ข่าวเศรษฐกิจ

บทสรุปแจก ‘เงินดิจิทัล’จะเป็นอย่างไร?​ เมื่อรัฐบาลไปต่อปชช.กลัวไม่คุ้ม

15 ต.ค. 66
บทสรุปแจก ‘เงินดิจิทัล’จะเป็นอย่างไร?​ เมื่อรัฐบาลไปต่อปชช.กลัวไม่คุ้ม

 

แม้จะมีเสียงสะท้อนจากนักวิชาการ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย​(ธปท.) รวมแล้ว 99 ท่าน ยังไม่นับรวมนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ภาคธุรกิจที่ทรงคุณวิฒิหลายๆ ท่านที่มีความเป็นห่วงเป็นใยต่อนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเต็มที่ได้เพียง 1% และเป็นการได้ผลระยะสั้นเท่านั้น

ขณะที่ผลเสียต่อภาคเศรษฐกิจไทยที่จะตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าแพงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ภาระหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นมหาศาล และจะเป็นหนี้ที่ส่งต่อไปยังลูกหลานของเรานั่นเอง 

จนสุดท้ายจะได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่ การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย หวังไว้ที่ปีละ 5% ฝันนี้จะเป็นจริงหรือไม่? 

‘เศรษฐา ทวีสิน’ อ้อนเสียงประชาชนสนับสนุน

โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ทวิตผ่านเอ็กซ์ (X) ถึงโครงการ Digital Wallet ว่า “มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในฐานะรัฐบาลของประชาชนจึงรับฟังทุกความเห็นเพื่อเอามาปรับให้ดีและตรงใจทุกคน” 

"ผมอยากให้เราลองนึกภาพไปด้วยกันว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้มีเงินเข้ามาในระบบ 560,000 ล้านบาท ถ้าท่านเป็นภาคอุตสาหกรรมท่านจะผลิตสินค้ามารองรับไหม จะต้องซื้อวัสดุเพื่อมาผลิตสินค้าเตรียมขายหรือไม่ จะมีการจ้างคนเพิ่มไหม แล้วเงินจะเข้ามาอยู่ในกระเป๋าของพี่น้องประชาชนเท่าไหร่” 

“ เราตั้งใจให้เงินถูกเอาไปใช้ในพื้นที่ตามบัตรประชาชนของท่าน เพื่อช่วยพัฒนาชุมชนที่ท่านอยู่ ไม่ใช่พัฒนาเมืองใหญ่อย่างเดียว” 

“ หากท่านเห็นตรงกันกับผม และชอบโครงการนี้อยู่ ท่านอย่ายอมให้คนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผลมายับยั้งโครงการนี้ และขอให้ส่งเสียงบอกกับพวกเราบ้างว่า ท่านมีความสุข และดีใจที่รัฐบาลนี้ทำให้ เราเองก็อยากได้กำลังใจจากทุกคน เพราะพวกเราตั้งใจมาทำงานให้พี่น้องประชาชนจริง ๆ ครับ"

f8y9meoawaapb9d_1

เพจ “เพื่อไทย” ร่วมเคลื่อนไหว

ด้านเพจ “เพื่อไทย” ได้โพสต์อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับนโนบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เริ่มตั้งแต่ข้อความของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสินที่โพสต์ผ่านแอปพลิเคชัน X พร้อมสรุปประเด็นสำคัญของนายกรัฐมนตรีไว้ ดังนี้ 

สำหรับดิจิทัลวอลเล็ต อยากอธิบายให้ฟังว่า สมมุติวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 คนที่อายุ 16 ปีขึ้นไปได้คนละ 10,000 บาท บ้านไหนมี 3 คน 5 คนเอาไปตั้งตัวได้เลย คิดดูว่าจะมีประโยชน์มากแค่ไหน และเงินที่ได้ไปใช้ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ ต้องใช้ในเขตที่ท่านอยู่ จะช่วยพัฒนาชุมชนที่ท่านอยู่ ไม่ใช่พัฒนาเมืองใหญ่อย่างเดียว 

โครงการนี้มีหลายท่านไม่เห็นด้วย แต่ตนก็ไม่เห็นด้วยกับคนที่ไม่เห็นด้วย แต่เรารับฟังความคิดเห็น เพราะเราเป็นรัฐบาลของประชาชน รับฟังแล้วปรับให้ดีให้เป็นนโยบายที่โดนใจทุกคน 

ถ้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 มีเงิน 5.6 แสนล้านเข้าไปในระบบ ถ้าเป็นภาคอุตสาหกรรมจะเตรียมสินค้าออกมารองรับหรือไม่ จะมีการจ้างคนเพิ่มหรือไม่ เงินจะอยู่ในกระเป๋าประชาชนมากขึ้นแค่ไหนอย่างไร 

“ ท่านอย่ายอมให้คนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผลมายับยั้งโครงการนี้ ถ้าชอบก็ขอให้พูดบ้าง ให้เปล่งเสียงออกมาบ้าง เรื่องลดค่าไฟค่าน้ำมันต้องพูด อย่างภาคอุตสาหกรรมที่ลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน ท่านต้องออกมาพูดว่า ท่านมีความสุข ดีใจที่รัฐบาลนี้ทำให้ เราเองก็เป็นคนเหมือนกัน ต้องการขวัญและกำลังใจเหมือนกัน บางคนที่มาด้วยกันวันนี้ก็อยากอยู่บ้าน แต่วันนี้เข้าใจปัญหาประชาชนก็มารับฟังปัญหา เราไม่ได้มาหาเสียงแต่เรามาทำงานจริง”

นายเศรษฐา ระบุว่า ได้มีเสียงสนับสนุนนโยบาย Digital Wallet ชาวพรหมพิราม จ.พิษณุโลกครับ เสียงเรียกร้องของพี่น้องประชาชนที่ส่งมายังผม ว่าอยากได้เงิน 10,000 บาท เพื่อให้ครอบครัวได้มีโอกาสสร้างตัว และแก้ความยากจน เป็นพลังให้เราต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด

โฆษกรัฐบาลระบุนักธุรกิจที่เห็นด้วยกับโครงการนี้

นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงเสียงของประชาชน ที่สนับสนุนนโยบาย 10,000 บาท เงินดิจิทัล ว่า มีผู้สนับสนุนโครงการนี้ คือ ประทีป วัชรโชคเกษม นักธุรกิจชื่อดังพันล้านด้านยานยนต์ ,บอย ท่าพระจันทร์ , สามี-ภรรยา เริ่มต้นร้านลาบด้วยเงิน 15,000 บาท ตอนนี้ได้ขยับขยายจนเปิดร้านประจำอยู่ที่ชั้นดาดฟ้าของอาคารจิมทอมป์สัน และเพิ่งเริ่มทำแฟรนไชส์ 1 ที่ ถ้าได้เงินดิจิทัลมาคนละ 10,000 บาท รวมกันเป็น 20,000 บาท เขาจะสามารถเปิดร้านไก่ย่างได้อีก 1 ร้าน

"อยากให้ผู้ที่คิดต่าง เปิดใจ ทำความเข้าใจถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายนี้เชื่อมั่นว่าประชาชนที่ไม่มีเงินทุนในการตั้งตัวจะสามารถสร้างเป็นอาชีพ เพิ่มรายได้ปรับวิถีชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสของประชาชนทุกคนที่มีสิทธิ์" นายสัตวแพทย์ชัย กล่าว

พร้อมกันนี้ โฆษกรัฐบาลชี้ประเด็นการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปีที่ผ่านมา ถือว่าฟื้นตัวช้าสุด และสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ติดอันดับ 7 ของโลก โดยเฉพาะถึงกลุ่มฐานราก สะท้อนว่าประชาชนมีความสามารถในการหารายได้ต่ำลง นั่นหมายความว่า ประเทศไทยนอกจากจะฟื้นตัวช้า รายได้ไม่เพียงพอยังมีหนี้ที่ทำให้ไม่สามารถมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่โตตามศักยภาพ จึงไม่ฟื้นตัวเท่าช่วงก่อนโควิด เพราะฉะนั้น นโยบาย Digital Wallet นอกจากสร้างโอกาส กระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ประชาชนเป็นกลไกหลักในการใช้จ่าย ยังเพิ่มโอกาสเพิ่มศักยภาพในการฟื้นตัวของครัวเรือนและของประเทศ

เงินดิจิทัล 10,000 บาทเกิดภายใน Q1/66

ดังนั้น มาตรการในการผลักดันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ โดยคาดว่ามาตรการดิจิทัลวอลเล็ต จะดำเนินการได้ภายในไตรมาส 1/2567 เป็นมาตรการที่ต้องทำให้สำเร็จ เพราะถ้าล่าช้าผลดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะลดลงด้วย

รมช.คลัง กล่าวว่า จะเร่งเสนอข้อสรุปมาตรการทั้งหมดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยจะพิจารณาในเรื่องของหลักเกณฑ์ เงื่อนไข แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ การจัดการฐานข้อมูล การติดตามตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น การประเมินผลมาตรการก่อนและหลัง ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์, สำนักงบประมาณ, กระทรวงการคลัง, กรมบัญชีกลาง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) มาร่วมให้ความเห็นและประเมินความคุ้มค่าของมาตรการทั้งก่อนและหลัง

โดยนโยบายนี้เป็นนโยบายที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จากที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางและฟื้นตัวไม่เต็มศักยภาพ ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่เพียง 2% เทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เติบโตได้สูงกว่า 

ทั้งนี้ มาตรการการดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นตัวฉุดกระชากเศรษฐกิจให้โตตามศักยภาพ เป็นการกระจายเม็ดเงินลงไปในระดับฐานรากอย่างทั่วถึง โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการใช้ให้เม็ดเงินมีการหมุนเวียนในท้องถิ่น และจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 5% ต่อปี เป็นการให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมาย คือ คุณภาพชีวิตของประชาชนต้องดีขึ้น

เงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องยืนยันตัวตนเท่านั้น 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้น ไม่ได้แจกเงินให้กับทุกคนโดยอัตโนมัติ แต่จะมีการเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อยืนยันสิทธิ์ ซึ่งการยืนยันตัวตนจะเป็นกระบวนการที่รัฐบาลสามารถดึงฐานข้อมูลเก่าที่ประชาชนเคยเข้าร่วมโครงการของรัฐอื่นๆ มาใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นการ Check-list และใช้ในการยืนยันสิทธิ์ของคนๆ นั้น

สำหรับคนที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการของรัฐมาก่อนเลย แต่อยากเข้าร่วม โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท จำเป็นที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการ ลงทะเบียน ยืนยันตัวตน เพราะมันถูกกำหนดโดยกรอบกฎหมาย 

ดังนั้น การยืนยันตัวตนหรือ KYC ถือว่ามีความจำเป็น เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ พิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นเป็นคนตามหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนจริง แต่หากใครที่ไม่สนใจเข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก็เท่ากับว่าไม่เข้าสู่โครงการฯ

โดยลงทะเบียนยืนยันตัวตนเงินดิจิทัล 10,000 บาท จำมีต้องมีระบบการยืนยันตัวตนผ่านใบหน้า ซึ่งเป็นความจำเป็นตามกฎหมาย เท่ากับว่าใครไม่อยากใช้ก็ไม่ต้องลงทะเบียน

นิด้าโพลล์ชี้ประชาชนห่วงได้ไม่คุ้มเสีย

โดยศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "การแจกเงิน ดิจิทัลวอลเลต ควรไปต่อหรือพอแค่นี้?" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง 

ผลสำรวจ พบว่า เมื่อมีการถามถึงความกังวลของประชาชนต่อนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทนั้น ส่วนใหญ่มองว่า อาจทำให้ได้ไม่คุ้มเสียกับประเทศ เช่น เกิดภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของแพงขึ้น ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ตามคำเตือนของ 99 นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ 

โดยพบว่า ตัวอย่าง 30.92% ระบุว่า ค่อนข้างกังวล รองลงมา 28.47% ระบุว่า ไม่กังวลเลย 25.27% ระบุว่า กังวลมาก 15.19% ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล และ 0.15% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เงินดิจิทัล

ปชช.47.10% เห็นควรไปต่อ แต่ต้องปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่าง 47.10% ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อ แต่ควรมีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน รองลงมา 32.52% ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อตามที่ได้หาเสียงไว้ 18.85% ระบุว่า ควรหยุดการดำเนินการในนโยบายนี้ได้แล้ว และ 1.53% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ส่วนเรื่องการรับเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ของประชาชน พบว่า ตัวอย่าง 79.85% ระบุว่า รับเงินและนำไปใช้จ่าย รองลงมา 13.51% ระบุว่า ไม่รับเงิน 5.42% ระบุว่า รับเงิน แต่ไม่นำไปใช้จ่าย และ 1.22% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

หากรัฐยกเลิกแจกเงินดิจิทัล 10,000 คะแนนนิยมลด

ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทย หากรัฐบาลยกเลิกนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่าง 60.00% ระบุว่า ส่งผลกระทบให้คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยลดลง รองลงมา 29.92% ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ กับคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทย 6.49% ระบุว่า ส่งผลให้คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้น และ 3.59% ระบุว่า ไม่ทราบ/ ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจะเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทจริงตามที่แถลงนโยบายไว้ หรือตามที่สัญญาไว้กับประชาชนนั้น ก็ขอให้มีการปรับปรุงแก้ไข เงื่อนไข ให้มีความเหมาะสม สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง 

รวมถึงเงื่อนไขการหาแหล่งเงินทุนออกมาให้ชัดเจนและมีความรอบคอบรัดกุม คำนึงถึงหนี้สาธารณะของประเทศเป็นหลักมากกว่าการใช้นโยบายประชานิยม เพื่อไม่ให้ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เพิ่มขึ้น จากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล เพราะถ้าอัดเงินกระตุ้นเข้าในระบบแม้จะเกิดจากการจ้างงานจริง 

แต่ในยุคปัจจุบันที่ไทยยังอยู่ในท่ามกลางราคาสินค้าที่สูงขึ้น ค่าครองชีพที่แพงขึ้น อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ดอกเบี้ยที่สูง ส่งผลต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการก็สูงขึ้นไปด้วย อยากให้ทบทวนให้แน่ใจว่า นโยบายนี้จะไม่เข้าไปซ้ำเติมประชาชนเพิ่มขึ้น

พวกเราคนไทยทุกคนที่แสดงความคิดเห็น เชื่อว่า ทุกคนรักและเป็นห่วงประเทศชาติ เฉกเช่นเดียวกับรัฐบาลไทย จึงอยากจะขอให้รัฐบาลนำทุกๆ เสียงไปทบทวน เพื่อป้องกันและหาแนวทางที่ดีที่สุดที่จะออกมาเพื่อประชาชนคนไทยมากที่สุด

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT