ข่าวเศรษฐกิจ

'แคนาดา' ให้วีซ่าถาวร 1.5 ล้านราย! เปิดรับผู้อพยพปีละ 5 แสน ถึงปี 2025

12 ธ.ค. 65
'แคนาดา' ให้วีซ่าถาวร 1.5 ล้านราย! เปิดรับผู้อพยพปีละ 5 แสน ถึงปี 2025

ถ้าคิดว่าทนหนาวไหว และเงื่อนไขตรงตามคุณสมบัติ ก็ลองเข้าไปเช็กดูเลย! "แคนาดา" แจกวีซ่าถาวรสูงสุดเป็นประวัติการณ์เกือบ 1.5 ล้านคน 

รัฐบาลประเทศแคนาดาเพิ่งประกาศแผนใหม่ว่า ตั้งแต่ปีหน้า 2023 จะเปิดรับผู้อพยพโดยให้วีซ่าถาวรมากถึง 5 แสนรายต่อปี ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2025 ซึ่งหมายความว่าภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ แคนาดาจะเปิดให้วีซ่าถาวรครั้งใหญ่ถึงเกือบ 1.5 ล้านรายเลยทีเดียว

ที่เปิดรับเยอะก็เพราะว่า แคนาดามีปัญหา "ขาดแคลนแรงงาน" เนื่องจากคนทำงานเริ่มทยอยเกษียณอายุขึ้นเรื่อยๆ ประชากรเกิดใหม่ก็มาเติมเต็มไม่ทัน เพราะคนไม่ค่อยแต่งงานและมีลูก ซึ่งเป็นเทรนด์ของประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นจึงต้องหันไปใช้วิธีเปิดรับคนทำงานจากทั่วโลกแทน

เมื่อปีที่แล้ว แคนาดาให้วีซ่าถาวรไปทั้งสิ้น 405,000 คน ซึ่งถือว่าทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศ แต่ก็ยังไม่พอต่อความต้องการของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งคาดว่าปีนี้ยอดจะสูงทุบสถิติใหม่อีกที่ประมาณ 431,000 คน

ดังนั้น รัฐบาลจึงจะขยายวีซ่าให้อีกตั้งแต่ปีหน้าต่อเนื่อง 3 ปีเป็นขั้นบันได คือ

  • ปี 2023 เป็น 465,000 คน หรือเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิม 4%
  • ปี 2024 จะเพิ่ม 7.5% เป็น 485,000 คน
  • ปี 2025 ไปแตะที่ 500,000 คน  

   istock-611987016
ขาดแคลนแรงงานหนัก

แคนาดาประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เพราะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนเกษียณเร็วแต่เด็กเกิดใหม่ไม่ทัน และที่สำคัญก็คือ คนว่างงานในประเทศตอนนี้ก็ไม่มีสกิลพอที่จะช่วยเติมเต็มแรงงานในระบบได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์

จากตัวเลขเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีสัดส่วนการว่างงานอยู่ประมาณ 1 ล้านคน แต่มีตำแหน่งงานว่างที่เปิดรับ 958,500 คน ซึ่งสะท้อนว่าคนที่ว่างงานอยู่ไม่มีทักษะความสามารถพอที่จะสมัครงานได้ หรือไม่ก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่งานที่เปิดรับ

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า แคนาดายังมีปัญหาเรื่อง "ค่าครองชีพพุ่งสูง" ตามเมืองใหญ่ด้วย เช่น โตรอนโต และแวนคูเวอร์ ซึ่งเป็นแรงกดดันให้แรงงานจำนวนมากแบกค่าครองชีพไม่ไหวและต้องย้ายไปอยู่เมืองที่ถูกกว่าแทน   

 

ประเภทงานในแคนาดา

รัฐบาลมีการอัพเดตข้อมูลเรื่องการหางาน และแรงงานที่ขาดแคลนในแต่ละสาขาเป็นปกติทุกปี โดยทางรัฐบาลมีการแบ่งทักษะต่าง ๆ ไว้ดังนี้

Skill Type 0 (zero): จะเป็นอาชีพด้านการจัดการ (management) เช่น ผู้จัดการร้านอาหาร ผู้จัดการเหมือง กัปตันเรือประมง    
Skill Level A: งานที่ต้องจบปริญญา เช่น หมอ หมอฟัน สถาปนิก 
Skill Level B: งานด้านเทคนิค และงานที่ใช้วุฒิ Diploma หรือผ่านการอบรบมาก่อน เช่น เชฟ ช่างประปา ช่างไฟ 
Skill Level C: อาชีพระดับกลางที่ต้องใช้วุฒิมัธยมปลาย หรืออาชีพที่ต้องผ่านการอบรบ เช่น คนหั่นเนื้อในเชิงอุตสาหกรรม (industrial butchers) พนักงานเสิร์ฟ คนขับรถบรรทุกระยะไกล
Skill Level D: งานแรงงานที่ต้องผ่านการอบรบก่อน เช่น คนเก็บผลไม้ พนักงานทำความสะอาด กรรมกรท่าเรือ

ในแต่ละอาชีพจะมี National Occupational Classification (NOC) codes เพื่อเอาไว้ใช้สมัครขอวีซ่าด้วย ใครสนใจอยากย้ายไปทำงานแคนาดา อาจต้องลองเข้าไปเช็กรายละเอียดกันก่อน

istock-1124659884

ตัวอย่างงานที่กำลังขาดแคลนในแคนาดา (รายได้เฉลี่ย "ยังไม่หักภาษี")    

  • Key account manager - Sales (NOC 0601)
    รายได้เฉลี่ยต่อปี $97,500 (ประมาณ 218,000 บาทต่อเดือน)

  • Software developer (NOC 2174)
    รายได้เฉลี่ยต่อปี $74,997 (ประมาณ 168,000 บาทต่อเดือน) 

  • Marketing manager (NOC 0124) 
    รายได้เฉลี่ยต่อปี $84,376 (ประมาณ 189,000 บาทต่อเดือน)

  • Registered nurses (NOC 3012)
    รายได้เฉลี่ยต่อปี $78,000 (ประมาณ 175,000 บาทต่อเดือน)

  • คนขับรถบรรทุก (NOC 7514)
    รายได้เฉลี่ยต่อปี $33,150 (ประมาณ 74,000 บาทต่อเดือน)   
     

ค่าครองชีพโดยเฉลี่ยในแคนาดา

ค่าครองชีพในแคนาดาถือว่าค่อนข้างสูง แต่ละเมืองก็จะมีค่าครองชีพแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย เฉลี่ยแล้วต่อ 1 คนจะตกอยู่ที่ประมาณ $1,242.83 ต่อเดือน (ไม่รวมค่าเช่า/ผ่อนบ้าน) ซึ่งถ้ารวมค่าบ้านด้วยก็ราว ๆ $2,200 หรือเกือบ ๆ 60,000 บาทต่อเดือน ถ้าเป็นครอบครัวก็อาจจะต้องบวกค่าดูแลเด็กไปด้วย 

หนีร้อนไปพึ่งหนาว?

สภาพอากาศในแคนาดานั้นขึ้นชื่อเรื่องความหนาวเย็นยิ่งกว่าอเมริกาและอีกหลายประเทศในซีกโลกตะวันตก ในปีนี้เพิ่งมีรายงานอุณหภูมิต่ำสุดทุบสถิติใหม่ -51 องศาเซลเซียล ที่แคว้น Nova Scotia แต่ก็ไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จะหนาวขนาดนั้น เช่นในเมือง Victoria รัฐ British Columbia ที่แทบจะไม่มีหิมะ แต่ส่วนใหญ่แล้วอุณหภูมิช่วงหน้าหนาวจะอยู่ที่ประมาณ -5 ถึง -15 ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้อพยพจากประเทศเขตร้อนมักจะขยาดถ้าคิดจะย้ายประเทศไปแคนาดา


ที่มา: Reuters, hotcourses.in.th

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT