชื่อถือได้ การที่ประเทศถือครองทองคำเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวน
  2. รักษาค่าเงิน ในอดีต ทองคำมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนมูลค่าเงินของแต่ละประเทศ แม้ว่าปัจจุบันระบบมาตรฐานทองคำ (ที่อ้างอิงค่าเงินโดยตรงกับทองคำ) จะไม่นิยมใช้แล้ว แต่หลายประเทศก็ยังคงมองว่าการถือครองทองคำสำรองเป็นวิธีช่วยรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน
  3. กระจายความเสี่ยง ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ การถือทองคำสำรองเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความเสี่ยง ช่วยกระจายความเสี่ยงของสินทรัพย์อื่นๆที่อาจมีราคาผันผวน
  4. สงคราม เป็นตัวที่จะส่งผลให้บรรดานักลงทุนย้ายเงินจากสินทรัพย์เสี่ยงเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
  5. ความสัมพันธ์กับดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาทองคำมักเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อใดที่ดอลลาร์อ่อนค่าลง ราคาทองคำมักจะสูงขึ้น ซึ่งธนาคารกลางของหลายประเทศจึงมองทองคำเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง และปกป้องทุนสำรองในช่วงเวลาที่ตลาดเงินมีความผันผวน
  6. การค้าและเงินทุนระหว่างประเทศ บางประเทศใช้ทองคำในการชำระหนี้ระหว่างประเทศ หรือใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ การมีทองคำสำรองที่มาก จะช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของประเทศนั้นๆ
  7. การรับมือวิกฤต ทองคำมักเพิ่มมูลค่าในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ หรือเมื่อเกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง ทองคำสำรองจึงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันเงินเฟ้อ และการลดค่าของเงินตรา

สรุป "ทองคำ" เปรียบเสมือน "ที่พึ่ง" ของธนาคารกลางทั่วโลก ช่วยให้แต่ละประเทศสามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ รักษาเสถียรภาพทางการเงิน และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

ปัจจัยเบื้องหลังความแปรผันของราคาทองคำเกิดจากอะไร

ทำไมธนาคารกลางทั่วโลก ต้องสะสม ทองคำ และ ไทย มีทองคำสำรองมากขนาดไหน

ถึงแม้ว่า ทองคำ จะเป็นหนึ่งในสินทรัพย์การลงทุนยอดนิยม ที่อยู่ในนิยาม Safe Haven แต่ทว่า ราคาทองคำก็มีความผันผวนอยู่เสมอ และอะไรที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางราคาทองคำ ?

1. ความต้องการซื้อขายคือแรงขับเคลื่อนหลัก : ราคทองคำเปรียบเสมือนลูกตุ้ม แกว่งไกวไปตามแรงโน้มถ่วงของ "ความต้องการซื้อขาย" ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก:

  • กลุ่มเครื่องประดับ: ทองคำเป็นที่นิยมนำมาสร้างสรรค์เครื่องประดับอันเลอค่า ความต้องการทองคำประเภทนี้ ขึ้นอยู่กับรสนิยม กำลังซื้อ และสภาพเศรษฐกิจ
  • กลุ่มการลงทุน: นักลงทุนทั่วโลกมองทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ยามตลาดผันผวน ทองคำมักกลายเป็นที่หลบภัย ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน ผลักดันราคามีแนวโน้มสูงขึ้น
  • กลุ่มอุตสาหกรรม: ทองคำมีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรม ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ ทันตกรรม และการแพทย์ ความต้องการทองคำประเภทนี้ ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อ "แรงขาย" ทองคำ เช่น การเทขายทองคำจากเหมือง การเทขายทองคำจากธนาคารกลาง และปริมาณทองคำที่หมุนเวียนในระบบ

2. สงคราม คือ ตัวเร่งปฏิกิริยา :  ยามเกิดสงคราม ทองคำมักกลายเป็น "สินทรัพย์หลบภัย" ผู้คนต่างแสวงหาความมั่นคง เทเงินซื้อทองคำ ผลักดันราคามีแนวโน้มสูงขึ้น

  • ตัวอย่าง: สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือ สงครามอิหร่านและอิสราเอล ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง หันมาซื้อทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้น

3. เงินเฟ้อคือตัวบ่งชี้ทิศทาง :  เงินเฟ้อ เปรียบเสมือน "มอนสเตอร์" ค่อย ๆ กัดกร่อนมูลค่าของเงิน ทองคำจึงกลายเป็น "โล่ห์ป้องกัน" รักษามูลค่าของเงิน ยามเงินเฟ้อพุ่งสูง ราคาทองคำมักมีแนวโน้มสูงขึ้น

  • ตัวอย่าง: เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งสูง เงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับสูง ทองคำจึงกลายเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจ ราคาปรับตัวสูงขึ้น

4. อัตราดอกเบี้ย คือ แรงดึงดูดและดาบสองคม :  อัตราดอกเบี้ย เปรียบเสมือน "แรงดึงดูด" ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน ยามอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น นักลงทุนมักเทขายทองคำ หันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ราคาทองคำมีแนวโน้มลดลง

  • ตัวอย่าง: ธนาคารกลางของหลายประเทศเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลง

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยกับราคาทองคำนั้น ซับซ้อนกว่าที่กล่าวมา ขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจอื่น ๆ ร่วมด้วย

นอกจากปัจจัยหลัก 4 ประการข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อราคาทองคำ เช่น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาน้ำมัน

ที่มา World gold council และ forbesindia

แชร์
ทำไมธนาคารกลางทั่วโลก ต้องสะสม ทองคำ และ ไทย มีทองคำสำรองมากขนาดไหน