ข่าวเศรษฐกิจ

ปี 66 เศรษฐกิจไทยฟื้นไม่ทั่วถึง ท่องเที่ยวรุ่ง แต่ภาคผลิตและส่งออกร่วง

31 ม.ค. 66
ปี 66 เศรษฐกิจไทยฟื้นไม่ทั่วถึง ท่องเที่ยวรุ่ง แต่ภาคผลิตและส่งออกร่วง

“ดร.พิพัฒน์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP ชี้เศรษฐกิจไทยมีหวังฟื้นตัวถึงระดับก่อนโควิด-19 โดยมีตัวขับเคลื่อนหลักคือ ‘การท่องเที่ยว’ ที่จะได้อานิสงค์จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน แต่การฟื้นตัวอาจไม่ทั่วถึง เพราะ ‘ภาคการผลิตและส่งออก’ อาจติดลบต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อที่ทำให้กำลังซื้อทั่วโลกลด

1edit

เมื่อวันที่ 31 มกราคม ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด ได้กล่าวถึงทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ว่า เศรษฐกิจไทยจะมีความหวังฟื้นตัวถึงระดับก่อนมีการระบาดของโควิดคือปี 2019 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 2.2%

สำหรับปี 2023 KKP ได้ปรับการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทยจาก 2.8% เป็น  3.6% ทั้งนี้เป็นเพราะ  KKP มองว่าเศรษฐกิจของไทยมีข้อได้เปรียบคือกำลังอยู่คนละ cycle กับประเทศอื่นๆ โดยเศรษฐกิจไทยเพิ่งจะกลับมาโต ในขณะประเทศอื่นฟื้นตัวไปแล้ว และกำลังเข้าสู่ช่วงซบเซา ทำให้ระหว่างที่เศรษฐกิจของประเทศอื่นกำลังชะลอ เราอาจจะมีเครื่องจักรที่สำคัญที่ช่วยพยุงให้ไทยไม่ต้องรับผลกระทบมากนัก ซึ่งเครื่องจักรที่ว่าก็คือ “การท่องเที่ยว”

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า ในปี 2023 เศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงหนุนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและบริการที่น่าจะกลับมาเป็น “พระเอก” หรือตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยอีกครั้งหลังซบเซาไปสองปี เนื่องจากการเปิดประเทศของจีนน่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเคยเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สุดของภาคการท่องเที่ยวไทยกลับมาในปีนี้ 

โดย KKP คาดว่าจากการเปิดประเทศของจีน ประเทศไทยจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ถึง 25 ล้านคนในปี 2023 จากการคาดการณ์เดิมที่ 19 ล้านคน ก่อนจะขึ้นเป็น 35 ล้านคนในปี 2024

 

ท่องเที่ยวฟื้น แต่ส่งออกฟุบ ทำฟื้นตัวไม่เท่าเทียมทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มองในแง่ตัวเลข เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ค่อนข้างดี ด้วยการกระจุกตัวของภาคท่องเที่ยวไทยและห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ยาวเหมือนกับภาคการผลิตจะทำให้มีเพียงบางจังหวัดหรือบางภาคเศรษฐกิจเท่านั้นที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการฟื้นตัวนี้ 

นอกจากนี้ ภาคส่วนอื่นๆ นอกจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ ‘ภาคการผลิตและส่งออก’ น่าจะหดตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก และติดลบ 1.8% ทั้งปีเมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเช่น การถดถอยของเขตเศรษฐกิจใหญ่ในหลายประเทศเช่น สหรัฐฯ และยุโรป และภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลกถดถอยลง

ดร. พิพัฒน์ กล่าวว่าจากการคาดการณ์ล่าสุดของ IMF เศรษฐกิจโลกจะเติบโต 2.9% ในปีนี้ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตทั่วไปที่ 4% มาก ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะชะลอตัวลงจากปีก่อน และหลายเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ด้วยปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางไม่สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินช่วยพยุงเศรษฐกิจ และอาจยังคงตัดสินใจปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก โดยเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะกระทบกับภาคการส่งออกของไทยโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก

โดยถึงแม้การส่งออกจะเป็นเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ภาคส่งออกเริ่มหดตัว และมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูง และจากมูลค่าเฉลี่ยของการส่งออกในระยะ 5 ปีหลัง แสดงให้เห็นว่าการส่งออกไทยได้แตะจุดสูงสุดไปแล้วในปีที่แล้ว ดังนั้นจึงยากที่จะเติบโตในระดับสูงต่อไปในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง

 

เศรษฐกิจถดถอย-เงินเฟ้อคือปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง การฟื้นตัวของจีนคือจุดเปลี่ยน

ดร. พิพัฒน์ กล่าวว่า ในภาพรวม ปัจจัยความเสี่ยงภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตามในปีนี้มีทั้งหมด 3 ปัจจัย ได้แก่ 

  1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจใหญ่ๆ ที่ KKP คาดการณ์ว่าจะมาถึงในไตรมาสที่ 2 และ 3 ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะมาถึงเร็วและรุนแรงแค่ไหน และจะกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร
  2. เงินเฟ้อไทย และเงินเฟ้อโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง และยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าสามารถกลับมาสู่ระดับปกติได้เร็วเพียงใด เพราะยังคงอ่อนไหวกับราคาน้ำมันและพลังงานที่อาจปรับตัวสูงขึ้นได้อีก
  3. การเปิดเมืองของจีนที่ไม่มีใครคาดได้ว่าจะออกมาราบรื่นตลอดทั้งปีหรือไม่ เพราะอาจจะทำให้เกิดการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ หรืออาจทำให้การระบาดทั่วโลกกลับมารุนแรงอีก

สำหรับประเด็นเงินเฟ้อ ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า นักวิเคราะห์หลายๆ มองว่าหลายๆ ประเทศได้พ้นจุดที่แย่ที่สุดมาแล้ว เพราะเงินเฟ้อในหลายๆ ประเทศกำลังปรับตัวลง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะปรับตัวลงมาแล้ว ระดับเงินเฟ้อในปัจจุบันก็ยังถือว่าสูงมากอยู่ อย่างเช่นเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงจาก 9% มาอยู่ที่ประมาณ 5% ในปัจจุบัน ที่ถึงแม้จะลงมาแล้ว ก็ยังสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางที่ 2% อยู่ ในขณะที่ในยุโรปบางประเทศยังอยู่ที่ 9-10%

จากระดับเงินเฟ้อที่ยังสูงนี้ทำให้ KKP มองว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะยังคงทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย และคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงเช่นนี้จนกว่าปัญหาเงินเฟ้อจะทุเลาลง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งละ 25 basis points ในการประชุม 2 ครั้งข้างหน้าในเดือนมีนาคม และ พฤษภาคม ทำให้ดอกเบี้ยไทยจะขึ้นจาก 1.5% ในปัจจุบัน ไปเป็น 2% ในช่วงกลางปี

อย่างไรก็ตาม ดร.พิพัฒน์มองว่าภาคการผลิตและส่งออกของไทยอาจฟื้นขึ้นมาได้ในช่วงครึ่งปีหลังหากการเปิดประเทศของจีนเป็นไปได้อย่างราบรื่น เพราะการกลับมาของผู้บริโภคจีนจะทำให้ดีมานด์ทั่วโลกกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง

 

จับตาเลือกตั้งปี 2023 ชี้รัฐบาลใหม่ควรแก้ปัญหาโครงสร้าง เพิ่มศักยภาพการแข่งขันระยะยาว

นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว ดร. พิพัฒน์ยังกล่าวอีกว่าอีกปัจจัยสำคัญที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจไทยก็คือผลการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ เพราะนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ย่อมส่งผลต่อทิศทางในการพัฒนาของเศรษฐกิจไทย

ในการหาเสียง พรรคการเมืองหลายๆ พรรคอาจจะเลือกออกนโยบายประชานิยม หรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ ออกมาจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ดร. พิพัฒน์ มองว่ารัฐบาลใหม่ควรหันมาวางนโยบายแก้ปัญหาโครงสร้าง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวด้วย เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาทางโครงสร้างหลายประการที่ทำให้ไทยมี competitiveness ลดลง และทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงเรื่อยๆ คือ 

  1. ปัญหาการเกิด และจำนวนประชากรที่ลดลง ทำให้ทั้งตลาดแรงงานและบริโภคของไทยมีแนวโน้มหดตัว ทำให้บริษัทต่างชาติต้องการมาลงทุนในประเทศไทยน้อยลง
  2. ค่าแรงที่สูงขึ้น และเงินเฟ้อ เพราะค่าแรงขั้นต่ำในไทยสูงจนไทยไม่น่าดึงดูดในฐานะฐานการผลิตอีกต่อไปแล้ว ซึ่งวิธีแก้อาจจะเป็นการเพิ่มคุณภาพแรงงาน ทำให้ต่างชาติอยากเข้ามาใช้แรงงานระดับสูงในไทยที่มีความสามารถเหมาะสมกับค่าแรงที่สูงขึ้น และสามารถสร้าง output ที่เป็นที่ต้องการของบริษัทต่างชาติได้

เพราะฉะนั้น เพื่อให้การพัฒนาของเศรษฐกิจไทยเป็นไปได้อย่างยั่งยืน รัฐบาลไทยควรกันมาแก้จุดอ่อนทางโครงสร้างเหล่านี้ด้วย 

นอกจากนี้ ดร. พิพัฒน์ยังกล่าวอีกว่า ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบหว่านแหอาจไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว เพราะเศรษฐกิจโดยรวมก็เริ่มฟื้นตัวแล้ว และอาจจะทำให้เงินเฟ้อมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือมาตรการแก้ไขที่เจาะจงประชากรกลุ่มเปราะบางที่ยังต้องการมาตรการความช่วยเหลือ เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำลง



 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT