ข่าวเศรษฐกิจ

Fed คงดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบปี ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้

15 มิ.ย. 66
Fed คงดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบปี ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้

ธนาคารกลางสหรัฐ Fed  ยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมล่าสุด 13-14 มิ.ย.2566 ที่ระดับเดิม 5.00 -5.25% หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องมาถึง 10 ครั้ง นับจากการประชุมเมื่อเดิอนมีนาคม 2022 จากอัตราดอกเบี้ย 0.25 - 0.50% ขึ้นมาสู่ 5.00 - 5.25 % ในปัจจุบัน เท่ากับปรับขึ้นมา 5% 

มุมมองของคณะกรรมการเฟดแต่ละท่าน (dot plot) คาดหมายว่า เฟดต้องการขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งครั้งละ 0.25% ไปที่เฉลี่ย 5.6 % ภายในปี 2566 นี้  นักลงทุนให้น้ำหนัก 63% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 25-26 ก.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่ระดับ 60%

ขณะที่การแถลงข่าวของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed  ระบุถึงความจำเป็นในการที่เฟดอาจต้องปรับดอกเบี้ยอีกในปีนี้ เพราะสถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาอาจปรับตัวสูงขึ้นได้อีกในครึ่งปีหลังเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว  ท่าทีของประธานเฟดให้ยังคงให้ความสำคัญต่อปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐ แม้ว่า ตัวเลข CPI ล่าสุดเดือน พ.ค.จะอยู่ในระดับ 4% แต่ก็ยังสูงกว่าเป้าหมายที่เฟดต้องการควบคุมให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับ2 %   โดย Fed  ประมาณการณ์เงิน้ฟ้อเพิ่มขึ้น ปีนี้อยู่ที่  3.9%  ปี 2024 อยู่ที่ 2.6%  ปี 2025 อยู่ที่  2.2% 

ส่วนสัญญาณดอกเบี้ยขาลงน่าจะเกิดขึ้นในปี 2024 เพราะ เจ้าหน้าที่ Fed คาดว่า จะลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในปี 2024 ราว 1%  ทั้งปี 2024จะเห็นอัตราดอกเบี้ย Fed ที่ระดับ 4.6% และปี 2025 ที่ระดับ 3.4% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากคาดการณ์เดิม  

ส่วนมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐ  เฟดเพิ่มคาดการณ์การ GDP ขยายตัวที่ระดับ 1.0% ในปีนี้ ส่วนในปี 2567 ปรับคาดการณ์ GDP ลดลงเหลือ 1.1% ปี 2568 อยู่ที่ 1.8%  ขณะที่ ตัวเลขการว่างงาน ดีขึ้น อัตราว่างงานสู่ระดับ 4.1% ในปีนี้ และอยู่ที่ 4.5% ทั้งในปี 2024 และ 2025 

ผลประชุมFed 14 มิ.ย.66

จะเห็นได้ว่า ตัวชี้วัดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐคือ อัตราเงินเฟ้อ หรือ CPI และตลาดแรงงานที่บ่งชี้ถึงสภาพเศรษฐกิจ ปรากฏว่าทั้ง 2 ปัจจัยมีสัญญาณที่เอื้อให้เฟดยุติการใช้ดอกเบี้ยแบบสูงลิ่วลงได้บ้าง โดยตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือน พ.ค.ปรับตัวขึ้น 4.0% เมื่อเทียบรายปีซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่เดือนมี.ค2564 และลดลงจากระดับ 4.9% ในเดือนเม.ย. 

โดยสหรัฐเคยเผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูงสุดในเดือนมิถุนายนปีที่แล้วในระดับ 9 % ซึ่งถือเป็นเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปี จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็น FOMC ขึ้นดอกเบี้ยแรง 0.75% ตั้งแต่ มิถุนายน 2565 ติดต่อกันมาถึง 4 ครั้ง และเริ่มแผ่วอัตราดอกเบี้ยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา คือปรับขึ้น 0.25% ในการประชุมเดือน ก.พ., มี.ค. และ พ.ค. 

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 5.5% ในเดือนเม.ย.

สำหรับการประชุมเฟดในปี 2566 นี้ธนาคารกลางสหรัฐจะประชุมเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยอีก 4 ครั้งคือ 25-26 ก.ค., 19-20 ก.ย., 31 ต.ค.-1พ.ย. และครั้งสุดท้าย 12-13 ธ.ค.นี้ 

Fed

ขณะที่บรรยากาศการลงทุนไม่ได้บวกสดใสเหมือนก่อนหน้านี้เพราะท่าทีจาก Fed ที่ยังมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อยู่ ส่งผลให้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,979.33 จุด ลดลง 232.79 จุด หรือ -0.68%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,372.59 จุด เพิ่มขึ้น 3.58 จุด หรือ +0.08% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,626.48 จุด เพิ่มขึ้น 53.16 จุด หรือ +0.39%

ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียเปิดบวกเป็นส่วนใหญ่ในวันนี้ ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดภาคเช้าที่ระดับ 19,626.80 จุด เพิ่มขึ้น 218.38 จุด หรือ +1.13% ขณะที่ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตเปิดภาคเช้าที่ระดับ 3,230.45 เพิ่มขึ้น 1.46 จุด หรือ +0.05% และดัชนีนิกเกอิเปิดตลาดที่ระดับ 33,493.69 จุด ลดลง 8.73 จุด หรือ -0.03%

ส่วนเงินบาทในบ้านเราเช้านี้อ่อนค่า นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 34.83 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดเย็น วานนี้ที่ระดับ 34.67 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทอ่อนค่าเทียบท้ายตลาด เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาค หลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) เมื่อคืนนี้ ออกมาว่าคงดอกเบี้ยตามคาด อย่างไรก็ดี การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเจ้าหน้าที่เฟด (Dot Plot) สะท้อนว่าอาจการขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในปีนี้ ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่า

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT