สถานการณ์โควิดได้ทำให้ 'กรุงเทพฯ' เมืองที่ไม่เคยปิด แทบจะดับสนิทไปเกือบ 2 ปีเต็มๆ
มาวันนี้ที่กรุงเทพฯ กลับมาเปิดอีกครั้ง 'ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร' ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มองว่า Reopening Bangkok หรือการเปิดครั้งนี้ต้องไม่ใช่เพียงแค่การเปิดรับ 'นักท่องเที่ยว' แต่ยังต้องเปิดรับ 'การลงทุน' เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของเมือง และเปิดการพัฒนา 'คุณภาพชีวิตคนเมือง' ให้คนมีความหวังถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้กล่าวในการบรรยายเรื่อง Reopening Bangkok ในงาน Thailand Focus 2022 ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ที่มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนและวัฒนธรรมของภูมิภาคได้เหมือนกับ ซิดนีย์ เบอร์ลิน หรือ แวนคูเวอร์ เพราะมีวัฒนธรรมหลากหลาย มีเสน่ห์ และสถานท่องเที่ยวที่ดึงดูด โดยมีทั้ง ‘High Tech’ ความก้าวหน้า มีสิ่งปลูกสร้าง มีสิ่งอำนวยความสะดวก และมีทั้ง ‘High Touch’ ที่เป็นส่วนของศิลปวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ซึ่งจะเห็นได้ว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคนอยากมาเที่ยวมากที่สุดในโลก เพราะมีสิ่งที่น่าสนใจ มีเสน่ห์มากมาย
และสิ่งสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ มีศักยภาพน่าดึงดูดก็คือ การมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั้งพื้นที่ทำงานและการจัดกิจกรรมทางธุรกิจมาก ในขณะที่ค่าครองชีพยังไม่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ
ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีพื้นที่ออฟฟิศถึง 8.2 ล้านตารางเมตร และฮอลล์จัดงานใหญ่ๆ ที่ดึงดูดการจัดกิจกรรม MICE หรือการประชุม (Meetings), การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลกับพนักงาน/เอาท์ติ้งบริษัท (Incentive Travel), การประชุมนานาชาติ (Conventions) และ การจัดนิทรรศการ (Exhibitions) ได้ถึง 3 สถานที่หลักๆ คือ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา, อิมแพ็ค เมืองทองธานี, และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QNSCC) ซึ่งเพิ่งจะเปิดตัวหลังการปรับปรุงรีโนเวทใหญ่ และจะถูกใช้ในการประชุมสุดยอดเอเปคปลายปีนี้
อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีความพร้อมทั้งทางวัฒนธรรมและโครงสร้างมากมาย กรุงเทพฯ ก็ยังพัฒนาใช้ศักยภาพที่ตัวเองมีได้ไม่เต็มที่ เพราะเป็นเมืองที่ ‘คุณภาพการใช้ชีวิตต่ำ’ โดยมีคะแนน Livablility Index อยู่กลุ่มท้ายตารางในอันดับที่ 98 จาก 140 ประเทศ ทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่มีความสุข และชาวต่างชาติไม่อยากเข้ามาลงทุนหรืออยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และถ้ากรุงเทพฯ ไม่มีคนเก่งๆ เข้ามาอยู่ หรือธุรกิจดีๆ เข้ามาตั้ง กรุงเทพฯ ก็จะ ‘ตาย’
“หน้าที่ของผู้ว่าฯ ไม่ใช่แค่เรื่องเก็บขยะ ล้างท่อ แต่ต้องดูเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญของเมือง อนาคตเราต้องดึงดูดธุรกิจที่ดี คนที่เก่งมาที่เมือง เพื่อสามารถสร้างงาน และสุดท้ายก็มีภาษีจ่ายคืนมาให้เมืองเอาไปพัฒนาต่อ ถ้าเมืองไม่มีเศรษฐกิจที่ดี ไม่มีคนจ่ายภาษี สุดท้ายเมืองก็ไปไม่รอด มันก็เป็นวงจรที่ต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
เพราะฉะนั้นเพื่อกระตุ้นทั้งกิจกรรมเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน ทางการกรุงเทพมีสองเป้าหมายหลักคือ ‘คุมค่าครองชีพให้ต่ำ’ และ ‘เพิ่มคุณภาพชีวิตให้สูง’
ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ต้องสร้าง ‘ความเชื่อมั่น’ ให้แก่ทั้งคนในบ้านเองและชาวต่างชาติ ด้วยการสร้าง ‘Open Bangkok’ หรือ เปิดการทำงานของทางการกรุงเทพฯ ให้มีความ ‘โปร่งใส’ และ ‘ตรวจสอบได้’ มากขึ้น เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนากรุงเทพฯ และที่สำคัญคือลดปัญหาคอร์รัปชั่น ที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติบอกว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ถ่วงความเจริญของกรุงเทพฯ อยู่
ในมุมมองของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ นั้น ‘Open Bangkok’ ทำได้ด้วยการ ‘เปิด’ ใน 5 ด้านด้วยกันคือ
เปิด ‘ข้อมูล’ (Data) ออนไลน์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบการใช้งบประมาณและวางแผนการพัฒนาเมือง
ในด้านนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ บอกว่าได้ทำไปบ้างแล้วด้วยการเปิดเผยร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ซึ่งเป็น ‘ครั้งแรก’ ที่กรุงเทพฯ เปิดข้อมูลนี้ให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ ทั้งนี้เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ กระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปใช้พัฒนาการจัดงบประมาณ โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าวว่าในปีต่อไปจะเปิดให้มี ‘participatory budgeting’ ที่เปิดให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็น ลงเสียงโหวตได้โดยตรงว่าจะให้เอาเงินไปลงกับโครงการไหน
เปิด ‘สัญญา’ (Contracting) ให้ประชาชนร่วมรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างระหว่างทางการและเอกชน เพื่อสร้างความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ ลดการคอร์รัปชั่น และสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมในหมู่บริษัทเอกชน
เปิด ‘นโยบาย’ (Policy)ให้ประชาชนเห็นภาพรวมแผนการพัฒนาของทางการ ซึ่งผู้ว่าฯ ก็ได้เปิดไปแล้วตั้งแต่เริ่มหาเสียงเพื่อลงเลือกตั้ง
เปิด ‘นวัตกรรม’ (Innovation) ให้ทุกภาคส่วนนำเทคโนโลยีไปช่วยในการทำงานให้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยในด้านนี้ ผู้ว่าฯ ยกตัวอย่างการใช้ไลน์ Traffy Fondue ให้ประชาชนเข้าไปร้องเรียนเรื่องเดือดร้อนได้โดยตรง ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาการรับเรื่องได้มาก จากแต่ก่อนที่เวลาเดือดร้อนอะไรต้องยื่นเรื่อง และรอเอกสารผ่านหลายขั้นกว่าจะไปถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจ ตอนนี้ประชาชนสามารถยื่นเรื่องให้คนทำงานแก้ไขด้านนั้นๆ ได้โดยตรง ทำให้การแก้ไขเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
เปิด ‘พื้นที่’ (Space) ให้ประชาชนมีที่สาธารณะในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงสร้างเทศกาลและอีเวนท์เช่น เทศกาลกรุงเทพกลางแปลง ดนตรีในสวน หนังสือในสวนที่ทางกรุงเทพวางแผนจะให้กลายเป็นอีเวนท์ประจำปีและพัฒนาไปเป็นเทศกาลสำคัญๆ ระดับโลกที่จะดึงดูดคนเข้ามาเที่ยวหรือทำกิจกรรมในกรุงเทพต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยังกล่าวอีกว่า การเปิดพื้นที่สร้างอีเวนท์ให้คนมาใช้เวลาร่วมกันแบบนี้ นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจคึกคักขึ้นแล้วยังทำให้เกิด ‘โมเมนตัม’ ทางบวก เพราะทำให้ ‘คนเห็นคุณค่าของเมือง การมาอยู่ร่วมกัน ดูจุดร่วม ไม่ได้ดูแต่จุดต่าง’ ทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ โดยย้ำว่าสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางบวกให้เมืองได้อาจไม่ใช่ ‘เมกะโปรเจกต์’ ที่ใช้เงินมาก แต่เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และความรู้สึกเป็น ‘น้ำหนึ่งใจเดียวกัน’ ของคนในเมือง
ซึ่งจากแผนการเปิดกรุงเทพฯ ดังกล่าว จะเห็นได้ว่ากรุงเทพมหานครมุ่งเน้น ‘พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและดึงดูด ‘มันสมอง’ จากต่างชาติให้เข้ามากระตุ้นกิจกรรมเศรษฐกิจภายในเมืองหลวงแห่งนี้ให้มากขึ้น
ผู้ว่าชัชชาติยังเสนออีกว่า นอกจากการเปิดการทำงานของทางการกรุงเทพฯ ให้โปร่งใสแล้ว ในด้านอื่นๆ เช่นการเก็บภาษีที่ดินเพื่อเพิ่มงบประมาณเพื่อการพัฒนาต่างๆ ตามแผนก็สำคัญ โดยปัจจุบันทางกรุงเทพฯ กำลังเร่งเก็บภาษีที่ดินให้ได้ 100% จากตอนนี้ที่ทำไปแล้ว 60% และมุ่งเก็บภาษีจากเหล่านักธุรกิจที่หันไปปลูก ‘ต้นกล้วย’ หรือพืชอื่นๆ ในพื้นที่กลางเขตเศรษฐกิจของตัวเองเพื่อเลี่ยงภาษี
นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า กรุงเทพฯ ยังวางแผนก่อตั้ง ‘กรอ. กทม.’ หรือ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ของกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ปัญหาเมือง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจกรุงเทพฯ และเปิดช่องทางให้ทั้งสองภาคส่วนใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะเข้ามาชี้จุดอ่อน เสนอทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด
โดยการตั้ง กรอ. ครั้งนี้ ‘เป็นครั้งแรกของกรุงเทพฯ’ เพราะเมื่อก่อนหน่วยงานกรอ. ที่ดูแลกรุงเทพฯ มาจาก 'ส่วนกลาง' ซึ่งดูแลโดยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ ส่วนราชการระดับประเทศที่ดูแลเศรษฐกิจ และตัวแทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) ทำให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ 'ไม่ตรงจุด' หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะพื้นที่ไม่ได้ดีเท่าที่ควร
“หลาย ๆ อย่างเราทำเองไม่ได้ เพราะเราไม่ได้มีความรู้เท่ากับผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ เช่น ด้านธุรกิจ เราไม่ได้มีความรู้มากเท่ากับภาคเอกชน จึงต้องหาแนวร่วม โดยกทม.จะตั้ง กรอ.กทม. นำภาคเอกชนมาร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ชี้จุดอ่อนต่าง ๆ ว่าจะปรับปรุงตรงไหนได้บ้าง เพื่อให้การทำงานร่วมกันสะดวก อนาคตเราอยากจะให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของธุรกิจในภูมิภาค เพราะเรามีสิ่งดี ๆ มากมายที่จะสู้ได้ ดึงธุรกิจมาสร้างงานที่มีคุณภาพให้กับกรุงเทพฯ พอเรามีงานดี มีภาษีแล้ว เราก็สามารถสร้างคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสวัสดิการได้ สุดท้ายแล้วก็จะเป็นวงจรที่ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น” นายชัชชาติกล่าว
เรียกได้ว่าเป็นแผนการมุ่ง ‘เปิด’ กรุงเทพฯ ในแนวใหม่ที่เน้นให้ทุกฝ่าย ‘เปิดใจ’ และ ‘เปิดสมอง’ ก้าวข้ามความแตกต่างมาใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองมาร่วมมือร่วมใจกันสร้างเมืองใหม่ที่ ‘น่าอยู่’ และ ‘น่าลงทุน’ กว่าเดิมเพื่อคนทุกคน
เพราะสิ่งที่ ‘ปิดกั้น’ กรุงเทพฯ จากความเจริญอยู่อาจเป็น ‘โครงสร้างลักษณะภายใน’ ที่ปิดกั้นประชาชนส่วนมากไม่ให้มีส่วนร่วมตรวจสอบการทำงานของราชการ ที่สะท้อนออกมาใน ‘โครงสร้างลักษณะภายนอก’ ของเมืองที่ทำให้คนกรุงเทพเคลื่อนไหว พัฒนาไปข้างหน้าไม่สะดวกทั้งด้านร่างกายและจิตใจก็ได้