“บ้าน” เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของทุกคน และสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นสถานที่สร้าง ฟูมฟัก อุ้มชู และให้ที่พักพิงกับประชากรคนหนึ่งให้เติบโตและดำเนินชีวิตเป็นแรงงานคุณภาพที่สามารถขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ แม้จะเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ใครๆ ควรจะเข้าถึงได้ แต่ “บ้าน” ดั้งเดิมของบางคนกลับไม่สามารถตอบสนองฟังก์ชั่นเหล่านั้นได้ ทั้งจากปัจจัยด้านสังคม เช่น ปัญหาครอบครัว และเศรษฐกิจ เช่น การกระจายความเจริญอย่างไม่ทั่วถึงในแต่ละพื้นที่ ทำให้บางคนต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน หรือต้องย้ายออกจากถิ่นฐานดั้งเดิมของตัวเองมาเป็นผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดในเมืองใหญ่เพื่อหางานที่ไม่มีในบ้านเกิด
ก่อนที่ปัญหาการไม่มีบ้านที่มั่นคงนี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะราคาที่พักในเมืองใหญ่สูงเกินกว่าผู้คนเหล่านี้จะเข้าถึงได้ด้วยรายได้ขั้นต่ำ แม้พวกเขาจะเป็นหนึ่งในผู้ใช้แรงงาน ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นกัน ด้วยการทำงานที่คนส่วนมากไม่อยากทำ แต่จำเป็นกับสังคม เช่น งานกวาดเก็บขยะ
ดังนั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงเป็นทั้ง ‘สาเหตุ’ และ ‘ผลกระทบ’ จากปัญหาคนไร้บ้าน และชุมชนแออัด และในโลกทุนนิยมที่บ้านเป็นหนึ่งในสินค้าไว้สร้างกำไรเป็นหลัก การช่วยเหลือจากภาครัฐ และนวัตกรรมทางสังคม (social innovation) ใหม่ๆ ในการจัดสรรที่พักอาศัยให้กลุ่มคนจนเมือง (urban poor) อย่างยั่งยืน จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยตัดตอนวงจรความเหลื่อมล้ำนี้ได้
ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จัก “Collective Housing” หรือ “การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน” หนึ่งในนวัตกรรมทางสังคมที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาคนไร้บ้านและชุมชนแออัด และไม่ได้ให้เพียง “บ้าน” แต่ยังให้ “เครือข่ายทางสังคม” ที่สามารถโอบอุ้มคนในชุมชน และเป็นที่พึ่งพิงทั้งทางร่างกายและจิตใจของทุกคนได้อย่างยั่งยืน
ที่อยู่อาศัยโดยชุมชนแตกต่างจากที่อยู่อาศัยทั่วไปอย่างไร?
นาย กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนในงานประชุมสัมมนาระหว่างประเทศ เรื่อง “การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย” โดยมีชุมชนเป็นหลัก หรือ (Collective Housing) ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Convention Center – UNCC) ว่า
ที่อยู่อาศัยโดยชุมชนนั้น แตกต่างจากที่อยู่อาศัยทั่วไป หรือที่อยู่อาศัยในรูปแบบบ้านหรือแฟลตที่การเคหะแห่งชาติจัดหาให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เพราะโครงการที่อยู่อาศัยโดยชุมชน ไม่ได้เน้นให้ที่อยู่อาศัย แต่เน้นให้เครือข่ายทางสังคมที่คอยช่วยเหลือกัน
เครือข่ายทางสังคมนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการตั้ง “สหกรณ์ออมทรัพย์” หรือหน่วยการเงินกลางของชุมชน ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคนทั้งชุมชนในการกู้ยืมเงินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสร้างที่พักอาศัย และรวบรวมเงินจากคนในชุมชนจ่ายคืนให้แก่ผู้ให้กู้ และรวบรวมเงินส่วนกลางเพื่อพัฒนาสวัสดิการชุมชน รวมไปถึงช่วยเหลือสมาชิกที่เดือดร้อนไม่สามารถหารายได้มาจ่ายหนี้ได้
วิธีจัดหาและจัดการเงินทุนสำหรับสร้างที่พักอาศัยในลักษณะนี้ จะทำให้คนในชุมชนมีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาถูกได้ในพื้นที่เมือง มีโอกาสผิดชำระจนถูกยึดที่อยู่อาศัยต่ำ และสร้างความผูกพันและความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในชุมชน เพราะในกลไกนี้ทุกคนจะมีส่วนร่วมในทั้งฐานะ “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” ประโยชน์จากชุมชน
นอกจากนี้ บ้านที่ถูกสร้างขึ้นมาในโครงการจะยังเป็นเสมือนสมบัติของชุมชนที่เป็นที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง เพราะเกิดจากการร่วมรับผิดชอบและตัดสินใจร่วมกันของคนในชุมชน ไม่ใช่สินค้าไว้ขายเพื่อแสวงหากำไรเหมือนอสังหาริมทรัพย์ในตลาดที่อยู่อาศัยทั่วไป
‘บ้านมั่นคง’ ตัวอย่างที่อยู่อาศัยโดยชุมชนในกรุงเทพฯ
ปัจจุบัน หนึ่งในตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของ Collective Housing คือ โครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเปิดดำเนินงานเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2543 หรือ 24 ปีมาแล้ว และมีภารกิจสนับสนุนและส่งเสริมองค์กรชุมชนด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย
พอช. ได้จัดทำโครงการบ้านมั่นคงขึ้นมาในปี 2546 เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัด อยู่ในที่ดินบุกรุก หรือที่ดินเช่าที่ไม่มีความมั่นคง โดยมีชุมชนนำร่อง 10 โครงการ เช่น ชุมชนเจริญชัยนิมิตรใหม่ ย่านสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ เขตจตุจักร และชุมชนบ่อนไก่ คลองเตย กรุงเทพฯ ที่ประสบปัญหาไฟไหม้อยู่บ่อยครั้งเนื่องจากความแออัด ทำให้เกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจร
จากการให้ข้อมูลของ นาย กอบศักดิ์ ในการสร้างบ้านมั่นคงทางพอช. จะเริ่มด้วยการหา ‘ผู้นำ’ ที่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งชุมชนในพื้นที่แออัดเหล่านั้นได้ ก่อนผลักดันให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลหรือสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบจัดการการเงินของชุมชน จากนั้นจะมีการพูดคุยปรึกษาเพื่อสร้างชุมชนที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัยมากที่สุด ครอบคลุมทุกมิติทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
เมื่อได้แผนการสร้างชุมชนแล้ว ทั้งคนในชุมชนและพอช. ก็จะเข้าสู่กระบวนการเจรจาใช้ที่ดินหรือซื้อที่ดินเพื่อสร้างที่พักอาศัยถาวร ซึ่งพอช. จะลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า และน้ำประปา และจัดสรรเงินกู้ซึ่งได้มาจากงบประมาณของรัฐบาล ให้แก่นิติบุคคลหรือสหกรณ์ของชุมชนไปเช่าซื้อที่ดินและสร้างบ้านที่อยู่อาศัย
บ้านกลางเมืองพื้นที่ 50 ตารางเมตร ในราคาเดือนละ 2,000 บาท
จากการให้ข้อมูลของ นาย กอบศักดิ์ ที่พักอาศัยในโครงการบ้านมั่นคงส่วนมากจะมีลักษณะเป็นบ้านขนาดสองชั้นครึ่ง รวมพื้นที่ประมาณ 50 ตารางเมตร ราคาหลังละประมาณ 200,000 กว่าบาท โครงการละประมาณ 200 หลัง ทำให้แต่ละโครงการจะได้รับเงินกู้จากพอช. ประมาณ 30-50 ล้านบาท
เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยดังกล่าว พอช. จะปล่อยกู้ระยะยาวเป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี ในอัตราดอกเบี้ยปีละ 4% โดยสหกรณ์ของชุมชนจะไปคิดดอกเบี้ยต่อกับประชาชนในอัตรา 6% โดยเงินดอกเบี้ยอีก 2% ที่ได้จะกลายมาเป็นเงินส่วนกลางให้สหกรณ์ไปใช้พัฒนาสวัสดิการส่วนกลางให้แก่คนในชุมชน รวมถึงเป็นเงินทุนค่าบ้านสำหรับสมาชิกที่เกิดป่วยหรือประสบอุบัติเหตุจนเสียรายได้ และไม่สามารถชำระสินเชื่อบ้านได้เป็นการชั่วคราว
กลไกนี้ทำให้ประชาชนรายได้น้อยสามารถมีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพในเมืองได้ในราคาเดือนละประมาณ 2,000-2,500 บาท และยังมี safety net ทางสังคมที่จะเข้ามาช่วยเหลืออุ้มชูในกรณีที่เกิดเหตุที่ทำให้เสียรายได้ ทำให้จากการดำเนินการที่ผ่านมา พอช. ไม่เคยประสบปัญหาหนี้เสีย จากการที่ผู้ซื้อไม่สามารถชำระค่างวดได้ และมีเงินทุนในการไปสร้างโครงการบ้านมั่นคง และสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกและมีคุณภาพให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่อื่นต่อไป
จ่อผุด ‘บ้านมั่นคง’ รูปแบบใหม่แบบ 7 ชั้น ผสานพื้นที่ธุรกิจ
จากข้อมูลของผอช. ในช่วงปี 2546 ถึงเดือนมีนาคมปี 2567 ผอช. ผลักดันให้มีการสร้างบ้านมั่นคงทั่วประเทศได้แล้ว 133,382 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังได้ผลักดันให้มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยในรูปแบบเดียวกันในชุมชนริมคลอง เช่น คลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร ได้รวมแล้ว 5,414 ครัวเรือน ในพื้นที่อยู่อาศัยริมทางรถไฟ 1,206 ครัวเรือน และศูนย์พัฒนาชีวิตคนไร้บ้าน 3 ศูนย์ ในกรุงเทพฯ ปทุมธานี ขอนแก่น และเชียงใหม่ ได้แล้ว 698 ครัวเรือน รวม 1,395 ราย
จากความสำเร็จที่ผ่านมา พอช. จึงวางแผนที่จะพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยโดยชุมชนในรูปแบบใหม่ในพื้นที่แออัดบ่อนไก่ โดยจะพัฒนาจากบ้านมาเป็นอาคาร 7 ชั้น เนื่องจากได้รับโจทย์จากประชาชนในชุมชนว่าไม่ต้องการที่อยู่อาศัยในอาคารสูงที่มีครอบครัวอื่นอาศัยอยู่บนบ้านของตน ทำให้โครงการใหม่จะออกมาในลักษณะอาคารเอนกประสงค์ ที่แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินได้
สำหรับโครงการนี้ พอช. คาดว่า จะใช้ค่าใช้จ่ายในระดับเดียวกับโครงการบ้านมั่นคงที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยผู้ซื้อและผู้อยู่อาศัยน่าจะมีค่าใช้จ่ายในการชำระสินเชื่อค่าบ้านเดือนละประมาณ 2,500 บาท
ส่องตัวอย่างโครงการที่อยู่อาศัยโดยชุมชนในนานาชาติ
ในการประชุมนานาชาติ “การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน : คำตอบคือชาวชุมชน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แก้ไขปัญหาความยากจน สร้างคนและชุมชนที่เข้มแข็ง กุญแจสู่ความยั่งยืน” ซึ่งได้จัดให้มีขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น ประชาสังคม นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้นำชุมชน และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการที่อยู่อาศัยจากหลายๆ ประเทศกว่า 200 คน ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ ในด้านการจัดการโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในเมือง และมีตัวอย่างวิธีการจัดการที่โดดเด่นมากมาย
หนึ่งในโครงการที่โดดเด่น คือ โครงการสร้างที่พักอาศัยในเมืองฌินาอิทหะ (Jhenaidah) เมืองรองในบังคลาเทศ ที่มีผู้อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จนทำให้แม่น้ำ Noboganga ที่ไหลผ่านเมือง และบ่อน้ำที่มีอยู่เป็นจำนวนถึงประมาณ 300 แห่งในเมืองปนเปื้อนมลพิษ และเต็มไปด้วยขยะ เพราะชาวเมืองมักจะตั้งที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งน้ำ และใช้น้ำเหล่านี้ในการอาบน้ำ ว่ายน้ำ ตกปลา หรือรวมตัวกัน สะท้อนว่าชุมชนใกล้แห่งน้ำขาดการจัดการการที่ดี
ดังนั้นในปี 2557 หน่วยงาน 20 หน่วยจึงรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างพื้นที่ชุมชน และจัดการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ให้ส่งผลกระทบกับแหล่งน้ำน้อยลง โดยอาศัยการพูดคุยกับชาวเมืองเพื่อออกแบบเมืองใหม่ให้ มีทั้งพื้นที่สาธารณะไว้ใช้ประโยชน์ได้ และที่อยู่อาศัยที่ตั้งอยู่เป็นหลักแหล่ง
หลังจากมีการพูดคุย ชาวเมืองและกลุ่มทำงานได้วางแผนสร้างเขตปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 5 กิโลเมตรจากแม่น้ำ โดยกำหนดให้มี open space ในทุกชุมชนในเมือง ซึ่งอาจจะมีลักษณะและการใช้ประโยชน์แตกต่างกันไป โดยอาจเป็นพื้นที่อาบน้ำ หรือสวนน้ำสำหรับบำบัดน้ำเสียก็ได้
การสร้างพื้นที่ open space ใกล้แหล่งน้ำ ทำให้ชุมชนสามารถปกป้องแหล่งน้ำจากการรุกล้ำและใช้ประโยชน์อย่างผิดกฎหมายได้ โดยตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือการสร้าง ‘ghat’ หรือแพลตฟอร์มที่ว่างจัดกิจกรรมริมแม่น้ำ Naboganga ที่สามารถใช้จัดงานเทศกาล หรือพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ได้ ที่นอกจากจะช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำแล้ว ยังเป็นพื้นที่ให้คนมาพบปะ สร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชนได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ประชาชนในเมืองยังได้มีการจัดเครือข่ายชุมชนในการปกป้องแหล่งน้ำ 300 แห่งในเมือง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการการใช้งานบ่อน้ำ และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในบริเวณบ่อน้ำ
โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดเมืองและที่อยู่อาศัยโดยอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจจากคนในชุมชน เพราะในทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นคนอายุมากหรือคนอายุน้อยจากทุกสาขาอาชีพมีส่วนร่วมในการออกแบบเมืองที่พวกเขาอาศัยทั้งหมด โดยได้รับการสนับสนุนจากการปกครองส่วนท้องถิ่นของเมือง และองค์กรอาสาสมัครต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Platform of Community Action and Architecture (POCAA), Community architects' Network (CAN) และ Asian Coalition for Housing Rights (ACHR)
โครงการปรับปรุงชุมชนริมน้ำนี้ มีความคล้ายคลึงกับโครงการปรับปรุงชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่ในอดีตมีชุมชนหนาแน่นจนมีที่อยู่อาศัยขัดควางทางน้ำ ทำให้น้ำไม่สามารถระบายได้เมื่อฝนตกหนัก ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งยังสร้างมลพิษ แต่เมื่อมีการเข้าไปจัดการการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม ชุมชนริมคลองลาดพร้าวก็กลายมาเป็นบ้านสวยงาม และมีพื้นที่พอเพียงสำหรับทุกคน โดยไม่ต้องรุกล้ำเข้าไปในทางน้ำ