ข่าวเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยปี 66 โตเพียง 1.8% “เศรษฐา” เล็งหามาตรการกระตุ้น

24 ม.ค. 67
เศรษฐกิจไทยปี 66 โตเพียง 1.8%  “เศรษฐา” เล็งหามาตรการกระตุ้น

จากเหตุการณ์ที่มีเอกสารลับของกระทรวงการคลังที่จะมีการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 66 และปี 2567 หลุดออกมาก่อนที่จะแถลงข่าววันนี้ โดยเอกสารลับ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตเพียง 1.8% ลดลงจากปีก่อนที่ 2.6% 

ขณะที่นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะรมว.คลังออกมายืนยันว่า เอกสารที่หลุดดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจขอดูข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจก่อนแต่อย่างใด และให้ความเป็นอิสระกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในการจัดทำตัวเลข และย้ำว่า เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลคงต้องหามาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา และจะมีนโยบายอื่นๆ ออกตามมาด้วย มิใช่แค่ดิจิทัล วอลเล็ต เพียงอย่างเดียว เช่น มาตรการกระตุ้นทางด้านภาษี เป็นต้น

สุดท้าย สำนักงานเศรษฐกิจการคลังออกมาแถลงตัวเลขเศรษฐกิจ ปี 2566-2567 เป็นตัวเลขเดียวกับเอกสารลับหลุดเมื่อวานนี้ คือ

ปี 2566 

  • เศรษฐกิจไทย เติบโต 1.8%
  • การบริโภคภาคเอกชน เติบโต 7.1%
  • การบริโภคภาครัฐ ติดลบ -3.6%
  • การลงทุนภาคเอกชน เติบโต 2.8%
  • การลงทุนภาครัฐ ติดลบ -0.2%
  • ตัวเลขการส่งออก ติดลบ -1.5%
  • ตัวเลขการนำเข้า ติดลบ -1.9%
  • ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • อัตราเงินเฟ้อ 1.2%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 เติบโต ชะลอตัวลง เกิดจากปัจจัยสำคัญ การหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ และคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ จากมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งปี 2566 คาดว่าจะหดตัวที่ -1.5% ต่อปี 

ปี 2567 

  • เศรษฐกิจไทย เติบโต 2.8%
  • การบริโภคภาคเอกชน เติบโต 3.3%
  • การบริโภคภาครัฐ เติบโต 1.4%
  • การลงทุนภาคเอกชน เติบโต 3.2%
  • การลงทุนภาครัฐ เติบโต  3.1%
  • ตัวเลขการส่งออก เติบโต 4.2%
  • ตัวเลขการนำเข้า เติบโต 4.0%
  • ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • อัตราเงินเฟ้อ 1.0%

4-2567(info)th_fpoeconout

โดยปี 2567 ที่ประมาณการเศรษฐกิจไทย เติบโต 2.8% นั้น ปัจจัยหลักมาจาก ตัวเลขปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ และภาคการท่องเที่ยวคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 33.5 ล้านคน ขยายตัวที่ 19.5% ต่อปี โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและมาเลเซียเป็นสำคัญ และมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% ต่อปี ส่งผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวข้อง 

ขณะที่รายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลคาดว่าจะเบิกจ่ายได้คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายที่ 99.5% และ 64.0% ตามลำดับ รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายอัตราลดลงจากปีก่อนหน้าเนื่องจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาในปี 2567

สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาในปีนี้ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด ได้แก่

  1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่อาจรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ สถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้นและความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน 
  2. สถานการณ์การเลือกตั้งผู้นำของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศรัสเซีย และประเทศอินเดีย เป็นต้น ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของไทย 
  3. ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป 
  4. สถานการณ์เศรษฐกิจของจีน ที่อาจส่งผลต่อการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย 

IMF คาดจีดีพีไทยปี 67 โต 4.4% 

IMF ได้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจของไทย โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในปี 2567 จะขยายตัว 4.4% ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัว 3.6% และเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ IMF ประมาณการว่าจะขยายตัว 2.5%

แต่ IMF ยังมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในทิศทางที่อ่อนแรงลง อันเนื่องมาจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น โดย IMF คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.7% เนื่องจากอุปสงค์ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยตัวเลขดังกล่าวยังคงอยู่ในกรอบคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

IMF แนะไทยปฎิรูปโครงสร้างการลงทุน-เพิ่มขีดความสามารถการผลิต

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่รายงานผ่านเว็บไซต์ที่ชื่อว่า "IMF Executive Board Concludes 2023 Article IV Consultation with Thailand" โดยระบุว่า คณะกรรมการบริหารของ IMF ได้แสดงความพึงพอใจที่เศรษฐกิจของไทยสามารถฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และชื่นชมทางการไทยที่สามารถรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคไว้ได้ แม้เผชิญกับวิกฤตการณ์หลายด้านก็ตาม

แต่ IMF ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน และแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยยังคงไม่แน่นอน ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะส่งผลให้ไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจขาลง และสถานะการคลังที่จำกัดและความอ่อนแอเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานแล้ว 

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหาร IMF ได้แนะนำให้ทางการไทยเดินหน้าการปรับนโยบายการคลังให้กลับสู่ภาวะปกติในระยะใกล้นี้ ขณะเดียวกันก็ควรดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง เพื่อกระตุ้นขีดความสามารถในการผลิตและการเติบโต และเสริมสร้างเศรษฐกิจให้มีความยืดหยุ่น

นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่า กรณีที่ทางการไทยประกาศใช้นโยบายระยะสั้นเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในกรณีนี้ IMF มองว่าไทยควรจะใช้นโยบายด้านการคลังที่เป็นกลาง โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบางผ่านโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Nets) และระบบภาษีที่มีความคืบหน้ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียม

คณะกรรมการบริหาร IMF ยังเห็นด้วยกับทางการไทยในประเด็นที่ว่า การใช้กลยุทธ์ด้านการคลังในระยะกลางจะช่วยให้หนี้สาธารณะลดลง และจะช่วยให้รัฐบาลมีพื้นที่สำหรับการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์และด้านทุน และช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากรัฐวิสาหกิจ พร้อมแนะนำให้ทางการไทยดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อสนับสนุนการลงทุน กระตุ้นการแข่งขัน และเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต พร้อมกับเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการขจัดความซับซ้อนด้านกฎระเบียบ เพิ่มศักยภาพให้กับแรงงาน และปฏิรูประบบป้องกันสังคม

KBANK ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 67 โต 3.1% แต่ไทยโตช้าสุดในรอบ 10 ปี 

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แถลงข่าว  "วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ปี 2567" ว่า ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 67 จะขยายตัวได้ 3.1% แต่ถ้ารวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.6% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในปี 66 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8% การส่งออก ขยายตัว 2% การนำเข้า ขยายตัว 2.6% เกินดุลบัญชีเดินสะพัด 9.3 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะอยู่ที่ 30.6 ล้านคน

แต่เศรษฐกิจไทยถือว่าเติบโตช้าที่สุดในรอบ 10 ปี เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค เป็นผลจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของไทยมีสัดส่วนที่ลดลง นับตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40 โดยปัจจุบันสัดส่วนการลงทุน อยู่ที่ 18% ต่อจีดีพี โดยไทยขาดการลงทุนใหม่ๆ ขนาดใหญ่ต่อเนื่องมานาน ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิในปีที่ผ่านมา

“เศรษฐกิจไทยจะเหมือนมัลดีฟ หรือไม่? เหตุตัวเลขภาคการบริการ/GDP เพิ่มเป็น 64% จาก 56% และตัวเลขภาคอุตสาหกรรม/GDP ลดลงเหลือ 31%” นายกอบสิทธิ์ กล่าว

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดคาดจะปรับลดลงในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทย คาดจะเห็นการปรับดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ ส่วนค่าเงินบาท จะเห็นแตะระดับ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในสิ้นปี 2567

ขณะที่เงินทุนจากต่างชาติจะไหลเข้ามานั้น นายกอบสิทธิ ประเมินว่า มีโอกาสไหลออกมากกว่าไหลเข้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่มีปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ นอกจากการท่องเที่ยว มองนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ขณะที่ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชน นักลงทุนยังมีความผวาอยู่

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT