ข่าวเศรษฐกิจ

ยุโรปกว้านซื้อ 'LNG' หนักมาก เอเชียสู้ราคาไม่ไหว เสี่ยงไฟฟ้าขาดแคลน

8 พ.ย. 65
ยุโรปกว้านซื้อ 'LNG' หนักมาก เอเชียสู้ราคาไม่ไหว เสี่ยงไฟฟ้าขาดแคลน

หลายๆ คนอาจจะพอรู้มาบ้างว่า สาเหตุที่ค่าไฟของเราปรับขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้ เป็นเพราะก๊าซ LNG (Liquified Natural Gas) ซึ่งจำเป็นต่อการผลิตไฟฟ้ามีราคาแพงขึ้น ทั้งผลผลิตที่ลดลง และเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น 

แต่แท้จริงแล้ว อีกสาเหตุสำคัญที่ดันราคาให้สูงขึ้นก็คือ “บรรดาชาติยุโรปกำลังเข้ามาแย่งซื้อก๊าซ LNG ในราคาที่แพงขึ้น”

istock-1334655243

จากรายงานของ Bloomberg ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในปากีสถาน อินเดีย ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ รวมไปถึง “ประเทศไทย” อาจต้องเจอค่าไฟแพง หรือขาดแคลนไฟฟ้าใช้ระยะยาว เพราะชาติยุโรปเข้ามา “กว้านซื้อ” LNG จากผู้ขายแบบตลาดจร (Spot Suppliers) โดยซื้อแข่งด้วยราคาที่สูงกว่า จนประเทศเหล่านี้ไม่สามารถสู้ราคาได้ 

การกว้านซื้อครั้งนี้เป็นเพราะยุโรปต้องการตุนพลังงานให้ประชาชนใช้ในหน้าหนาว โดย Bloomberg รายงานว่า ผู้ขายหลายรายตัดสินใจไม่ต่อสัญญาขายก๊าซ LNG ระยะยาวกับประเทศในเอเชีย และหันมาส่งก๊าซให้ประเทศยุโรปแทน ทำให้ชาติเอเชียเสี่ยงจากแคลนไฟฟ้าระยะยาวหลายปี

ชาติเอเชียเตรียมเจอค่าไฟแพง ไม่มีไฟฟ้าใช้ในระยะยาว

ถึงแม้ประเทศในเอเชียจะไม่เจอปัญหามากนักหากไม่มีมีพลังงานใช้ในหน้าหนาวที่จะถึง แต่แนวโน้มราคาก๊าซ LNG ที่น่าจะสูงขึ้นจากการมีชาติร่ำรวยจากยุโรปมาแข่ง ทำให้ประเทศในเอเชียเสี่ยงที่จะต้องจ่ายค่าไฟในอัตราที่แพงขึ้น และอาจถึงขั้น “ต้องแบ่งสรรปันส่วนไฟฟ้ากันใช้” โดยอาจต้องลดกิจกรรมในบางอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง หรือแม้แต้ปิดร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงที่ใช้ไฟฟ้ามาก

สถานการณ์การซื้อขายก๊าซที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศในเอเชีย มีแตกต่างกันไป อาทิ 

  • ‘ปากีสถาน’ ไม่สามารถปีดดีลส่งก๊าซ LNG ระยะยาว 6 ปีกับผู้ขายรายหนึ่งได้ 
  • ‘อินเดีย’ ก็ปิดดีลซื้อ LNG ที่จะเริ่มส่งในปี 2025 ไม่สำเร็จ 
  • ‘ประเทศไทย’ และ’บังคลาเทศ’ เลือกไม่ลงสนามไปเสนอราคาแข่งเพื่อซื้อ LNG ที่จะเริ่มส่งในปี 2026 จากผู้ส่งออกคือ ‘กาตาร์’ และ ‘สหรัฐอเมริกา’ เลยเพราะสู้ราคาไม่ไหว

นี่หมายความว่า ถึงแม้ในตอนนี้เราอาจจะยังมีก๊าซ LNG ใช้ แต่ในระยะยาวอีก 3-4 ปีข้างหน้า ประเทศเอเชียเหล่านี้อาจจะไม่สามารถหาก๊าซ LNG มาป้อนความต้องการภายในประเทศได้มากเพียงพอ 

Raghav Mathur นักวิเคราะห์จาก Wood Mackenzie บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านพลังงาน กล่าวว่า ผู้ขาย โดยเฉพาะ Spot Suppliers ที่ทำสัญญาขายส่งก๊าซในระยะสั้นไม่จำเป็นต้องสนใจตลาดที่มีกำลังซื้อต่ำ และถึงแม้จะมีการทำสัญญาระยะยาวกับประเทศยากจนไว้ ผู้ขายก็อาจเลือกที่จะผิดสัญญาได้ เพราะกำไรที่จะได้จากการขายก๊าซให้ประเทศร่ำรวยนั้น มากพอที่จะนำมาหักลบกลบค่าปรับที่จะต้องจ่ายประเทศยากจนได้หมด

นอกจากนี้ อีกสาเหตุที่ทำให้ประเทศในเอเชียไม่สามารถซื้อ LNG มาได้ เป็นเพราะผู้ขายมองว่าประเทศเหล่านี้มีโอกาสที่จะ “เบี้ยวหนี้” ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าก๊าซตามสัญญาที่ตกลงซื้อขายกันเอาไว้ได้ เพราะหลายประเทศกำลังเจอปัญหา “ค่าเงินตกต่ำ” จนทำให้ต้องแบกรับต้นทุนนำเข้าก๊าซที่แพงขึ้นมากจากปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะปกติแล้ว ตลาดพลังงานจะซื้อขายก๊าซและน้ำมันกันในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่การที่ค่าเงินท้องถิ่นอ่อนค่าลง ทำให้ต้องแลกเงินซื้อก๊าซแพงขึ้น มิหนำซ้ำค่าเงินที่อ่อนค่าลงยังทำให้ปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศของทุกประเทศลดลงกันอย่างถ้วนหน้าอีกด้วย

โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทุนสำรองระหว่างประเทศของปากีสถานลดลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี ในขณะที่ทุนสำรองของบังคลาเทศ อินเดีย และฟิลิฟปินส์ตกไปอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี

ส่วน ‘ประเทศไทย’ เองก็อยู่ในสภาวะเลวร้ายไม่แพ้กัน เพราะปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยตกไปอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี จากภาวะบาทอ่อน นอกจากนี้ยังเจอภาวะเงินเฟ้อที่หนักที่สุดในรอบ 14 ปี ทำให้ทั้งการนำเข้าก๊าซ LNG และค่าไฟมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมากในอนาคต

 

ชาติเอเชียอาจหันไปพึ่งรัสเซีย หรือเลือกใช้พลังงานสกปรก

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ก็ใช่ว่าจะไร้ทางออกเสียทีเดียว เพราะในเมื่อไปแข่งราคากับประเทศยุโรปไม่ได้ ชาติเอเชียก็อาจหันมาพึ่งผู้ขายเก่าของยุโรปอย่าง ‘รัสเซีย’ ได้ หรืออาจไปใช้พลังงานอย่างอื่นเช่น ถ่านหิน และน้ำมัน มากขึ้น ถึงแม้จะปล่อยคาร์บอนมากกว่า LNG หลายเท่าก็ตาม

โดยล่าสุดจากการรายงานของ Bloomberg บางประเทศเช่น ปากีสถาน ก็เริ่มเข้าไปพูดคุยเพื่อขอซื้อก๊าซ LNG จากรัสเซียบ้างแล้ว 

ราคาพลังงานที่แพงขึ้นยังทำให้แม้แต่ชาติร่ำรวยบางประเทศอย่าง ‘จีน’ หันไปนำเข้า LNG ราคาถูกจากรัสเซีย โดยอัตราการนำเข้า LNG จากรัสเซียของจีน เพิ่มขึ้นถึง 25% ในปีนี้

ปัจจุบัน ไทยได้ LNG มาจาก 2 แหล่งด้วยกันคือ แหล่งเอราวัณในอ่าวไทยที่ผลิตก๊าซ LNG ประมาณ 25% ให้ประเทศ และ แหล่งก๊าซ LNG จากต่างประเทศ คือ เมียนมาร์ กาตาร์ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย

โดยปัจจุบันไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มขึ้นเพราะสัญญาสัมปทานของแหล่งเอราวัณกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำให้กำลังการผลิตก๊าซลดลงไปที่เพียง 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปกติ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน




ที่มา: Bloomberg, Reuters

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT