ข่าวเศรษฐกิจ

ปลดนายกฯ ป่วนเศรษฐกิจ งบล่าช้า ดิจิทัลวอลเล็ตเสี่ยงล่ม GDP ปี 67 อาจโตเพียง 2%

15 ส.ค. 67
ปลดนายกฯ ป่วนเศรษฐกิจ งบล่าช้า ดิจิทัลวอลเล็ตเสี่ยงล่ม GDP ปี 67 อาจโตเพียง 2%

นักวิเคราะห์มองการปลดนายกฯ ส่งผลต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะอาจทำให้การจัดทำงบประมาณล่าช้า มีความเปลี่ยนแปลงในนโยบายการคลัง เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเลือกนายกฯ จากพรรคอื่นนอกเหนือจากพรรคเพื่อไทย หรือมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่

ในวันที่ 14 ส.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5:4 ให้ นาย เศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี และให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตําแหน่งทั้งคณะ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

ข่าวการปลดนายกฯ และคณะรัฐมนตรีส่งผลให้เกิดแรงขายหุ้นในช่วงบ่ายและทำให้ปัจจัยการเมืองกลายเป็นปัจจัยกดดันหลักต่อหุ้นไทยในระยะสั้น-กลาง เนื่องจากเกิดการสะดุดลงของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ 

โดยสิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้ คือ การเข้าสู่กระบวนการสรรหานายกฯ คนใหม่ ซึ่งอาจได้ทั้งจากการให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบนายกคนใหม่ หรือจากการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่

ทั้งนี้ ตลาดคาดว่ากระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่น่าจะทำได้เร็ว เพราะอาจไม่เห็นการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่จะใช้วิธีที่อิงรัฐธรรมนูญ ม.159 ที่ให้ทางสภาผู้แทนราษฎรต้องเร่งดำเนินการพิจารณาเสนอชื่อและเห็นชอบนายกฯ คนใหม่

ดังนั้น ประเด็นที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนจับตามองอยู่ จึงเป็นตัวนายกฯ คนใหม่ที่อาจเป็นคนจากฝั่งพรรคเพื่อไทยดังเดิม หรือพลิกเป็นของตัวแทนจากพรรคอื่น ซึ่งจะส่งผลกับเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน เพราะนายกฯ จากพรรคอื่นจะทำให้การจัดทำงบประมาณล่าช้าไปอีกอย่างน้อย 1-2 เดือน และอาจทำให้นโยบายการคลังบางอย่างของพรรคเพื่อไทยต้องถูกยกเลิกไป

โดยปัจจุบัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีคําสั่งให้นัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ ในวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. 2567 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ

ศก. ไทยกระทบมากที่สุดหากหานายกฯ ไม่ได้ในไตรมาส 3

บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอ็กซ์ จำกัด มองว่าในสถานการณ์ที่ในวันที่ 16 ส.ค. รัฐบาลยังได้นายกฯ จากพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทยยังคงดูแลกระทรวงการคลัง กระบวนการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่จะทําให้กระบวนการจัดทํางบประมาณปี 2568 ล่าช้าไป 1-2 เดือน เนื่องจากต้องให้

  • สภาผู้แทนราษฎรพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2568 วาระที่ 2-3 ภายในต้นเดือน-กลางเดือน ก.ย.
  • วุฒิสภา พิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2568 ปลายเดือน ก.ย. - ต้นเดือน ต.ค. และส่งกลับให้ ครม. 
  • ครม. ทูลเกล้าถวายฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย กลางเดือน ต.ค.- ปลายเดือน ต.ค. 

เบื้องต้น  อินโนเวสท์ เอ็กซ์ มองว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.3% และ 2.7% ในปี 2567-2568 ขณะที่โอกาสในการทํา Digital Wallet ลดลง หรืออาจมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียด เช่น ใช้วงเงินลดลงเพื่อเบิกจ่ายเร็วขึ้น และ/หรืออาจแจกเป็นเงินสดแทนการแจกผ่าน Digital Wallet 

ทั้งนี้ หากสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถสรรหานายกฯ คนใหม่ได้ภายในไตรมาสที่ 3 (ซึ่งต้องจับตาการประชุมสภาฯ ณ วันที่ 16 ส.ค. เป็นสําคัญ) จะทำให้กระบวนการจัดทํางบประมาณปี 2568 ล่าช้าไปประมาณ 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและนักลงทุน รวมถึงกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต

เบื้องต้น  อินโนเวสท์ เอ็กซ์ มองว่า เศรษฐกิจไทยในสถานการณ์นี้จะขยายตัวได้ 2.0% และ 2.5% ในปี 2567-2568 ขณะที่โอกาสในการทํา Digital Wallet น่าจะถูกยกเลิก

ประเด็นดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่แน่นอน ต้องรอดูทิศทางรัฐบาลใหม่

สำหรับ ประเด็น Digital Wallet ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะ ในวันที่ 14 ส.ค. หลังมีคำสั่งศาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รักษาการรมช.คลัง กล่าวยอมรับว่าโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตมีผลกระทบแน่นอนเนื่องจากยังมีขั้นตอนค้างอยู่และยังไม่ผ่านกระบวนการอนุมัติ โดยหลังจากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่จะมีขั้นตอนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาอีกครั้ง

ส่วนไทม์ไลน์การเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะเริ่มใช้จ่ายในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้นั้นคงไม่สามารถทำอะไรได้จนกว่าจะมีความชัดเจน และไม่ทราบว่าตนจะได้กลับมารับตำแหน่ง หรือครม. ใหม่ จะยังคงสานต่อโครงการในรูปแบบเดิมหรือไม่ 

โดยประเด็นที่ต้องจับตา คือ เศรษฐกิจที่ชะลอลงมากท่ามกลางการปรับเปลี่ยนนายกฯ และ ครม. ทําให้รัฐบาลใหม่สามารถมีช่องทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ เช่น นําเงิน 1.65 แสนล้านบาท ของปี 67 มาทําทันทีในรูปแบบของโครงการ “คนละครึ่ง” เป็นต้น 

โบรกฯ มองอาจไม่กระทบศก. มาก เพราะมีความชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด มองการถอดถอน นาย เศรษฐา ให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไม่น่ากังวล เพราะและจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจหรือตลาดในระยะยาว เนื่องจากนายเศรษฐาเป็นนักการเมืองหน้าใหม่และไม่ได้เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายหลักในรัฐบาลปัจจุบัน 

นอกจากนี้ การถอดถอนนายกฯ ครั้งนี้ ยังถือเป็นการสร้างความชัดเจนต่อประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ตลาดเผชิญมาได้ระยะหนึ่ง

สำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ โดยสภาฯ จะต้องเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่ยื่นไว้ก่อนการเลือกตั้งปี 66 จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจะลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครและผู้ชนะจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกว่า 247 เสียงจากทั้งหมด 493 เสียง 

ในมุมมองของเมย์แบงก์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (พรรคร่วมรัฐบาลที่ใหญ่เป็นอันดับสอง) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน เป็นผู้ที่มีโอกาสสูงที่สุดในการได้รับตำแหน่ง และคาดว่ากระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเสร็จสิ้นภายในสามสัปดาห์ข้างหน้า

เมย์แบงก์ มองว่า การเบิกจ่ายงบประมาณซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันน่าจะเร่งขึ้นในครึ่งหลังของปี 2567 เมย์แบงก์ไม่คาดว่าจะมีความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2568 ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วและอยู่ในกระบวนการอนุมัติของรัฐสภา 

จากข้อมูลของรัฐบาล เมย์แบงก์ประเมินว่าการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนรวมถึงคำสั่งซื้อ (PO) เพิ่มขึ้นแตะระดับ 67% ของงบประมาณปี 67 แล้ว และคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 83% ภายในสิ้นปีงบประมาณ (30 กันยายน 2567) โดยจำนวนที่เหลือจะใช้จ่ายในปีงบประมาณถัดไป

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT