รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังวางแผนมาตรการภาษีที่หลากหลายเพื่อกระตุ้นการผลิตในประเทศ การสร้างสรรค์นวัตกรรม และการถ่ายทอดธุรกิจไปยังคนรุ่นใหม่ คาดว่ามาตรการนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2024
นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมใช้มาตรการภาษีจูงใจเป็นเวลา 10 ปี เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้า 5 ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ชิปเซมิคอนดักเตอร์ เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน (SAF) ผลิตภัณฑ์เคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green steel)
มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในสาขาผลิตภัณฑ์ที่เป็นยุทธศาสตร์ โดยรัฐบาลพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party : LDP) จะพิจารณาลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 20% ต่อปี สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ตลอดระยะเวลา 10 ปี สำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ จะได้รับการยกเว้นภาษีสูงสุดถึงสูงสุด 40% ต่อปี มีรายละเอียดดังนี้
การใช้มาตรการจูงใจทางภาษีนี้จะมีอายุ 10 ปี เริ่มตั้งแต่การอนุมัติแผนธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลจะกำหนดให้ธุรกิจต่าง ๆ ยื่นแผนภายในปีงบประมาณ 2026
ด้านผู้ประกอบการที่ขาดทุนในระหว่างปีบัญชี จะสามารถนำสิทธิประโยชน์ภาษีที่ยังไม่ได้ใช้ไปหักลบกับรายได้ในปีถัดไปได้ โดยสิทธิประโยชน์นี้สามารถใช้ได้นานถึง 3 ปีสำหรับชิปเซมิคอนดักเตอร์ และ 4 ปีสำหรับสาขาอื่น ๆ
รัฐบาลยังได้วางแผนที่จะดึงดูดศูนย์วิจัยและพัฒนาเข้ามาในญี่ปุ่น โดยจะมอบ “inovative box” ส่วนลดภาษี 30% สำหรับรายได้จากการโอนและสิทธิใช้สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ ซึ่งจะใช้กับสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ที่ได้รับตั้งแต่เดือนเมษายน 2024 และสิ้นสุดลงภายใน 7 ปีหลังจากเดือนเมษายน 2025 เพื่อดึงดูดศูนย์การวิจัยและพัฒนามายังญี่ปุ่น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ปรับเปลี่ยนสูตรการคำนวณภาษีบริษัทระดับจังหวัด เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทลดภาระภาษีด้วยการลดเงินทุน และขยายระยะเวลาการขอสิทธิประโยชน์ภาษีเพื่อส่งเสริมการถ่ายโอนธุรกิจขนาดเล็กไปยังคนรุ่นต่อไป จากปัจจุบันที่กำหนดให้ยื่นภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2024 ขยายออกไปถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2026
ที่มา นิกเคอิ เอเชีย