ข่าวเศรษฐกิจ

'ศุภมาส' ประกาศพร้อมรับมืออุทกภัย อว. จับมือ สสน. เปิดศูนย์จัดการน้ำเตือนภัยปชช.

7 ส.ค. 67
'ศุภมาส' ประกาศพร้อมรับมืออุทกภัย อว. จับมือ สสน. เปิดศูนย์จัดการน้ำเตือนภัยปชช.

"ศุภมาส" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศความพร้อมรับมืออุทกภัย ผนึกกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำ พร้อมติดตามและเตือนภัยให้กับประชาชนในช่วงฤดูฝนและหน้ามรสุม ซึ่งคาดว่าจะมีฝนตกหนักต่อเนื่องจนถึงเดือนตุลาคม

dsc_9396_0

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เพื่อเตรียมความพร้อม เฝ้าระวัง และสนับสนุนการรับมืออุทกภัย 

การตรวจเยี่ยมครั้งนี้มี ดร.รอยบุญ  รัศมีเทศ ผู้อำนวยการ สสน. นำชมหน่วยวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำเคลื่อนที่ (Mobile War Room) เทคโนโลยีโทรมาตรอัตโนมัติตรวจวัดข้อมูลสภาพอากาศและระดับน้ำ เทคโนโลยีสำรวจภูมิประเทศเพื่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงรองรับคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติและระบบคาดการณ์สถานการณ์น้ำ

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พบว่าตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และคาดว่าจะมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม ดังนั้น ทางกระทรวง อว. จึงได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยมอบนโยบายสำคัญ 6 เรื่อง ดังนี้ 

1. มอบหมายให้ สสน. เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการติดตามและแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้กับประชาชน โดยให้วิเคราะห์ข้อมูลและประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเตรียมการรับมืออุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ และสสน. จะทำหน้าที่เป็นคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ รวบรวมข้อมูลจาก 52 หน่วยงาน ภายใน 12 กระทรวง พร้อมทั้งใช้ระบบวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำที่ทันสมัย

2. สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยส่วนหน้า ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดย สสน. จะปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและ สทนช. นำความรู้และเทคโนโลยีด้านการจัดการน้ำมาใช้แก้ไขปัญหาอย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบด้วย     

  • รถ Mobile War Room หน่วยวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำเคลื่อนที่ 
  • สถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศและระดับน้ำอัตโนมัติ 
  • การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการสำรวจภูมิประเทศเพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 
  • ระบบติดตามและคาดการณ์สถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง
  • แอปพลิเคชัน ThaiWater รายงานสถานการณ์น้ำ

3. มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์ ซึ่งเป็น "หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วของ อว." เข้ามามีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์อุทกภัย โดยจัดทีมลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ แจ้งเตือนสถานการณ์ และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการเตรียมตัวรับมืออุทกภัย รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เพื่อวางแผน ดำเนินการป้องกัน และบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ

4. ริเริ่ม "โมเดล อว. แจ้งภัยน้ำ" โดยประสานงานกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ให้รับข้อมูลสถานการณ์น้ำจาก สสน. และสื่อสารแจ้งเตือนภัยจากภาควิชาการสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนให้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง รวมถึงให้ความรู้ และช่วยเหลือชุมชนโดยรอบ

5. ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่นำความเชี่ยวชาญทางวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง มาร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับจังหวัดในการวางแผนรับมืออุทกภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย และให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งศูนย์ประสานงานเฉพาะกิจ เพื่อรับมือสถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งใช้พื้นที่และทรัพยากรของมหาวิทยาลัย เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวหากจำเป็น

6. มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกระทรวง อว. สนับสนุนทุกภาคส่วนอย่างเต็มกำลัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความอุ่นใจ ให้กับประชาชนในทุกสถานการณ์

นอกจากนี้ รมว.อว. ยังเน้นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวังและรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนเอง โดยสนับสนุนให้ประชาชนดาวน์โหลดและใช้งานแอปพลิเคชัน ThaiWater ซึ่งพัฒนาโดย สสน. เพื่อใช้ติดตามและคาดการณ์สถานการณ์น้ำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
117

 

สรุปสถานการณ์น้ำท่วมไทย ต.ค. เสี่ยงน้ำท่วม 73 จังหวัด

จากข้อมูลของ สสน. ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และคาดว่าจะมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม

โดยวันที่ 15 - 21 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา อิทธิพลของพายุดีเปรสชันที่เคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศไทย ทำให้ร่องมรสุม และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีน้ำท่วมเป็นวงกว้างแทบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะ จ.มหาสารคาม ซึ่งมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้จุดก่อสร้างทางขยายการระบายน้ำของ “อ่างห้วยเชียงคำ” ได้รับความเสียหาย ส่งผลให้น้ำจึงไหลทะลักไปยังพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ 

ในวันที่ 16 ก.ค. 67 ร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงมาจากพายุดีเปรสชัน ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก 

โดยจากข้อมูลฝนจากโทรมาตรพบว่าปริมาณฝนสะสม 7 วัน 5 อันดับแรก คือ ตราด ปริมาณ 693 มิลลิเมตร นนทบุรี 300 มิลลิเมตร อุบลราชธานี 239 มิลลิเมตร พิษณุโลก 178 มิลลิเมตร และระนอง 176 มิลลิเมตร

นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 25–30 กรกฎาคม 2567 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ยังทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ต้นน้ำบริเวณอำเภอบ่อไร อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ที่เกิดน้ำป่าไหลหลาก และทำให้แม่น้ำสายสาขา เกิดน้ำล้นตลิ่งไปจนถึง อำเภอเมือง จังหวัดตราด 

สำหรับความเสี่ยงเกิดอุทกภัยในอนาคต ข้อมูลจากสสน. ชี้ว่า หลายพื้นที่ของไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะเจอกับอุทกภัยไปจนถึงสิ้นปี โดยเฉพาะในเดือนตุลาคม ที่พบว่ามีถึง 73 จังหวัด 521 อำเภอ และ 2,484 อำเภอในประเทศไทยที่จะเสี่ยงจะพบกับน้ำท่วม หรือน้ำท่วมเฉียบพลัน โดยพื้นที่ที่เสี่ยงพบกับน้ำท่วมเฉียบพลันส่วนมากจะอยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันตก

 

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT