Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
บริษัทควรปรับตัวอย่างไร เมื่อพนักงานส่วนใหญ่กลายเป็น Millennials
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

บริษัทควรปรับตัวอย่างไร เมื่อพนักงานส่วนใหญ่กลายเป็น Millennials

14 ม.ค. 68
17:19 น.
|
264
แชร์

คนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennials) หรือที่หลายคนเรียกว่า Generation Y หมายถึงผู้ที่เกิดระหว่างปี 1981 - 1996 ปัจจุบัน คนกลุ่มนี้เข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 คนรุ่นมิลเลนเนียลจะครองสัดส่วนมากถึง 75% ของกำลังแรงงานทั่วโลก นั่นทำให้พวกเขากลายเป็นแรงขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจ ทั้งในแง่การผลิตและการบริโภค

ทั้งนี้ มีเพียง 29% เท่านั้นของคนรุ่นมิลเลนเนียลที่สามารถเข้ากับบริษัทและพนักงาน Generation อื่น ๆ ได้ ส่งผลให้ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คนรุ่นนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากในเรื่องของความเกียจคร้านและความถือสิทธิ์ สวนทางกับข้อมูลจาก Reuters ที่ระบุว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลไม่ได้เรียกร้องให้บริษัทต้องมีของเก๋ ๆ อย่างเก้าอี้บีนแบ็ก หรือโต๊ะฟุตบอลในสำนักงาน พวกเขาแค่ต้องการความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตเท่านั้น

แท้จริงแล้วคนรุ่นมิลเลนเนียลเป็นอย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้คำนิยามคนรุ่นมิลเลนเนียลที่ตรงกันไว้ว่า คนรุ่นนี้เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี พวกเขาจึงมีความเชี่ยวชาญและความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี รวมถึงการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัล ทั้งเพื่อการสื่อสารและการเรียนรู้

คนรุ่นมิลเลนเนียลให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมและการแบ่งปันความคิด รวมถึงต้องการความยืดหยุ่น ซึ่งช่วยให้พวกเขาบริหารจัดการเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะอย่างที่บอกไปตอนต้นแล้วว่าสิ่งที่คนรุ่นนี้ปรารถนามากที่สุด คือความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต ดังนั้นการปล่อยให้พวกเขาจัดการอะไร ๆ ด้วยตนเอง จึงเป็นสิ่งที่ถูกใจคนรุ่นนี้มากกว่า

ความคาดหวังของ Millennials ต่อบริษัท

ในวันที่อัตราการเกิดกำลังลดต่ำลง ปัญหาการขาดแคลนแรงงานย่อมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วบริษัทจะต้องทำอย่างไร เพื่อมัดใจคนรุ่นมิลเลนเนียลให้ทำงานต่อไปนาน ๆ โดยที่บริษัทยังคงได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ และคนรุ่นมิลเลนเนียลไม่ได้รู้สึกว่าที่ทำงานเป็นพิษ (Toxic Workplace) ข้อมูลจาก Reuters พบว่ามีความคาดหวัง 6 ข้อด้วยกัน ที่คนรุ่นนี้อยากให้บริษัทปรับเปลี่ยน

1. การปรับใช้เทคโนโลยี - อย่างที่บอกว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี พวกเขาจึงมีคุ้นเคยกับสิ่งนี้ในแง่ของเครื่องมือในการทำงาน และการมองหาคำตอบของปัญหาต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยี คนรุ่นมิลเลนเนียลจึงคาดหวังว่าบริษัทจะจัดหาระบบและเครื่องมือที่ทันสมัยมาให้ใช้งาน

2. การให้คำปรึกษา - ข้อมูลจาก TriNet บริษัทโซลูชันด้านทรัพยากรบุคคล ระบุว่า 90% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลจะรู้สึกมั่นใจมากขึ้น หากได้รับคำแนะนำและได้รับการตรวจสอบจากผู้บังคับบัญชาเป็นประจำ รวมถึงคนรุ่นนี้ยังชื่นชอบการเรียนรู้และมักขอคำแนะนำจากผู้นำองค์กรอีกด้วย ทั้งนี้ คนรุ่นมิลเลนเนียลจะมีวิธีการเรียนรู้ในแบบของตัวเอง คือการเรียนรู้แบบเน้นเนื้อหาสั้น ๆ และการลงมือทำ ดังนั้นหาก HR จะจับพวกเขาไปอบรมหรือเทรนนิง ก็ต้องทำให้มั่นใจว่าวิธีการจะไม่ใช่การบรรยายเนื้อหายาว ๆ อย่างแน่นอน

3. Work Smarter, Not Harder - คนรุ่นมิลเลนเนียลแสวงหาความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต ดังนั้นพวกเขาต้องการความยืดหยุ่นเพื่อบริหารจัดการเวลาต่าง ๆ ในชีวิต บริษัทที่มีตัวเลือกการทำงานจากที่บ้าน หรือการทำงานจากที่ไหนก็ได้ จึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจคนรุ่นนี้มากที่สุด ขณะเดียวกันหากบริษัทจำเป็นต้องให้พนักงานเข้ามาทำงานที่สำนักงาน และบางครั้งก็ต้องมีการทำงานนอกเวลาบ้าง การดึงดูดใจวัยแรงงานรุ่นนี้ก็สามารถทำได้ด้วยการ Work Smarter, Not Harder เช่น การใช้งานซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันบนคลาวด์ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยข้อมูลจาก CIO ระบุว่า 93% ของคนรุ่นมิลเลนเนียล เลือกทำงานกับบริษัทที่สนับสนุนเครื่องมือเหล่านี้ในการทำงาน

4. เพิ่มการมีส่วนร่วมในบริษัท - ข้อมูลจาก Reuters พบว่าพนักงานที่มีส่วนร่วมกับบริษัทสม่ำเสมอ มีโอกาสลาออกจากงานน้อยลง 87% ทั้งนี้ การเพิ่มการมีส่วนร่วมในบริษัทไม่ได้จำเป็นต้องทำให้เป็นเรื่องยากหรือยิ่งใหญ่ สามารถทำได้ง่าย ๆ เช่น การจัดงานสังสรรค์ทุกสิ้นเดือน ปาร์ตี้วันเกิด หรือฉลองวันครบรอบการทำงาน เพื่อทำให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขาถูกมองเห็นและมีความสำคัญ นอกจากนี้ การประชุมย่อยเพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับโปรเจกต์ใหม่ ๆ หรือทิศทางในการพัฒนาธุรกิจ ก็เป็นสิ่งที่คนรุ่นมิลเลนเนียลชื่นชอบ เพราะพวกเขาชอบทำงานเป็นทีมและชอบการแบ่งปันความคิดเห็น การเรียกประชุมย่อย ๆ ทำให้คนรุ่นนี้รู้สึกว่าเสียงของพวกเขาถูกได้ยินมากขึ้น

5. การประเมินแบบ 360 องศา - รายงานเรื่อง “How Millennials Want to Work and Live” ของ Gallup พบว่ามีเพียง 17% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลเท่านั้นที่รู้สึกว่าข้อเสนอแนะที่ได้รับจากหัวหน้านั้นมีความหมาย เรื่องนี้อาจจะฟังดูย้อนแย้งและอาจหมายความว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลไม่เปิดรับความคิดเห็นของผู้อื่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาแค่ต้องการข้อเสนอแนะและคำติชมที่จริงจัง ชัดเจน และโปร่งใส เนื่องจากคนใน Generation อื่น ๆ อาจมีการพูดที่อ้อมค้อมเพื่อรักษาน้ำใจ ดังนั้นการประเมินแบบ 360 องศา ช่วยให้พนักงานให้ความคิดเห็นต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ อย่างตรงไปตรงมา สร้างความโปร่งใสระหว่างผู้นำและผู้ร่วมงาน รวมถึงช่วยส่งเสริมการสื่อสารที่สม่ำเสมอและเปิดกว้างในบริษัทมากขึ้น

การคาดหวังให้ผู้อื่นปรับตัวเข้าหาตนอยู่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะเป็นจากฝั่งหัวหน้างาน หรือจากฝั่งพนักงาน ล้วนไม่ใช่ทางออกในการสร้างสังคมการทำงานที่ไม่เป็นพิษ แต่การทำความเข้าใจคนแต่ละรุ่น และพยายามปรับตัวเข้าหากันคนละก้าว นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ยังทำให้การตื่นเช้าไปทำงานทุกวันเป็นเรื่องที่รื่นรมย์มากขึ้นอีกด้วย (อย่างน้อยก็นิดนึง)

แชร์
บริษัทควรปรับตัวอย่างไร เมื่อพนักงานส่วนใหญ่กลายเป็น Millennials