นอกเหนือจากเงินดิจิทัล 10,000 บาทแล้ว อีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 หรือ อีก 4 ปีข้างหน้า นั่นหมายถึง ต้นทุนของผู้ประกอบการที่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดอยู่ 354 บาทต่อวันในปัจจุบัน จะต้องเพิ่มขึ้น 246 บาท หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 61.50 บาทต่อปี เป็นเวลา 4ปี จึงจะไปแตะที่ 600 บาท ซึ่งเป็นการปรับขึ้นสูงกว่าปกติในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทย
SPOTLIGHT พูดคุยกับ คุณอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย และ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ถึงผลกระทบในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หากค่าแรงขั้นต่ำของไทยไปถึง 600 บาทว่า อัตราค่าแรง 600 บาท/วันนั้น สามารถทำได้ แต่ควรกำหนดเงื่อนไขให้กับกลุ่มแรงงานที่มีฝีมือ (Skilled Labour) หรือแรงงานกึ่งฝีมือ (Semi-Skilled labour) เพราะแรงงานกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพในการผลิตที่สูงกว่า กลุ่มแรงงานแรกเข้า
ขณะเดียวกันการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฏหมาย ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี และแต่ละจังหวัดมีค่าครองชีพและปริมาณการจ้างงานในพื้นที่ไม่เท่ากันหากขึ้น 600บาท เท่ากันหมดจะส่งผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดเล็ก ดังนั้นการปรับขึ้นต้องมีการประกาศให้ทราบล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการเตรียมรับมือ จึงเสนอให้ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบปกติส่วนหนึ่ง และอีกส่วนคือ ใช้อัตรา 600 บาทเฉพาะกลุ่มแรงงานมีฝีมือเท่านั้น
“สำหรับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใช้แรงงานก่อสร้างเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวมากกว่า 80% ในขณะที่อีกไม่ถึง 20% เป็นแรงงานไทยในประเทศ การปรับขึ้นค่าแรง 600 บาท อาจไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายเป็นแรงงานไทยน้อยกว่า”
คุณอธิป มองว่า หากประเทศไทยมีการขึ้นค่าแรงไปที่ 600 บาทจริงจะเป็นอัตราค่าแรงที่สูงอันต้นๆในอาเซียน ซึ่งค่าแรงที่สูงจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานในประเทศไทยเพราะธุรกิจขนาดใหญ่จะหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อทดแทนคนเช่น ธุรกิจก่อสร้างอาจต้องหันไปใช้รูปแบบการผลิตผนังพรีแคส (Precast)ให้หมด ใช้แรงงานลดลงมากเพียงแค่คนงานประกอบติดตั้งที่หน้างานเท่านั้น ซึ่งใน ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศที่สิ่งปลูกสร้างใช้วิธีสำเร็จรูปเช่นนี้ , ส่วนธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจบริการ ร้านอาหาร จะหันไปพึ่งพาหุ่นยนต์ หรือ AI เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลต่อมุมมองการลงทุนในไทยจากนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้อยู่ใน ปี 2566 มี จำนวน 9 อัตรา
- อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 354 บาทต่อวัน จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี, ระยอง และภูเก็ต
- อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 353 บาทต่อวัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, จังหวัดนนทบุรี, นครปฐม, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
- อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 345 บาทต่อวัน จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา
- อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 343 บาทต่อวัน จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 340 บาทต่อวัน จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี, หนองคาย, อุบลราชธานี, พังงา, กระบี่, ตราด, ขอนแก่น, เชียงใหม่, สุพรรณบุรี, สงขลา, สุราษฎร์ธานี, นครราชสีมา, ลพบุรี และสระบุรี
- อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 338 บาทต่อวัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร, กาฬสินธุ์, สกลนคร, สมุทรสงคราม, จันทบุรี, และนครนายก
- อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 335 บาทต่อวัน จำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์, กาญจนบุรี, บึงกาฬ, ชัยนาท, นครพนม, พะเยา, สุรินทร์, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, เลย, พัทลุง, อุตรดิตถ์, นครสวรรค์, ประจวบคีรีขันธ์, พิษณุโลก, อ่างทอง, สระแก้ว, บุรีรัมย์ และเพชรบุรี
- อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 332 บาทต่อวัน จำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ, แม่ฮ่องสอ, เชียงราย,ตรัง, ศรีสะเกษ, หนองบัวลำภู, อุทัยธานี, ลำปาง, ลำพูน, ชุมพร, มหาสารคาม, สิงห์บุรี, สตูล, แพร่, สุโขทัย, กำแพงเพชร, ราชบุรี, ตาก, นครศรีธรรมราช, ชัยภูมิ, ระนอง และพิจิตร
- อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 328 บาทต่อวัน จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, น่าน และอุดรธานี
เสนอกระตุ้นภาคอสังหาฯด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง
สำหรับข้อเสนอแนะของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยากฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่ากว่า 800,000 ล้านบาทหากได้รับการกระตุ้นจะมีผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจไทยได้หลายเท่าตัว ซึ่งนโยบายที่ใช้ได้ผลเสมอมาคือ การลดค่าธรรมเนียมการโอน การจดจำนอง และ ภาษีธุรกิจเฉพาะ ทำให้ต้นทุนของคนซื้อบ้านลดลงไปกว่า 3%
สำหรับภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2566 นี้ไม่ค่อยสดใสนัก คาดว่า ยอดขาย และ ยอดโอนกรรมสิทธิ์มีแนวโน้มติดลบโดยเฉพาะในฝั่งคอนโดมิเนียม ส่วนบ้านจัดสรรเติบโตได้บ้างเล็กน้อยในทำเลต่างจังหวัด สาเหตุเพราะ ภาพเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดีนัก กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากภาวะดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ธนาคารปล่อบกู้ยากขึ้น ราคาอสังหาริมทรัยพ์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3-5% ติดต่อกันมาหลายปีทั้งหมดจึงเป็นภาระของผู้ซื้อที่ต้องซื้อบ้านแพงขึ้น คาดหวังว่า รัฐบาลใหม่มาจะสามาพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีปลดล็อคมาตรการ LTV เพิ่มเติมด้วย เพราะผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือ 3 อาจไม่ได้เป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไรเสมอไป