หลังจาก ‘อินเดีย’ เริ่มการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 19 เมษายน หรือประมาณ 6 สัปดาห์ก่อน ในที่สุดการลงคะแนนเสียงก็จบลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายน และได้เริ่มมีการนับคะแนนเสียงในวันนี้ (4 มิถุนายน) เพื่อหาว่าใครจะเป็นผู้ชนะและได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป
การเลือกตั้งของอินเดียเป็นเหตุการณ์ระดับโลกที่หลายๆ คนให้ความสนใจ เพราะนอกจากจะเป็นการเลือกตั้งประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเกือบ 1,000 ล้านคนแล้ว ยังเป็นการคัดเลือกผู้นำและรัฐบาลที่จะเข้ามาดูแล ‘เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก’ ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจทั่วโลก รวมไปถึง ‘ประเทศไทย’ ด้วย
บทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาติดตามผลการเลือกตั้งของอินเดียกันว่าพรรคใดจะชนะ? ใครจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสมัยต่อไปของอินเดีย? และชัยชนะนั้นจะส่งผลอย่างไรต่อไปต่ออนาคตเศรษฐกิจอินเดีย และไทย?
คาด ‘โมดี’ ได้เก้าอี้นายกฯ ต่ออีกสมัย ฝ่ายค้านได้คะแนนมากกว่าคาด
แม้การเลือกตั้งในครั้งนี้จะมีหลายพรรคทั้งพรรคใหญ่ระดับชาติและพรรคเล็กลงชิงชัย ก่อนมีการจัดการเลือกตั้ง นักวิเคราะห์และสื่อเกือบทุกสำนักก็ฟันธงแล้วว่า ‘นเรนทรา โมดี’ ตัวแทนจาก ‘พรรคภารติยะชนะตะ’ (BJP) และพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Alliance: NDA) จะมีชัย และได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อไปในสมัยที่ 3
ในเวลาประมาณ 15.30 น. ในวันที่ 14 มิถุนายน อินเดียได้นับคะแนนโหวตไปแล้วหลายร้อยล้านเสียง และพรรคบีเจพีที่เป็นตัวเต็งของการเลือกตั้งในครั้งนี้ก็ได้คะแนนเสียงนำไปตามคาด โดยคะแนนในเวลาดังกล่าวชี้ว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ บีเจพีจะได้เก้าอี้ใน ‘โลกสภา’ (Lok Sabha) หรือ ‘สภาผู้แทนราษฎรของอินเดีย’ ไปถึง 281 ตำแหน่ง ซึ่งเลย 272 ตำแหน่งที่เป็นจำนวนที่นั่งเสียงข้างมากไปแล้ว ขณะที่คู่แข่งสำคัญและพรรคการเมืองอำนาจเก่าอย่าง ‘พรรคคองเกรส’ (Congress Party) และพันธมิตร จะได้ไปประมาณ 224 ที่นั่ง
ทั้งนี้ แม้จะค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่า พรรคบีเจพีจะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งนี้ไป คะแนนเสียงที่พรรคได้ก็ไม่ได้เยอะถล่มทลายแบบแลนด์สไลด์อย่างที่นักวิเคราะห์คาด เพราะถ้าหากเทียบกับที่นั่งที่บีเจพีได้ไปทั้งหมดในการเลือกตั้งปี 2019 ที่ 303 ตำแหน่ง ก็ต้องถือว่าบีเจพีและโมดีคะแนนเสียงตกไปไม่น้อย
ผลการเลือกตั้งที่ผิดการคาดการณ์นี้ สะท้อนเสียงของประชาชนบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยและหมดศรัทธากับการบริหารประเทศของรัฐบาลโมดี ที่แม้จะทำให้อินเดียเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 5 ได้ในปัจจุบัน แต่ก็มาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำอย่างหนัก เพราะรัฐบาลโมดีเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน ทำให้ความร่ำรวยที่เพิ่มขึ้นมาไม่ได้กระจาย แต่กระจุกอยู่ในมือนายทุนใหญ่ไม่กี่ราย
เศรษฐกิจอินเดียโตแรง แต่ความมั่งคั่ง 40% อยู่ในมือคนรวย 1%
ในช่วงปี 2014-2023 ที่รัฐบาลบีเจพีนำโดยโมดีเข้ามาบริหารประเทศ เศรษฐกิจของอินเดียโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดย GDP ของอินเดียเติบโตขึ้นมากกว่า 55% และนำหน้าเขตเศรษฐกิจใหญ่อื่นๆ อย่าง สหราชอาณาจักร และอิตาลี ขึ้นมาเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 5 ของโลกด้วย GDP 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐได้สำเร็จในปี 2023 ที่ผ่านมา
จากการคาดการณ์ของ IMF เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ประมาณ 6.3% ในปีนี้ ซึ่งถือว่าสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และ GDP ของอินเดียจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในเวลาอีกไม่กี่ปี ซึ่งจะทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก แซงเยอรมนีและญี่ปุ่นตามไปด้วย
ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลโมดีเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบการเงินแบบดิจิทัล และการมุ่งดึงดูดการลงทุนด้านการผลิตจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกำลังไปได้ดีจากการที่หลายๆ บริษัทระดับโลกทั้ง Apple, Micron และ Samsung กำลังมองหาฐานการผลิตใหม่ที่ไม่ใช่จีน
ตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาล รัฐบาลโมดีให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นถนนใหม่ โดยในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลลงทุนเงินประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และในระหว่างปี 2014-2024 ได้มีการสร้างถนนและทางด่วนยาวเกือบ 54,000 กิโลเมตร
นอกจากนี้ รัฐบาลโมดียังผลักดันให้มีการพัฒนาระบบการเงินให้กลายเป็นแบบดิจิทัล โดยลงทะเบียนผ่านบัตรประชาชน ทำให้ประชาชนจากที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินได้อย่างสะดวกในทางออนไลน์หรือในสมาร์ทโฟน สามารถใช้คิวอาร์โค้ดในการทำธุรกรรม และรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลได้สะดวกรวดเร็ว ในช่วงที่เกิดวิกฤตต่างๆ เช่น ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19
อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ก็ไม่ได้ส่งผลดีกับคนทั้งประเทศ เพราะรัฐบาลโมดีไม่ได้ใช้งบประมาณไปกับการพัฒนาการศึกษา หรือสาธารณูปโภคพื้นฐาน แต่มุ่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งแม้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว แต่ก็สร้างรายได้ให้กับเพียงกลุ่มทุนใหญ่ที่ทำธุรกิจในด้านนี้เท่านั้น เช่น Reliance Industries ของตระกูลอัมบานี และ Adani Group ของโกตัม อดานี ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ที่รับหน้าที่สร้างโครงสร้างพื้นฐานหลายแห่งของประเทศ
เห็นได้จากการสะท้อนไปที่ GDP และความมั่งคั่งของอินเดียที่เพิ่มขึ้นมากระจุกอยู่ในมือของชนชั้นนำอินเดีย โดยจากการศึกษาของ World Inequality Lab ความมั่งคั่งถึง 40% ของอินเดียอยู่ในมือของกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด 1% ขณะที่คนที่มีรายได้ต่ำ 50% ของประเทศเป็นเจ้าของความมั่งคั่งเพียง 6% และเกือบ 90% มีรายได้ต่อปีไม่ถึงรายได้เฉลี่ย 2,770 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลอินเดียล้มเหลวในการสร้างอุตสาหกรรม ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความหลากหลาย และดึงดูดการลงทุนเข้ามาให้เพียงพอรองรับจำนวนแรงงานในประเทศ
อุตสาหกรรมไม่โต ประชาชนว่างงานหนัก จบสูงแต่ไม่มีงานทำ
หนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลโมดีต้องเร่งแก้ต่อไป คือ ปัญหาการว่างงานในประเทศ เพราะแม้จำนวนประชากรจะเป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบที่ทำให้อินเดียมีศักยภาพสูงกว่าประเทศอื่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต และเป็นตลาดรับการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลยังไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่หลากหลายรองรับแรงงานทั้งที่มีทักษะสูงและต่ำได้ ทำให้ประชากรส่วนมากยังทำงานในภาคส่วนการเกษตรที่มีมูลค่าต่ำ
ปัจจุบันในเดือนเมษายน อัตราการว่างงานของอินเดียอยู่ที่ 8.1% แต่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ามากกว่านั้น จากข้อมูลของ UN University World Institute for Development รัฐบาลอินเดียประสบปัญหาในการสร้างงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนผู้มีงานทำต่อจำนวนประชากรวัยแรงงานของอินเดียลดลงมาเรื่อยๆ จาก 38.6% ในปี 2011-2012 มาเป็น 37.3% ในปี 2022-2023
นอกจากนี้ อินเดียยังต้องเผชิญกับวิกฤตที่คล้ายกับประเทศจีน คือ ปัญหาการว่างงานในคนอายุน้อย โดยรายงานจาก International Labor Organization (ILO) ระบุว่า 83% ของผู้ว่างงานในอินเดียเป็นคนอายุน้อย และมีถึง 66% เป็นคนอายุน้อยที่มีการศึกษาสูง บางคนจบถึงระดับปริญญาโทแต่ไม่มีงานทำ ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากการที่เศรษฐกิจของอินเดียไม่มีความหลากหลาย คือ ยังเป็นอุตสาหกรรมผลิตง่ายๆ และเกษตรกรรม ซึ่งไม่มีตำแหน่งงานให้คนอายุน้อยที่มีการศึกษา
โดยในปัจจุบัน แรงงานอินเดียเพียง 20% เท่านั้น ที่ทำงานในอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการ IT ขณะที่แรงงานถึง 40% ยังทำงานอยู่ในภาคการเกษตร และแม้จะมีการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนภาคการผลิตใน GDP ของอินเดียมีแนวโน้มลดลง โดยลดลงจาก 27.66% ในปี 2014 มาเป็น 25.66% ในปี 2022 สะท้อนว่า แม้เหมือนจะมีหลายบริษัทสนใจเข้าไปลงทุนในอินเดีย แต่ภาคการผลิตซึ่งใช้ประโยชน์จากจำนวนประชากรได้ก็ไม่ได้เติบโตอย่างที่หวัง
นอกจากนี้ ภาคเอกชนภายประเทศเองก็ไม่ลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจและสร้างงานในประเทศ โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลงจาก 27.5% ของ GDP ในปี 2007-2008 มาเหลือเพียง 19.6% ของ GDP ในปี 2020-2021
คาด ‘โมดี’ ดำเนินนโยบายคล้ายเดิม ประชาชนห่วงเรื่องความเป็นอยู่
ภายหลังจากเลือกตั้งในครั้งนี้ นักวิเคราะห์ คาดว่า รัฐบาลของโมดีจะยังคงดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจคล้ายเดิม คือ การลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อสร้างขยายอุตสาหกรรมการผลิต และการแจกจ่ายเงินและสิ่งของช่วยเหลือประชากรรายได้ต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและคงฐานเสียง
ดังนั้น นักวิเคราะห์ จึงมองว่า เศรษฐกิจของอินเดียยังมีความน่าเป็นห่วง และรัฐบาลควรมุ่งขยายอุตสาหกรรมทั้งจากด้วยการกระตุ้นการลงทุนและสร้างธุรกิจที่หลากหลายในประเทศ ทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ หรือภาคเอกชนภายในประเทศ เพื่อลดอัตราการว่างงานและสร้างงานรายได้สูงให้กับประชากร ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน ไม่ควรเน้นการแจกเงินช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด
นอกจากนี้ เศรษฐกิจของอินเดียที่ต้องพึ่งการเติบโตของภาคการผลิต ยังต้องเผชิญความท้าทายจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ฮามาส และความไม่สงบในตะวันออกกลาง ที่อาจจะเข้ามารบกวนซัพพลายเชนของวัตถุดิบ ซึ่งอาจจะทำให้วัตถุดิบขาดแคลน ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และทำให้อินเดียเสียเปรียบในด้านการส่งออก
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์แนะนำให้นักลงทุนติดตามแผนการใช้งบประมาณที่จะออกมาในเดือนกรกฏาคมปีนี้ รวมถึง การประกาศแผนการดำเนินงาน 100 วันของรัฐบาลใหม่ที่จะเผยแนวทางในการดำเนินเศรษฐกิจในวาระการทำงานใหม่ และทำให้รู้ได้แน่ชัดว่ารัฐบาลนั้น มีแผนที่จะดำเนินเศรษฐกิจในรูปแบบเดิมหรือไม่ หรือจะมีการปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปในภาคส่วนใดเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น
ส่องการค้าอินเดีย-ไทย อินเดียจะกลับมาส่งออกข้าวหรือไม่?
สำหรับผลกระทบของการเมืองอินเดียที่จะมีต่อประเทศไทยนั้น มีแนวโน้มที่ไม่ร้ายแรง เพราะรัฐบาลชุดใหม่ยังนำโดยพรรคการเมืองเดิมที่มีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายในรูปแบบเดิม และอินเดียไม่ใช่คู่ค้าที่สำคัญติด 10 อันดับแรกของไทย
ในปี 2023 การค้าระหว่างไทยและอินเดียมีมูลค่าทั้งหมด 16,045 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2.8% ของมูลค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด โดยคิดเป็นการส่งออก 10,118 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.6% ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด และเป็นการนำเข้า 5,927 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด
สินค้าส่งออกไปอินเดียที่สำคัญของไทย คือ เม็ดพลาสติก ที่คิดเป็นมูลค่า 1,123 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 11.1% ของมูลค่าการส่งออกเม็ดพลาสติกทั้งหมด ขณะที่ สินค้านำเข้าของไทยจากประเทศอินเดีย คือ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี แท่งเงิน และทองคำ ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 1,351 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 22.8% ของมูลค่านำเข้าเครื่องเพชรพลอยทั้งหมด และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบที่คิดเป็นมูลค่า 861 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 14.5% ของการนำเข้าเครื่องจักรกลทั้งหมด
จากข้อมูลเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอินเดียและไทยนั้น มีมูลค่าไม่สูงและคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนัก ทำให้การเปลี่ยนผ่านวาระการทำงานของโมดีและปัจจัยภายในประเทศอินเดียจะไม่ส่งผลกระทบใหญ่ต่อไทย แต่ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า รัฐบาลโมดีจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร?
โดยปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบทางอ้อมกับไทย คือ การส่งออกข้าวของอินเดีย เพราะรัฐบาลโมดีได้ตัดสินใจหยุดการส่งออกข้าวเพื่อกักตุนข้าว ลดราคาข้าวภายในประเทศ และรักษาความนิยมของประชาชนตั้งแต่ปี 2023 ที่ผ่านมา และทำให้ประเทศผู้ส่งออกข้าวรวมถึงไทยส่งออกข้าวได้มากขึ้น ดังนั้น หากอินเดียตัดสินใจกลับมาส่งออกข้าวหลังการเลือกตั้ง ผู้ส่งออกข้าวไทยก็อาจจะเสียประโยชน์ในส่วนนี้ไป
อ้างอิง: การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, Financial Express, ISAS NUS, BBC, AP