ข่าวเศรษฐกิจ

กสิกรฯ หั่นจีดีพีไทย 2566 เศรษฐกิจโลกไม่ดี เศรษฐกิจไทยก็ไม่รอด

20 ธ.ค. 65
กสิกรฯ หั่นจีดีพีไทย 2566 เศรษฐกิจโลกไม่ดี เศรษฐกิจไทยก็ไม่รอด

กสิกรฯ หั่นจีดีพีไทยปีหน้าเหลือ 3.2% เศรษฐกิจโลกไม่ดี เศรษฐกิจไทยก็ไม่รอด หวั่น 'โควิดจีน' ไม่แน่นอนฉุดท่องเที่ยวไทย



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีหน้าเหลือ 3.2% จากกรอบเดิมซึ่งเคยให้ไว้ที่ 3.2-4.2% หลังเจอแรงกดดันรุมเร้าเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดอกเบี้ยขาขึ้น วิกฤตพลังงาน ซ้ำด้วยสถานการณ์โควิดในจีนที่ยังไม่แน่นอน 

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2566 โดยเศรษฐกิจ "สหรัฐฯ" และ "ยูโรโซน" มีแนวโน้มที่จะไม่เติบโต เพราะผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและผลพวงวิกฤตพลังงานในยุโรปนั้น จะเป็นแรงกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ที่สำคัญก็คือ ยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ใน "จีน" ด้วย เพราะแม้จะมีแนวโน้มสูงขึ้นว่า จีนจะเปิดประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2566 แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์ในจีนหลังจากนี้ ทั้งจำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต และความเพียงพอของระบบสาธารณสุข เนื่องจากยังมีความเป็นไปได้ที่จีนจะเผชิญการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อสถานการณ์การเปิดประเทศของจีน โดยยังคงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 22 ล้านคน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ไว้ที่ 3.2%

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กว่าวว่า แนวโน้มธุรกิจไทยปี 2566 ยังเผชิญหลายโจทย์รุมเร้า โดยฝั่งต้นทุน จะมีต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าแรง และดอกเบี้ยที่ขยับขึ้น ขณะที่ฝั่งรายได้จะถูกกระทบจากการที่เศรษฐกิจแกนหลักของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยและเงินบาทแข็งค่า จนฉุดความต้องการสินค้าส่งออกไทย

นอกจากนี้ เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อธุรกิจแต่ละประเภทแตกต่างกัน จึงทำให้การฟื้นตัวของรายได้ธุรกิจในปี 2566 ยังมีลักษณะเป็น K-Shaped โดยธุรกิจที่นำการฟื้นตัว จะเป็นโรงแรมและร้านอาหาร โรงพยาบาลเอกชน รวมถึงค้าปลีก ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า หรือหดตัว ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ และส่งออกในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

000_1sj4fk_4

สำหรับทิศทาง "อัตราดอกเบี้ย" ในปีหน้า คาดว่าสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ไปอยูที่ 5.0% หรืออาจสูงกว่านั้น (ปัจจุบันอยู่ที่  4.25%-4.5%) และมีโอกาสคงดอกเบี้ยในระดับสูงตลอดทั้งปี 2566

ส่วนทิศทางดอกเบี้ยในไทยนั้น คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ซึ่งย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยยังอยู่ในจังหวะขาขึ้นเช่นเดียวกัน

ด้านแนวโน้ม "ค่าเงินบาท" ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 มีโอกาสแข็งค่าขึ้น หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากตลาดรับรู้ความเป็นไปได้ดังกล่าวแล้ว

สำหรับ "ภาคการเงิน" คาดว่าแนวโน้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย จะเติบโตในกรอบจำกัด ราว 4.2-5.2% (ค่ากลาง 4.7%) เมื่อเทียบกับปีนี้ที่คาดว่าจะโต 5.0% เนื่องจากเศรษฐกิจจะเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง อีกทั้งธุรกิจมีการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง

ทิศทางเช่นนี้ยังสะท้อนผ่านมุมมองต่อ "คุณภาพสินทรัพย์ของระบบธนาคารพาณิชย์" ที่คาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้เสีย NPL น่าจะยังไม่ได้ดีขึ้นจากปี 2565 นัก โดยเอ็นพีแอล ณ สิ้นปี 2566 คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.55-2.80% เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ ณ สิ้นปีนี้ที่ 2.65-2.75%

advertisement

SPOTLIGHT